8 ส.ค. 2022 เวลา 00:08 • หนังสือ
ทำความรู้จักสมอง 3 ชั้น เพื่อใช้งานให้ดีขึ้น
Photo by jesse orrico on Unsplash
เคยได้ยินชื่อ อลันนา มิตเชลล์ (Alanna Mitchell) กันไหมครับ?
ไม่น่าแปลกใจ หากคุณไม่เคยได้ยิน เธอเป็นนักข่าวชาวแคนาดา เคยได้รับรางวัลนักข่าวสิ่งแวดล้อมที่เยี่ยมที่สุดในปี 2000 จากสหภาพการอนุรักษ์โลก (The World Conservation Union, IUCN) และมูลนิธิรอยเตอร์ส (Reuters Foundation)
ต่อมามีผลงานเป็นหนังสือแนวธรรมชาติวิทยาโด่งดังอีก 2 เล่มคือ Dancing at the Dead Sea (2004) และ Sea Sick (2008)
ภายหลังเธอยังสนใจหันมาศึกษาและเขียนเกี่ยวกับการนำความรู้ในงานวิจัยสมองไปประยุกต์ใช้กับการศึกษา
บทความเรื่อง “การศึกษากับสมองที่วิวัฒน์ไป (Education and the Evolving Brain)” ของเธอ มีประเด็นที่น่าสนใจจนต้องเอามาฝากกันครับ
สมองของสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มแรกๆ คือ พวกปลานั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ สมองส่วนหลังที่ดูแลระบบประสาทอัตโนมัติ สมองส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาตอบสนองฉับพลัน และสมองส่วนหน้าซึ่งเชื่อมต่อกับอวัยวะรับสัมผัสต่างๆ เช่น ตาและจมูก
1
ครั้นพอแตกสายวิวัฒนาการ สัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
สมองก็เติม “ชั้นสมอง” ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
พูดให้วาดภาพในหัวตามง่ายๆ ก็คือ คล้ายๆ กับมีชั้นของเนื้อหัวหอมมาคลุมทับมากชั้นขึ้น (ความจริงจะซับซ้อนมากกว่านี้แยะ)
ส่วนที่เพิ่มมาเรียกว่า ระบบลิมบิก (limbic system) และซีรีบรัม (cerebrum)
ในขณะที่สมองส่วนดั้งเดิมที่เรามีร่วมกับปลานั้น ปัจจุบันมนุษย์ใช้สมองส่วนนี้ (อยู่ด้านในและค่อนมาทางด้านหลังของศีรษะ) ในการควบคุมสมดุลและการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมทั้งดูแลระบบอัตโนมัติของร่างกาย เช่น การหายใจ และความดันเลือด เป็นต้น
ระบบลิมบิกหรืออาจจะเรียกว่า “สมองส่วนกลาง” จะเป็นสมองส่วนที่อยู่ซ้อนทับบนสมองส่วนเก่าแก่ที่กล่าวถึงไปแล้ว ส่วนของสมองนี้ควบคุมสัญชาตญาณพื้นฐาน เช่น ความกลัว และอารมณ์แบบต่างๆ บางคนก็เลยเรียกว่าเป็น “สมองส่วนสัตว์เลื้อยคลาน”
สมองส่วนที่พัฒนาขึ้นมาหลังสุด คือส่วนที่เรียกว่า “ซีรีบรัม” ซึ่งมาพัฒนาเอามากๆ ตอนที่มีไพรเมต (ลิงไร้หางที่คล้ายคน) เกิดขึ้นแล้ว
สมองส่วนนี้ล้อมรอบเป็นชั้นหัวหอมรอบสมองส่วนลิมบิก และในมนุษย์มันก็พัฒนาไปไกลมากๆ จนกินพื้นที่ไปมากถึง 85% ของน้ำหนักสมองเลยทีเดียว
https://qbi.uq.edu.au/brain/brain-anatomy/forebrain
กิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับสติปัญญา ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสมองส่วนนี้ แม้ว่าจะไม่ได้แยกส่วนออกจากสมองอื่นจนหมดก็ตาม
เช่น สติสัมปชัญญะ ความคิดความเห็น และสมาธิ ล้วนเกี่ยวข้องกับส่วนนอกของสมองชั้นนี้ที่เรียกว่า ซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ (cerebral cortex)
ขณะที่การคิดหาเหตุผลและการควบคุมอารมณ์ตามแรงกระตุ้นพื้นฐาน อยู่ในสมองส่วนนี้ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของศีรษะที่เรียกว่า ฟรอนทัล คอร์เท็กซ์ (frontal cortex)
ส่วนสุดท้ายที่เพิ่งมีเพิ่มขึ้นมาล่าสุดในสมองส่วนนี้ชื่อว่า นีโอคอร์เท็กซ์ (neocortex) เป็นส่วนที่ทำให้สามารถเชื่อมโยง วางแผน และตัดสินใจ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับระบบคิดที่จดจำได้ในระยะยาว ไม่ลืมเลือนโดยง่าย
สมองส่วนนี้อยู่ทางด้านหน้าสุดและอยู่เหนือตาขึ้นไปเล็กน้อย
ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสมองส่วนต่างๆ เหล่านี้มีประโยชน์อะไรบ้างหรือไม่?
มีครับ มีการประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับสมอง มาใช้กับเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างน่าสนใจหลายเรื่องเลยครับ
เช่น หากเด็กรู้สึกกังวลหรือตื่นกลัว สมองส่วนลิมบิกจะเข้ามาทำหน้าที่แทนกัปตันปกติคือ คอร์เท็กซ์และนีโอคอร์เท็กซ์ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ลดต่ำลงโดยอัตโนมัติ เพราะถูกอารมณ์กลัวที่เป็นด้านลบครอบงำ
ดังนั้น บรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ จึงควรเป็นบรรยากาศที่เป็นมิตรและอบอุ่น ไม่ใช่บรรยากาศแห่งความกลัวและการลงโทษ
แบบทดสอบหรือบทเรียนที่หากทำผิด จะโดนลงโทษ จึงเป็นผลเสียต่อการเรียนรู้มากกว่าผลดี
บางคนอาจจะคิดเอาว่า ระบบตรรกะ (logic) หรือความคิดเป็นเหตุเป็นผลนั้นแยกต่างหากจากอารมณ์ความรู้สึก (มีอ้างกันทั่วไปในอินเทอร์เน็ต)
แต่ความจริงก็คือทั้งตรรกะและอารมณ์ความรู้สึก ต่างก็อยู่ภายใต้การดูแลของฟรอนทัล คอร์เท็กซ์
ดังนั้น การเรียนตรรกะโดยปราศจากอารมณ์ความรู้สึกโดยสิ้นเชิง จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้
และในทางกลับกัน อารมณ์ความรู้สึกในปริมาณและในด้านที่เหมาะสม เอื้อต่อการสืบหาเหตุผลด้วยซ้ำไป และการเรียนรู้ตรรกะล้วนๆ จึงจำยากและน่าเบื่อสำหรับคนทั่วๆ ไป
ในทำนองเดียวกัน สมองของเรายังผูกติดกับระบบให้รางวัลและลงโทษแบบสมองดึกดำบรรพ์ ในยุคที่มนุษย์ต้องเป็นผู้ล่าและมีความเสี่ยงของการถูกล่าด้วย
ดังนั้น ความเสี่ยงเล็กๆ น้อยๆ อย่างพอดี ก็อาจจะมีผลช่วยการเรียนรู้ เพราะเมื่อเราทำสำเร็จ สมองจะหลั่งสาร โดพามีน (dopamine) ที่ทำให้เรารู้สึกดี กล่าวคือ รู้สึกมีความสุขราวกับ ... รอดชีวิตมาได้อีกครั้ง
เนื่องจากสมองทำงานสอดคล้องประสานกันทั้งสองซีกตลอดเวลา ไม่ได้แยกกันชัดเจนดังที่หลายสำนักทำให้เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น
ดังนั้น การเพิ่ม “ประสาทสัมผัส” ของเราให้มากขึ้นในขณะที่เรียนรู้ ก็ช่วยให้เราจดจำได้ดีมากขึ้นด้วยเช่นกัน
การเคลื่อนที่หรือการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการสร้างสารสื่อกระแสประสาทข้ามไปมาในตำแหน่งต่างๆ ของเครือข่ายเซลล์สมอง
จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าการฝึกฝนความสามารถด้วยการลงมือทำจริงๆ ช่วยให้จดจำได้แม่นยำ และจดจำได้เนิ่นนานมากขึ้นกว่าการอ่านหรือดูเพียงอย่างเดียว
การฝึกทักษะ (skill) โดยเฉพาะงานในเชิงศิลป์หรือเชิงช่าง จึงช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของสมองโดยตรง
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมองจึงช่วยให้เราเรียนรู้ได้ดีขึ้นด้วยประการฉะนี้!
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก, สนพ.มติชน
โฆษณา