7 ส.ค. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา การทดลองสุดโต่ง หาเรื่องถูกปฏิเสธ 100 วัน ให้เลิกกลัวคำว่า “ไม่”
“หนทางเดียว ที่เราจะหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์ได้ ก็คือ การไม่ทำอะไร ไม่พูดอะไร และไม่ต้องเป็นอะไรเลย”
ประโยคนี้เป็นของเจ้าพ่อปรัชญายุคกรีกโบราณ อย่าง อริสโตเติล (Aristotle)
2
แล้วเคยสงสัยไหมว่า ประโยคนี้ เป็นจริงมากแค่ไหน ?
ต้องบอกว่า “การเจรจา” ถือเป็นสิ่งสำคัญของโลกธุรกิจ ที่แยกออกจากกันไม่ได้
และเมื่อมีการเจรจา ก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะถูกปฏิเสธเช่นกัน..
แน่นอนว่า ไม่มีใครชอบการถูกปฏิเสธ ถึงขั้นที่ว่าหลาย ๆ คนกลัวการถูกปฏิเสธกันเลยทีเดียว
แต่ที่น่าสนใจ คือ เพื่อก้าวข้ามความกลัวนี้
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีนักธุรกิจรายหนึ่ง ได้ทำการทดลอง โดยการหาเรื่องให้คนปฏิเสธตนเอง ติดกันถึง 100 วัน
ซึ่งมันช่วยให้เขาเข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับการถูกปฏิเสธ เป็นอย่างดี
เกิดอะไรขึ้นกับการทดลองของเขา ?
และเราสามารถเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ได้บ้าง ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
คุณเจีย เจียง เติบโตในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และได้อพยพมาอาศัยที่สหรัฐอเมริกาเมื่ออายุ 16 ปี
โดยเขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัย Brigham Young และจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัย Duke
จนในเวลาต่อมา เขาก็ได้ก่อตั้งสตาร์ตอัปเล็ก ๆ ขึ้นในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
1
นับจากนั้นหลายปี ที่เขาก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจ เขาก็ได้ค้นพบว่าความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้คนก็คือ “การถูกปฏิเสธ” อีกทั้งความกลัวนี้ยังฉุดรั้งไม่ให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่อีกด้วย
1
ดังนั้น ในฐานะผู้ประกอบการ เขาจึงอยากฝึกฝนตัวเอง ให้เคยชินต่อการถูกปฏิเสธ เพื่อที่จะลดความเครียดและสลัดความกลัว หากจะต้องถูกปฏิเสธจากลูกค้า หรือนักลงทุน
1
และด้วยแนวคิดนี้เอง ส่งผลให้คุณเจียง ตัดสินใจทดลองทำ “100 Days of Rejection Therapy” หรือ “100 วันแห่งการบำบัดด้วยการถูกปฏิเสธ” โดยการใช้เวลา 100 วัน หาเรื่องถูกปฏิเสธจากคนแปลกหน้า 100 ครั้ง และบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดลงในช่อง YouTube ของตัวเอง
1
โดยมีจุดประสงค์ คือ การเผชิญหน้าและก้าวข้ามความเจ็บปวด จากการถูกปฏิเสธ ที่เขากลัวมาตลอดชีวิต
คุณเจียงได้ตั้งเกณฑ์ไว้ว่าจะเป็นการขออะไรก็ตามอย่างสุภาพ ที่ไม่ผิดกฎหมาย และไม่ก่อความเดือดร้อน แต่ก็ต้องเป็นอะไรที่แปลกประหลาด จนผู้ที่ถูกร้องขอ น่าจะปฏิเสธเขาอย่างแน่นอน
ซึ่งสิ่งที่เขาทำก็มีตั้งแต่การขอยืมเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,100 บาทในเวลานั้น จากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
ขอปลูกดอกไม้ในสวนหลังบ้านของคนแปลกหน้า
ขอเป็นผู้ทักทายในร้าน Starbucks ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาสร้างขึ้นมาเอง เพื่อต้อนรับลูกค้าที่เข้ามาในร้าน
ไปจนถึง ขอให้ผู้จัดการที่ร้าน Krispy Kreme จัดวางโดนัทเป็นรูปโลโก 5 ห่วง เหมือนสัญลักษณ์โอลิมปิก
แน่นอนว่าหลายต่อหลายครั้ง คุณเจียงจะถูกปฏิเสธ แต่เขาก็ค้นพบว่าแท้จริงแล้ว การถูกปฏิเสธนั้น กลับเป็นเหมือนการเริ่มเจรจา มากกว่าการถูกผลักไสเสียอีก
ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่ปฏิเสธการขอยืมเงินของคุณเจียง แต่เขาก็ชวนคุยต่อว่าทำไมคุณเจียงถึงต้องการเงินนี้
หรือแม้ว่าเจ้าของบ้านที่คุณเจียงไปขอปลูกดอกไม้ จะกล่าวปฏิเสธ แต่เขาก็แนะนำเพื่อนบ้านที่ชอบดอกไม้ และยินดีที่จะมีคนมาปลูกดอกไม้ในสวนหลังบ้าน ให้คุณเจียงรู้จักแทน
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ หลาย ๆ ครั้ง ผู้คนก็ทำตามคำขอของคุณเจียงอย่างไม่คาดคิด
อย่างร้าน Starbucks ที่แม้จะปฏิเสธคุณเจียงในคราแรก แต่พอเขาถามว่ามันแปลกมากไหม ทางร้านก็ยอมรับว่ามันแปลกจริง ๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร จึงวางใจให้คุณเจียงเป็นผู้ทักทายในร้านถึง 2 ชั่วโมง
ส่วนร้าน Krispy Kreme ก็จัดชุดโดนัทวางเป็นสัญลักษณ์โอลิมปิก มาให้คุณเจียงจริง ๆ และยังให้บริการเขาโดยที่ไม่คิดเงินเพิ่ม เพราะพนักงานที่ร้านมองว่ามันก็สนุกดีด้วยซ้ำไป
ทั้งนี้ การทดลองตลอด 100 วัน ของคุณเจียง จบลงด้วยการตอบตกลงถึง 51 ครั้ง และถูกปฏิเสธ 49 ครั้ง
ถ้าถามว่าอะไร คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ ?
ก่อนอื่นเลย การทดลองในครั้งนี้ ทำให้คุณเจียงเห็นว่าความจริงแล้ว ผู้คนบนโลกใจดีกว่าที่เขาคิดไว้มาก และการถูกปฏิเสธ ก็เจ็บปวดน้อยกว่าที่ทุกคนเชื่อ
2
อีกทั้ง คุณเจียงยังค้นพบว่า บ่อยครั้งที่ผู้คนปฏิเสธ เป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่มีข้อมูลเพียงพอ จึงอาจทำให้พวกเขารู้สึกเสี่ยง หรือไม่สบายใจ หากจะต้องตอบตกลงในทันที
3
ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนจาก “ไม่” เป็น “ตกลง” คือการเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายคิดใหม่ ก่อนเจรจากันอีกครั้ง
1
โดยฝ่ายขอ ต้องมีความกล้าที่จะถามว่า “ทำไม” หรือถามถึงสาเหตุของการปฏิเสธจากอีกฝ่ายอย่างสุภาพ ไม่ว่าจะเพื่อประนีประนอม หาทางออกอื่น หรือเพื่อรับฟังแล้วยอมรับการตัดสินใจของเขา
1
ที่สำคัญคือ ฝ่ายขอต้องไตร่ตรองว่า การปฏิเสธนั้นเกิดจากการปฏิเสธจริง ๆ, ปฏิเสธเพราะไม่ได้ให้ข้อมูลเพียงพอ หรือปฏิเสธเพราะเราถามผิดคน
1
มากไปกว่านั้น การหลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธ ไม่ได้หมายความว่าจะหลีกเลี่ยงความล้มเหลวได้
แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเชื่อว่าการหลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธเป็นหนทางที่ดี แต่เมื่อใดที่เราหาทางหลีกเลี่ยงที่จะถูกปฏิเสธ
เท่ากับว่าเราปฏิเสธตัวเอง ก่อนที่โลกจะมีโอกาสปฏิเสธเราเสียอีก..
3
ลองมาดูตัวอย่างกรณีศึกษาในโลกธุรกิจ
บริษัทเครื่องปั่นจักรยานในบ้านอย่าง Peloton ที่เคยทำรายได้ถึง 150,000 ล้านบาทต่อปี ก็เริ่มจากการเป็นสตาร์ตอัป ที่ “ถูกปฏิเสธมานับครั้งไม่ถ้วน” จากการพยายามระดมทุนในช่วงแรก
ในยุค 2010 พวกบริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital) ส่วนใหญ่ที่ Peloton เข้าไปหาในช่วงแรกนั้น ยังไม่เข้าใจเทรนด์คลาสปั่นจักรยานแบบพรีเมียม ที่กำลังมาแรงใน New York ทำให้สามารถระดมทุนได้อย่างยากลำบาก
1
แถมบางกองทุนยังกลัวที่จะเสียจุดเด่นจากการลงทุน ในธุรกิจที่แตกต่างจากการลงทุนในอดีตมากเกินไปด้วย
อย่างไรก็ดี หลังจากถูกปฏิเสธการลงทุนมามาก ทีมผู้ก่อตั้งก็จับทิศทางได้ว่า เขาสามารถหาทุนได้ง่ายกว่า กับกลุ่ม Angel Investor หรือก็คือนักลงทุนรายบุคคล ที่มักจะยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า และไม่จำเป็นต้องรักษาประวัติแบบกองทุน ทำให้บริษัทหันมาระดมทุนด้วยวิธีนี้ จนได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
สรุปแล้ว การรับมือกับคำปฏิเสธ ต้องใช้ทั้งการไตร่ตรองและความกล้า เราอาจจะนึกตามอีกฝ่ายได้ว่า เราให้ข้อมูลเพียงพอ หรือมีทางเลือกอื่นหรือไม่ และเราก็ต้องมีความกล้าที่จะถามเพิ่มเติม และยอมรับคำตอบให้ได้
1
หรืออีกกรณีที่น่าสนใจ เมื่อปี 1985 ที่คุณสตีฟ จอบส์ ถูกบีบให้ออกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นมาเองอย่าง Apple เนื่องจากมีปัญหากับกรรมการของบริษัท
ซึ่งแทนที่คุณสตีฟ จอบส์จะยอมพ่ายแพ้ เรื่องนี้กลับกระตุ้นให้เขาอยากจะสร้างบริษัทที่ดีกว่า Apple โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า NeXT ทำธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์
จากนั้นในปี 1997 ทางบริษัท Apple ก็ได้ทำการซื้อบริษัท NeXT เข้ามา และเรียกคุณสตีฟ จอบส์ กลับมาบริหาร Apple อีกครั้ง..
จากเรื่องนี้เราอาจสรุปได้อีกมุมมองว่า
บางครั้ง “การถูกปฏิเสธ” ก็สามารถเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่
หากเราเปิดใจเรียนรู้จากสิ่งนั้น..
1
โฆษณา