Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
CreativeMatters
•
ติดตาม
6 ส.ค. 2022 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์
จากเส้นใยป่านศรนารายณ์สู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชน
เรื่อง อุไรวรรณ จงเจริญ ภาพ อุไรวรรณ จงเจริญ
ภาพ: CreativeMatters
ป่านศรนารายณ์เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ใบมีเส้นใยลักษณะแข็ง ซึ่งเส้นใยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ลักษณะต้นเป็นกอ มีใบแตกออกไปโดยรอบเวียนเป็นวง ตั้งแต่โคนต้นถึงยอดสูงประมาณ 1-3 เมตร ใบหนาฉ่ำ ใยเรียบ ไม่มีก้านใบ สีเขียวสดจนถึงเขียวเข้มยาวประมาณ 100-200 เซนติเมตร ปลายใบหยาบลักษณะสีดำ ขอบใบเรียบ เส้นใยจากป่านศรนารายณ์นั้นสามารถนำมาแปรรูปได้หลายวิธี
ภาพ : https://puechkaset.com/ป่านศรนารายณ์/
ความเป็นมาของผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ของหมู่บ้านหุบกะพง เมื่อปี พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยี่ยมเยียนสมาชิกในหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพงทรงแนะนำให้แม่บ้านนำป่านศรนารายณ์มาใช้ประโยชน์ในด้านการจักสานเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยใช้เวลาว่างหลังจากการเลิกงานด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
โดยสมาคมสตรีธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ความรู้และฝึกทักษะให้แก่แม่บ้านสหกรณ์ด้วย เพื่อจำหน่ายที่ศูนย์รวบรวมผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ในหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง ปี พ.ศ.2524
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับงานจักสานป่านศรนารายณ์ของแม่บ้านสหกรณ์การเกษตรหุบกะพงเข้าไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และได้เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์จนทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ (ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี, (ม.ป.ป.))
ภาพ: CreativeMatters
ป้าขวัญเรือน บุคภัค สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกะพงได้เล่าว่ากว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์นั้นได้ผ่านกระบวนการทำหลายขั้นตอน เริ่มต้นจากการเลือกตัดใบป่าน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ใบป่านแก่ เนื่องจากใบป่านอ่อนขึ้นสีไว แดงไว หรือเปลี่ยนสีง่าย ใบป่านอ่อนจึงไม่เหมาะสมในการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์
จากนั้นจึงใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการดึงเอาเส้นใยจากใบป่านออกมา โดยการใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกให้มีความคม เพื่อให้ใบป่านสามารถสอดเข้าไปในช่องไม้ไผ่ผ่าซีกได้ แล้วจึงดึงให้ไม้ไผ่ปาดเอาเส้นใยเล็กๆออกมา ในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาโดยใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการบดอัดให้เหลือแต่เส้นใย จึงดึงเส้นใยได้เป็นจำนวนมาก เมื่อได้เส้นใยแล้วนำไปล้างน้ำ ตากแดดให้แห้ง พอแห้งแล้วจึงเก็บ
ภาพ: CreativeMatters
การตากเส้นใยป่านศรนารายณ์นั้นไม่ควรตากให้แห้งมากจนเกินไป เนื่องจากแดดจะเผาสีทำให้เส้นใยป่านมีสีแดง ส่งผลกระทบต่อเส้นใยป่านที่ไม่ต้องการย้อมสี เช่น สีขาว หรือ สีอ่อนๆ เมื่อนำไปย้อมสี เส้นใยของป่านจะด่าง
แต่ถ้าต้องการย้อมสีเส้นใยป่านให้เป็นสีดำ สีน้ำตาล หรือสีกรมท่า สามารถตากแดดให้นานได้ แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือ ควรตากแต่พอแห้ง เมื่อแห้งแล้วจึงนำเส้นใยป่านมาถักเป็นเปีย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากป่านศรนารายณ์ เช่น รองเท้า หมวก เข็มขัด กระเป๋า ที่ใส่แก้วเยติ กล่องใส่กระดาษทิชชู พวงกุญแจ ล้วนได้มาจากเส้นใยของป่านศรนารายณ์นำมาถักเป็นเปียเหมือนการถักผมเปีย โดยการใช้มือถักต่อไปเรื่อยๆ ความยาว 100 เมตร
ภาพ: CreativeMatters
บางผลิตภัณฑ์ไม่ต้องถักเป็นเปียสามารถใช้เส้นใยจากป่านศรนารายณ์มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้เลย เช่น ไม้กวาด หรือ ไม้กวาดหยากไย่ เป็นต้น
เมื่อได้เปียแล้วจึงนำมาย้อมสี
วิธีการย้อมสีของเส้นใยป่านศรนารายณ์ให้มีความคงทน จะใช้สีย้อมไหมหรือสีเคมีสำหรับการย้อมผ้า ในการย้อม ต้องตั้งน้ำให้เดือด ใส่เกลือลงไปจะทำให้สีแน่น หลุดยาก และต้องเคี่ยวให้นาน ถ้าเคี่ยวไว ย้อมไว สีจะไม่คงทน สีจะหลุดง่าย จึงต้องเคี่ยวให้นาน เคี่ยวทิ้งไว้หลายชั่วโมง เมื่อเคี่ยวเสร็จแล้วนำมาแช่น้ำ ซักจนกว่าสีจะไม่ตก แล้วจึงนำมาตากแห้ง แล้วนำมาเย็บซิกแซกเป็นเปียคู่
ภาพ: CreativeMatters
เชิดพงษ์ ขีระจิตต์ และคณะ (2560) กล่าวถึง การเย็บเปียคู่เป็นการเย็บเปียให้เป็นคู่หรือเย็บเปียให้เป็นแผงเพื่อจะนำไปขึ้นรูปตามแบบของผลิตภัณฑ์ การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เป็นการนำเปียที่ได้มาทำการเย็บขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามแบบที่ต้องการ
ผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์นั้นมีความโดดเด่นทุกผลิตภัณฑ์ แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ หมวกและกระเป๋า ผลิตภัณฑ์แรกจากป่านศรนารายณ์คือ กระเป๋า ช่วงแรกจะใช้เปียจากป่านศรนารายณ์มาสานเป็นกระเป๋า ต่อมาจึงใช้จักรเข้ามาช่วยในการเย็บให้เป็นรูปแบบตามที่ต้องการ กว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์นั้นต้องใช้ความชำนาญของผู้ทำ
ภาพ: CreativeMatters
จากเส้นใยของป่านกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านและเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชาวหุบกะพงที่ควรค่าแก่การถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้สืบสานต่อไป
ภาพ: CreativeMatters
นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์โดยการเลือกซื้อสินค้าได้ที่มูลนิธิสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ค่ายพระรามหก อาคารแสดงสินค้าสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด งานแสดงสินค้าต่างๆ เช่น งานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี งานแสดงสินค้าที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ หรือติดต่อได้ที่สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เลขที่ 99 หมู่ 8 ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เบอร์โทร 032-471286 หรือ 032-593178 เพจเฟซบุ๊ก สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด
ภาพ: CreativeMatters
แหล่งข้อมูลและเอกสารอ้างอิง
ขวัญเรือน บุคภัค (การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 พฤษภาคม 2565)
เชิดพงษ์ ขีระจิตต์, ณรงค์ สมพงษ์, และณัฐพล รำไพ. (2560). ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากป่านศรนารายณ์. เกษตรอภิรมย์, 3(18), 44.
https://kukrdb.lib.ku.ac.th/journal/kasetapirom/search_detail/result/382110
ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี. (ม.ป.ป.). มารู้จักกับป่านศรนารายณ์.
http://cttc.cpd.go.th/hubkapong/index.php/ac1/2021-02-24-07-50-30/coop3
Puechkaset. (2560, 5 ตุลาคม). ป่านศรนารายณ์ (Sisal) ประโยชน์ และการปลูกป่านศรนารายณ์.
https://puechkaset.com/ป่านศรนารายณ์/
#ป่านศรนารายณ์
#เครื่องจักสาน
#งานหัตถกรรม
#ของดีเมืองเพชร
#Crafts
#CreativeCraft
#Petchburi
เพชรบุรี
crafts
arts
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย