17 ส.ค. 2022 เวลา 07:01 • ไลฟ์สไตล์
“Rosé Wine vs Rosé Beer” สีชมพูเหมือนกัน แต่ทำไมแตกต่างกัน ?
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่าน พวกเราได้มีโอกาสไปทานอาหารเย็นที่บ้านเพื่อน (คนเดิมกับตอนที่ผ่านมา)
เพื่อนคนนั้น เขาได้เตรียมเครื่องดื่มสีชมพู เทใส่ไว้ 2 แก้วแบบโปร่งใส
แล้วก็ให้เราทายด้วยสายตาว่า อันไหนคือ Rosé Wine กับ Rosé Beer ?
(เอาอีกละ ทดสอบอะไรเราอีกเนี่ยยย)
ถึงแม้ว่าเพื่อน ๆ จะเสิร์ฟเบียร์ในแบบที่รอฟองหายจนหมด
แต่มองด้วยตาก็พอจะเดาได้ ว่าอันไหนคืออะไร… ซึ่งก็เดาถูกคร้าบบ ฮ่า ๆ
(สไตล์มือใหม่อย่างพวกเรา ก็ต้องใช้คำว่าเดาอีกแล้วคร้าบบ)
เครื่องดื่มทั้ง 2 ชนิดที่มีชื่อเหมือนกัน มีสีชมพูน่าดึงดูดตาคล้ายคลึงกัน
แต่ทว่า…มันกลับแตกต่างกันออกไปเลยนะสิ
เรื่องราวจะเป็นอย่างไร
วันนี้พวกเรา InfoStory จะมาเล่าให้ฟัง ในแบบฉบับมือใหม่หัดรู้จักกันอีกเช่นเคยคร้าบผม !
[ 2 Rosé 2 วิถีชีวิต ของ 2 หมู่บ้าน ใน 2 ชาติ ]
อ่านหัวข้อย่อยแล้วอาจจะดูงงกันสักเล็กน้อย
มาขยายความกันให้ไม่งงสักนิดดีกว่า
ต้องบอกว่าทั้ง โรเซ่ไวน์และเบียร์ ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากวิธีการผลิตเครื่องดื่มของทั้ง 2 หมู่บ้าน จาก 2 ประเทศ
ซึ่งพอเราเข้าไปอ่านแต่ละเรื่องเนี่ย มันกลายเป็นว่าเครื่องดื่มสีชมพูทั้งสองชนิด มันคือหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไปซะแทน (เสมือนเป็นวิธีการทำเครื่องดื่มที่ส่งถอดจากรุ่นสู่รุ่น)
แต่มองอีกมุมหนึ่ง มันก็อาจจะเป็นเพียงแค่กิมมิคของทั้ง 2 เรื่องก็ได้นะ…
อะ มาอ่านกันเบา ๆ สักหน่อยดีกว่า !
[ Rosé Wine - วิถีชีวิตแห่งชาวโพรวองซ์ ]
ก่อนอื่นเลย โรเซ่ไวน์ (Rosé Wine) จะไม่ได้เป็นไวน์แดงผสมไวน์ขาวนะคร้าบ
คือ มันอย่างนี้ โรเซ่ไวน์ เขาจะผลิตจากองุ่นแดง และมีวิธีการผลิตอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างไวน์แดงกับไวน์ขาว (แต่ไม่ใช่ผสมกัน)
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขออธิบายเพิ่มเติมแบบนี้
วิธีการผลิตไวน์แดง (แบบย่อ อาจไม่ได้ระบุครบทุกขั้นตอน)
นำองุ่นแดงมาคั้นน้ำ >> หมักรอบ 1 >> กดอัดเปลือกและเม็ด (หรือแยก) >> หมักรอบ 2 >> กรองและบ่มในถังไม้ >> กรองและบรรจุขวด
วิธีการผลิตไวน์ขาว
นำองุ่นเขียวหรือแดงมาคั้นน้ำ >> กดอัดเปลือกและเม็ด (ถ้าใช้องุ่นแดงจะแยกเปลือก) >> หมักรอบเดียว >> กรองและบ่มในถังไม้ >> กรองและบรรจุขวด
วิธีการผลิตโรเซ่ไวน์
1. ขั้นตอนแรกเหมือนกับไวน์แดง - นำองุ่นแดงมาคั้นน้ำ >> กดอัด >> แยกเปลือกและเม็ด
2. ขั้นตอนการหมักจะเหมือนกับไวน์ขาว - หมักแค่ครั้งเดียว โดยใช้อุณหภูมิที่ไม่สูงและใช้เวลา 10-20 วัน และหมักให้มีน้ำตาลในองุ่นอยู่ ซึ่งทำให้เกิดรสหวาน (บางที่อาจเติมน้ำตาลเข้าไป)
โรเซ่ไวน์ อาจไม่จำเป็นต้องผลิตโดยใช้แค่องุ่นแดงนะ แต่สามารถผสมองุ่นเขียวได้ด้วยเหมือนกัน เพียงแค่ความเข้มข้นของสีนั้นขึ้นอยู่กับเวลาในการหมักเปลือกองุ่นแดง ยิ่งหมักนานสียิ่งเข้ม
(ซึ่งจะมีเทคนิคทีเ่รียกว่า “Saignée” เป็นการหมักและกดองุ่นแดงให้มีสีชัดขึ้น)
ด้วยกระบวนการผลิตที่เล่าให้ฟังแบบคร่าว ๆ อาจทำให้ใครหลายคนเข้าใจผิด และนึกว่าเป็นการผสมไวน์ขาว+ไวน์แดง ได้ นั่นเอง (ซึ่งไม่ใช่นะคร้าบบ)
อ้าว…เล่าซะเพลิน เกือบลืมหัวข้อหลักเลย ที่ว่าจะพูดถึงหมู่บ้าน “Provence”
พรอว็องส์ (Provence) ฝรั่งเศส
เรื่องราวของโรเซ่ไวน์ ก็ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจากหมู่บ้านในแคว้นพรอว็องส์ (Provence) หรือที่เรารู้จักกันในฉายาของดินแดนแห่งทุ่งลาเวนเดอร์ของฝรั่งเศส ตั้งแต่ช่วยสมัยยุคกลาง (Middle age) ซึ่งสมัยนั้นยังคงเป็นชาวกรีกและโรมันที่เริ่มนำวิธีการทำไวน์องุ่นเข้ามา
หรือจะพูดให้ง่ายขึ้นก็คือ โรเซ่ไวน์อาจมีจุดกำเนิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับช่วงเวลาที่ชาวฟินิเซีย (Phoenicia) (กลุ่มชาวตะวันออกกลางและกรีก) ค้นพบเมืองมาร์แซย์ (Marseille) หรือ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสตอนใต้
ว่ากันว่าชาวฟินิเซียเป็นกลุ่มคนที่นำไวน์สีชมพูเข้ามาเผยแพร่ในฝรั่งเศส โดยวิธีการทำไวน์จากองุ่นแดงด้วยวิธีการหมักแบบไวน์ขาว
จนกระทั่งพวกเขาได้ไปเจอพื้นที่ปลูกองุ่นที่ดีอย่างหมู่บ้านในแคว้นพรอว็องส์ (Provence) ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปจากมาร์แซย์ไม่ไกลมากเท่าไร
พันธุ์องุ่นคลาสสิกจากหมู่บ้านพรอว็องส์ ที่นำมาทำไวน์โรเซ่ คือ Grenache, Cinsault และ Mourvèdre
การปลูกและการผลิตไวน์โรเซ่ จะถูกผลิตขึ้นมาด้วยความประณีประนอม มีการคัดสรรประเภทองุ่นรวมถึงลักษณะผิวเพื่อได้รสชาติเเละสีที่อ่อนตามที่ตั้งใจไว้
ด้วยความที่พื้นที่ฝรั่งเศสตอนใต้จะติดกับทะเล จึงทำให้ผู้คนนิยมบริโภคอาหารทะเลกัน ไวน์ที่มีรสชาติโปร่งแต่คมเข้มอย่างโรเซ่ไวน์ จึงกลายเป็นที่นิยม (ทานพร้อมกับอาหารทะเลได้ดีมาก)
เรื่องราวการทำไวน์โรเซ่จึงค่อย ๆ ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น และกลายเป็นหนึ่งในไวน์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านพรอว็องส์ อีกด้วยนะ
แต่…ต้องบอกว่าในสมัยก่อนเนี่ย ไวน์ที่ดูเหมือนจะอยู่ตรงกลางของไวน์ขาวและไวน์แดง (ทั้งสีสันและความหนักของรสชาติ) มันไม่สุดไม่เด่นสักทาง
นั่นจึงทำให้ชาวยุโรปไม่ค่อยนิยมมากเท่าไรนัก…
จนกระทั่งสูตรการผลิตโรเซ่ของฝรั่งเศส มันได้แพร่กระจายไปจนถึงฝั่งทวีปอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 1800 (แถวแคลิฟอร์เนีย ซึ่งก็มีชื่อเสียงในการผลิตไวน์โลกใหม่)
ต่อมาก็เริ่มเป็นที่นิยมในช่วงปี 1950เป็นต้นมา โดยชาวอเมริกันก็จะนิยมเรียกโรเซ่ไวน์ว่า “Light wine”
แต่สูตรการผลิตดั้งเดิมเนี่ย ก็มาจากหมู่บ้านพรอว็องส์ของฝรั่งเศส นั่นเองจ้า (แต่จะมีการใช้พันธุ์องุ่นแดงที่แตกต่างออกไป และอาจมีการผสมองุ่นเขียวเข้าไปด้วย)
[ Rosé Beer - ความภาคภูมิใจของหมู่บ้าน “Hoegaarden” ]
โรเซ่เบียร์ (Rosé Beer) เปรียบเสมือนหนังสือคนเล่ม (แค่มีสีปกที่คล้ายกัน)
เพราะวิธีการผลิตนั้นไม่เหมือนกับโรเซ่ไวน์เลย
Rosée Beer ถูกจัดอยู่ในประเภทของ “วีทเบียร์” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Wheat Beer”
เจ้าวีทเบียร์ (Wheat Beer) เนี่ย ว่ากันว่าเป็นเอกลักษณ์ของการดื่มเบียร์ในแบบฉบับของชาวเบลเยียม
นั่นก็เพราะ ต้นกำเนิดของวีทเบียร์ ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1445 โดยมาจากฝีมือของนักบวชในหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีชื่อว่า หมู่บ้าน Hoegaarden (อ่านว่า ฮู-การ์-เด้น)
หมู่บ้าน Hoegaarden
นักบวชกลุ่มนี้ได้คิดค้นทดลองผลิตเบียร์ จากวัตถุดิบธรรมชาติ 100% ที่สามารถปลูกได้ภายในหมู่บ้าน อย่าง “ข้าวสาลี (Wheat)” แล้วนำไปหมักกับอีก 5 ส่วนผสมหลัก ได้แก่ น้ำแร่ธรรมชาติ ฮอปส์ ยีสต์ และ ส่วนผสมพิเศษ อย่างเปลือกส้ม Curacao และเมล็ดผักชี ผ่านกรรมวิธีการผลิตอย่างพิถี พิถัน และไม่ผ่านการกรอง จึงทำให้น้ำเบียร์ ที่ได้ออกมานั้นสีขุ่น อุดมด้วยคุณประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ
โดยต้นกำเนิดของเบียร์ Rosée ก็ว่ากันว่า
เกิดมาจาก ในค่ำคืนหนึ่งในหมู่บ้าน Hoegaarden ที่ชาวบ้านกำลังจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองประจำปีกันอยู่
ด้วยจำนวนผู้คนที่ออกมาเฉลิมฉลองที่เยอะเกิน แก้วเบียร์ในบาร์จึงได้ถูกใช้หมด...
แล้วพอไม่มีแก้วดื่มเบียร์ ทำยังไงดีละ ?
ชาวบ้าน จึงได้นำกระปุกแยมที่ใช้งานหมดแล้ว มาใส่เบียร์แทน (ง่ายดีแท้)
ด้วยความเพลิดเพลินของชาวบ้านจึงไม่ทันสังเกตว่าในกระปุกนั้นยังมีแยมหวาน ๆ นอนก้นอยู่
ทันทีที่เครื่องดื่มวีทเบียร์รสดั้งเดิมจากหมู่บ้าน Hoegaarden มาผสมเข้ากับแยมสีแดง ซึ่งว่ากันว่าเป็นแยมที่มาจากผลราสเบอร์รี่
จากการค้นพบรสชาติใหม่ด้วยความบังเอิญ จึงถูกกลุ่มนักบวชผู้ที่คิดค้นวีทเบียร์ มาพัฒนากลายมาเป็นเบียร์สีชมพูทีมีชื่อว่า “Rosée” นั่นเองจ้า
อ่านถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ คงจะเห็นได้ว่า 2 เรื่องราวของเครื่องดื่มที่หน้าตาคล้าย ๆ กัน กลับไม่เหมือนกันเลยสักทางเนอะ
ถ้าอย่างนั้นแล้ว วันนี้พวกเราขอตัวลากันไปก่อนนะคร้าบ ! !
หมายเหตุ : ดื่มแต่พอดีนะคร้าบสุราและเบียร์ เป็นเหตุก่อโรคมะเร็งและอุบัติเหตุอื่น ๆ ได้
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ Wine A Tasting Course by Marnie Old
- หนังสือ เจาลึกไวน์ทั่วโลก เล่ม1-2 เขียนโดย Won Bok Rhie
- Wine A Tasting Course by Marnie Old
- Wine 101 Guide by Wine Folly
โฆษณา