10 ส.ค. 2022 เวลา 05:00 • การตลาด
การอยู่รอดในสนามการแข่งขันของตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตแบบสมาชิกของจีน
การแพร่กระจายของโควิด 19 หลายจุดในประเทศจีนในปี 2565 นำไปสู่การปิดตัวลงของซูเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีกสมัยใหม่หลายแห่ง รวมถึงความพยายามปรับเปลี่ยน การเปลี่ยนช่องทางการเข้าถึง ลดจำนวนสาขา ควบคุมต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด
ตามข้อมูลจาก iiMedia Research ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ซูเปอร์มาร์เก็ตเกือบ 700 แห่งในจีนประกาศปิดตัวลงไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ดังอย่าง Walmart, Carrefour และ Renrenle รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตแบบดั้งเดิมก็เริ่มทยอยปิดตัวลงไปทีละแห่งเช่นกัน
ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตโมเดิร์นเทรดในรูปแบบที่ต้องสมัครสมาชิกกลับค่อยๆ เฟื่องฟู ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมาร้านค้าสำหรับสมาชิกอย่าง Hema X ได้เปิดสาขาใหม่ 3 แห่งติดต่อกัน แสดงถึงโมเดิร์นเทรดแบบสมาชิกกำลังเข้าสู่สนามแข่งขันอย่างเป็นทางการ
จากรายงานของวงการการค้าปลีก โมเดิร์นเทรดแบบสมาชิกสาขาที่ 21 ของ Metro ได้เปิดอย่างเป็นทางการในเขต Haidian เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเป็นร้านแห่งที่ 4 ในกรุงปักกิ่ง และยังมีรายงานว่า Metro จะเปิดสาขาที่ 5 เพิ่มอีกแห่งในกรุงปักกิ่งภายในปีนี้
นอกจาก Metro จะเพิ่มสาขาขยายตลาดในกรุงปักกิ่งอย่างต่อเนื่องแล้ว ทางบริษัทยังวางแผ่นขยายสาขาใหม่ไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้ อู่ฮัน และเมืองอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง การเปิดตัวสาขาร้านค้าสมาชิก Beijing Sijiqing ของ Metro ถือเป็นการเปิดตัวรูปแบบร้านค้าสมาชิกอย่างเป็นทางการและยังพัฒนารูปแบบการขยายรอบใหม่สำหรับเส้นทางร้านค้าสมาชิกทั้งหมดในปี 2565
ข้อมูลจาก iiMedia Researchชี้ ในปี 2564 อุตสาหกรรมซูเปอร์มาร์เก็ตแบบโกดังสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 ขนาดตลาดมีมูลค่าถึง 30,430 ล้านหยวน และคาดว่าในปี 2565อุตสาหกรรมดังกล่าวของจีนจะเติบโตร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีขนาดตลาดถึง 33,500 ล้านหยวน การเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตแบบสมาชิก อาจนำไปสู่การล่มสลายของซูเปอร์มาร์เก็ตแบบดั่งเดิม
โดยข้อมูลสถิติการค้าปลีกชี้ให้เห็นว่าปี 2564 มีซูเปอร์มาร์เก็ตแบบดั้งเดิม 6 แห่ง รวมถึง Yonghui, Carrefour, Beijing Hualian, Jiajiayue, Renrenle และ Beiguo Supermarket เริ่มปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบร้านค้าสมาชิกแบบคลังสินค้า เพื่อเพิ่มโอกาสอยู่รอดในตลาด
ร้านค้าแบบสมาชิกมักจะมุ่งเป้าไปที่ กลุ่มผู้บริโภค “ชนชั้นกลาง” เน้นนำเสนอสินค้าคุณภาพสูงและดี เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี โดยเน้นไปยังกลุ่มผู้บริโภคครอบครัวในเมืองชั้นหนึ่งและเมืองชั้นสอง โดยกำหนดกลุ่มผู้บริโภคเพศหญิงที่มีหน้าที่การงาน อยู่ในช่วงอายุ 25-45 ปี ในทางกลับกัน ภายใต้การแข่งขันของกลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกัน การเข้าถึงหัวใจและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายคือบททดสอบที่ท้าทายอย่างแท้จริง
คุณ Chen Zhiyu รอง CEO ของ Metro China กล่าวว่าความต้องการของผู้บริโภคนั้นแบ่งเป็นลำดับชั้น
ระดับแรก คือผู้บริโภคต้องการความปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ และสินค้าไม่ควรมีปัญหา
ระดับสอง คือสินค้าและบริการสามารถคลายกังวลและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด สินค้าหาซื้อได้ง่ายไม่ยุ่งยาก
ระดับสาม คือต้องการพัฒนาความต้องการ กล่าวคือผู้บริโภคต้องการมีประสบการณ์ที่ดีผ่านการช็อปปิ้ง
ดังนั้น ทฤษฎี "ความต้องการสามระดับ" ได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับการเลือกและการออกแบบผลิตภัณฑ์ในร้านค้าของ Metro และแทรกซึมเข้าไปในทุกผลิตภัณฑ์ โดยผู้บริโภคไม่ทันได้สังเกต ปัจจุบัน Metro มีสมาชิกที่ยอมจ่ายค่าสมาชิกแล้วมากกว่า 2.2 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้ มีผู้อาวุโสจำนวนมาก บางคนเป็นพ่อครัวในโรงแรม เหตุผลที่พวกเขากลายเป็นสมาชิกของ Metro ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกผลิตภัณฑ์อย่างมืออาชีพของ Metro จึงทำให้ Metro เป็นตัวเลือกที่ดีให้การช็อปปิ้งมาโดยตลอด
นอกจากนี้ Metro ยังได้ออกแบบร้านสมาชิกให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเดินเข้ามาซื้อของ เดินเล่นได้ทั้งครอบครัว ทั้งร้านกาแฟ สนามเด็กเล่น และพื้นที่พักผ่อนสาธารณะสำหรับผู้ปกครองและเด็ก ๆ ประสบการณ์ที่สมาชิกจะได้รับไม่ใช่แค่การมาเดินซื้อของ แต่เหมือนสถานที่พักผ่อนของครอบครัววันหยุดสุดสัปดาห์
การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางทำให้เกิดการยกระดับการบริโภค และแนวโน้มของผู้บริโภคที่จ่ายเงินเพื่อคุณภาพสินค้าที่ดีขึ้น เพิ่มความมีชีวิตชีวาของตลาดสู่ร้านค้าแบบสมาชิก และอย่างที่ทราบกันดีว่าหัวใจสำคัญของร้านค้าสมาชิกที่ต้องชำระเงินค่าสมาชิกคือความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นอย่างต่อเนื่องระหว่างแบรนด์ร้านค้าและสมาชิก มากกว่าความสัมพันธ์ในการซื้อและขายเพียงครั้งเดียว
ซึ่งเปรียบเสมือนการรับส่งข้อมูลโดเมนขององค์กรสู่ผู้ค้า ดึงดูดและรักษาผู้บริโภคไว้ โดยอิงจากความสามารถในการให้บริการ ตระหนักถึงความสำคัญของ "ความสัมพันธ์ระยะยาว" กับผู้บริโภคและใช้ความพยายามในการสร้างการตลาดแบบบอกปากต่อปากของผู้บริโภค เพื่อสร้างพลังในการส่งต่อข้อมูลและความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ
ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับกลางใจเมืองระดับสองอย่างเซี่ยเหมินเริ่มทยอยปิดตัวลง ส่วนหนึ่งเริ่มมาจากผลกระทบจากโควิด 19 อีกส่วนหนึ่งร้านค้าส่วนใหญ่ยังใช้รูปแบบโมเดลธุรกิจแบบเดิม ในประเทศจีนมีซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ที่เข้ามาแข่งขันกับร้านค้าแบบดั้งเดิม
โดยมีบริการขายสินค้าหลากหลายและครอบคลุมผ่านเครือข่ายออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ผลไม้ ของใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงสินค้าจากต่างประเทศอย่างประเทศไทย และยังมีบริการส่งสินค้าตรงถึงบ้านภายในไม่กี่ชั่วโมง โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปเดินเลือกซื้อสินค้า หรือหิ้วสินค้าหนักๆกลับบ้านเอง ธุรกิจที่อยู่รอดจึงเป็นธุรกิจที่คอยติดตามสถานการณ์และปรับเปลี่ยนรูปแบบโมเดลธุรกิจอยู่เสมอ การรู้จักช่องทางการค้าใหม่ๆ ในประเทศจีนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาเพื่อเป็นช่องทางในการสร้างความร่วมมือในอนาคต
ทั้งนี้ ในเมืองเซี่ยเหมิน มี Sam’s Club ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตในรูปแบบจ่ายค่าสมาชิก โดยคิดค่าสมาชิกรายปี ปีละ 260 หยวน คิดเป็นประมาณ 1,300 บาท ถึงแม้จะมีเพียง 1 สาขาในเมืองเซี่ยเหมิน แต่กลับตอบโจทย์ผู้บริโภค ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ผู้บริโภคมีกำลังซื้อยอมจ่ายค่าสมาชิกเพื่อให้ได้เข้าไปซื้อสินค้าซึ่งมีทั้งสินค้าปรุงสดพร้อมรับประทาน และสินค้าในชีวิตประจำวัน
โดยเป็นสินค้าคัดคุณภาพทั้งสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้า และยังใช้กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์โดย KOL/ KOC ผ่านแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ชื่อดังอย่าง XiaoHongShu , Tiktok กลายเป็นกระแสติดในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงกลุ่มผู้มีครอบครัวยุคใหม่ ที่ต้องไปเช็กพอยต์อีกด้วย
โฆษณา