6 ส.ค. 2022 เวลา 01:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
juli baker and summer อิสระของหัวใจที่ใช้ศิลปะสื่อสารความเป็นไปในชีวิต
ป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรือ juli baker and summer เปิดหัวใจบอกเล่าถึงเส้นทางการทำงานศิลปะ การเปลี่ยนผ่านทางความคิด และอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานของเธอ
เรายืนกดกริ่งอยู่หน้าประตูสีน้ำเงินที่โดดเด่นกว่าประตูบานไหนในละแวกนี้ สักพัก ป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรือ juli baker and summer (จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์) ก็ส่งยิ้มผ่านกรอบกระจกสีเหลืองออกมาต้อนรับ
เธอพาเราเดินขึ้นไปชมบ้านที่เป็นอาคาร 5 ชั้น พร้อมกับบรรยายให้ฟังว่ามีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้สมาชิกแต่ละคนจับจองตามใจชอบอย่างไร "ของป่านชัดเจนตั้งแต่บ้านเก่าอยู่แล้วค่ะว่าป่านจะได้ชั้นนึง คุณพ่อชั้นนึง คุณแม่ชั้นนึง บ้านนี้ก็เหมือนกัน ห้องของป่านอยู่ชั้น 2 แบ่งข้างหน้าไว้มีโต๊ะวาดมือตรงนี้ มีชั้นหนังสือ ข้างในจะเป็นออฟฟิศมีคอมพิวเตอร์ไว้ทำงาน"
ป่านพาเราลงมาที่ชั้น 2 โต๊ะไม้ตัวใหญ่สำหรับวาดภาพด้วยมือตั้งอยู่ตรงกลาง ด้านหน้าห้องมีพรมและโต๊ะเล็กๆ จัดวางไว้ แบ่งเป็นพื้นที่นั่งเล่นอย่างหลวมๆ ไล่สายตาไปตามผนังสีเขียวมีผลงานฝีมือเธอ โปสเตอร์หนัง ชั้นหนังสือ และเครื่องเล่นแผ่นเสียงไล่เรียงกันมา หน้าห้องทำงานมีเปียโนและกีตาร์ตั้งอยู่
หากไม่นับเจ้าของบ้านที่พาเราสำรวจไปยังชั้นต่างๆ ของบ้านแล้ว ชิ้นงานฝีมือของป่านที่ติดไว้บนกำแพงก็นำเราเดินทางไปสัมผัสเรื่องราวและอารมณ์ที่เธอถ่ายทอดไว้ในแต่ละช่วงเวลาเหมือนกัน
✨ จุดเริ่มต้นของ juli baker and summer
ป่านอยู่ในครอบครัวที่มีพื้นฐานทางศิลปะ โดยคุณพ่อ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา เป็นทั้งนักเขียนที่ชอบฟังเพลง เล่นดนตรี และทำงานเพ้นต์ให้เห็นเป็นเรื่องปกติ ส่วนคุณแม่ วนาชล ฉัตรกุล ณ อยุธยา ซึ่งชอบงานคราฟต์และการวาดภาพ เป็นผู้เห็นแววในตัวเธอ จึงสนับสนุนด้วยการพาไปเรียนศิลปะเพื่อพัฒนาความสามารถด้านนี้ตั้งแต่เด็ก
บรรยากาศเช่นนี้คงทำให้เธอรักศิลปะได้ไม่ยาก เพียงแต่การที่ใครคนหนึ่งจะตัดสินใจว่าต้องการใช้ชีวิตด้วยการวาดรูปนั้น ทำไมถึงง่ายนัก ป่านตอบทันทีว่า "ป่านชอบศิลปะ อันนี้แน่นอน ป่านชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ เวลาวาดเรารู้สึกว่ามันสนุก แฮปปี้ ไม่ต้องมีใครมาบังคับ ป่านวาดเองไม่ใช่ว่าพ่อต้องมาบังคับให้วาดรูปเวลานี้ถึงเวลานี้ เหมือนเวลาที่พ่อแม่ให้เด็กอ่านหนังสือหรือทำการบ้าน"
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นคนชอบการวาดรูปโดยเลือกใช้สีแบบที่ต้องการ ใส่ความเป็นตัวของตัวเองไปในชิ้นงาน แล้วออกเดินทางไปหาแรงบันดาลใจตามความปรารถนา เธอเริ่มนำภาพที่ตัวเองวาดมาโพสต์ลงอินสตาแกรมในนาม จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์ ทำให้มีคนเห็นลายเส้นไร้เดียงสาและสีสันสดใส จนกระทั่งกลายเป็นโอกาสในการขยายพื้นที่สร้างสรรค์ให้มีผลงานไปปรากฎอยู่บนลายผ้า หน้าปกอัลบั้ม นิตยสาร หนังสือ กำแพง และอีกสารพัดพื้นผิวที่สามารถเพ้นต์ได้ ก่อนนำไปสู่การทำผลงานเพื่อจัดแสดงนิทรรศการศิลปะเดี่ยวในฐานะศิลปินเต็มตัว
ส่วนชื่อ จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์ ที่ป่านใช้ในการทำงาน มาจากชื่อตัวละครในหนัง 2 เรื่องที่เธอชอบ คือ จูลี่ เบเกอร์ มาจากเรื่อง Flipped (2010) ผลงานของผู้กำกับ ร็อบ ไรเนอร์ (Rob Reiner) และ ซัมเมอร์ จาก 500 Days of Summer (2009) ที่ มาร์ค เว็บ (Marc Webb) เป็นผู้กำกับนั่นเอง
✨ การค้นพบเส้นทางของลายเส้นและสีสัน
เส้นทางการเป็นศิลปินและนักวาดภาพประกอบของป่านอาจดูเรียบง่าย แต่ก็มีช่วงที่ติดขัดอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อสอบเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่ตั้งใจไว้ได้แล้ว กลับไม่เป็นอย่างที่คิดไว้เท่าไร เพราะในหลักสูตรนั้นเมื่อผ่านขั้นตอนของการคิดและการออกแบบช่วงแรกไปแล้ว ยังมีอีกหลายกระบวนการที่ดีไซเนอร์ต้องเรียนรู้ ทั้งประสานงานกับช่างผู้ทำการตัดเย็บ เข้าใจการทำธุรกิจ และเรียนรู้เรื่องการตลาด ซึ่งนอกจากการวาดรูปและการออกแบบแล้ว ที่เหลือเธอไม่ถนัดเลย
แต่ไม่นานนักช่วงเวลาหนักใจและทัศนคติที่มีต่อการเรียนของเธอนั้นก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากการเดินทาง
"จุฬาฯ เขามีโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ ตอนปี 1 ป่านก็เดินทางไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่คณะ มันเป็นทริปแรกที่ป่านเดินทางไกล แล้วเราได้ไปเที่ยวก่อนเรียน พอได้เห็นงานของ เดวิด ฮอคนีย์ (David Hockney) กับ อองรี มาติส (Henri Matisse) ของจริง เราก็ตื่นเต้นว่ามันมีแบบนี้ด้วย มันสวยมาก
"แล้วพอลงเรียนคอร์ส Communication Design ซึ่งมีคลาส Illustration เราโชคดีที่ได้เจอครูที่น่ารักมากๆ ชื่อ กาเร็ต โพสโครีน-บาร์เนตต์ (Gareth Proskourine-Barnett) ยังรู้สึกขอบคุณจนถึงทุกวันนี้ เขาจะไกด์ให้รู้จักกับศิลปินคนอื่นๆ ที่เราน่าจะชอบ ช่วงนั้นป่านวาดรูปเยอะมาก เขาก็ไกด์เราว่า 'ยูไปทางนี้ดีนะ' หรือ 'ลองทำแบบนี้ไหม' มันสนุกมาก ป่านเลยคิดว่านี่แหละ เราอยากวาดรูป
"คือป่านวาดรูปไม่เหมือน แล้วมันมีคนทำแบบนี้คือไม่ต้องวาดเหมือนแล้วมันสวย พอกลับมาป่านเลยเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานในคลาสว่า ทุกงานที่ได้รับมอบหมายมาเราจะเทคว่ามันเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ซึ่งอาจารย์ที่จุฬาฯ ก็ดีมาก อาจารย์ที่ปรึกษาที่ดูแลธีสิสป่านเข้าใจ เขาไม่ได้ตัดสินป่านในฐานะดีไซเนอร์แล้ว เขาเข้าใจว่าเราชอบวาดรูป เราชอบศิลปะ ก็เลยผ่านมาได้"
✨ พื้นที่กว้างใหญ่และความเป็นไปได้ในการทำงาน
ช่วงที่เดินทางไปอังกฤษเธอมีโอกาสวาดรูปเยอะมาก จึงโพสต์ผลงานลงอินสตาแกรมของตัวเองไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นแบรนด์ kloset ติดต่อมาให้ออกแบบลายผ้า ซึ่งเธอบอกว่านั่นเป็นการทำงานร่วมกับแบรนด์เป็นครั้งแรก "มันก้ำกึ่งระหว่างแฟชั่นกับวาดรูป เรารู้สึกโชคดีตรงนี้ที่เราเข้าใจว่าทำยังไง เพราะเราเรียนแฟชั่นมา เวลาทำงานร่วมกับแบรนด์แล้วเรารู้ว่า เขาจะนำไปปริ้นต์แบบนี้มันมีข้อจำกัดอะไรบ้าง"
จากนั้นป่านจึงมีโอกาสเขียนคอลัมน์ที่เกี่ยวกับหนังและแฟชั่นให้กับนิตยสาร Cheeze ซึ่งในคอลัมน์นั้นมีสัดส่วนของภาพประกอบที่เธอวาดมากหน่อยตัวหนังสือน้อยหน่อย ตามความชอบที่เทไปทางวาดรูปมากกว่าการเขียน ก่อนที่จะหยุดเขียนคอลัมน์นี้แล้วจะเดินทางไปฝึกงานกับแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก nöe&zöe ที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี แล้วได้ประสบการณ์เพิ่มเติมตามมาด้วยโอกาสในการทำงานอีกมากมาย
"เป็นทริปที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมากๆ เลยค่ะ เพราะออฟฟิศเล็กมาก สตูดิโอมีแค่ 7-8 คน เลยได้ทำหลายอย่างไม่ใช่แค่ออกแบบลายผ้า ได้ทำแคตตาล็อก ถ่ายภาพ เสนอไอเดียทำสต็อปโมชั่น ได้ทำเยอะก็รู้สึกสนุกมาก ระหว่างนั้นก็จดบันทึกมาด้วย กลับมาเลยได้เขียนคอลัมน์เที่ยวลงใน Cheeze แล้วระหว่างอยู่ที่เบอร์ลินก็มีพี่เพลง (ต้องตา จิตดี) วง Plastic Plastic ติดต่อมาให้ทำปกอัลบั้มแรกให้" เธอเล่าด้วยน้ำเสียงที่มีชีวิตชีวา
ป่านพูดถึงผลงานออกแบบปกอัลบั้มของวง Plastic Plastic ว่า ปกอัลบั้มทั้ง 2 ชุด คือ Stay at Home (2559) และ Morning Vibes (2560) มีความเป็นตัวเองสูง เพราะทางวงส่งเพลงมาให้ฟังแล้วไม่กำหนดกรอบอะไรมาให้เลย และนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่คนเริ่มเห็นตัวตนของป่าน จนสามารถขยายพื้นที่ในการทำงานออกไปให้กว้างขึ้นกว่าที่เคย
"โชคดีมากเลยค่ะ พอเป็นฟรีแลนซ์เลยทำอะไรก็ได้เนอะ งานมันหลากหลายมาก พวกแบรนด์เสื้อผ้าก็มี เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ได้เขียนหนังสือ เขียนคอลัมน์ วาดภาพประกอบ ได้ไปเพ้นต์กำแพง แล้วก็ทำโมชั่นในคอนเสิร์ตด้วยค่ะ แต่หลักๆ คือเราสามารถทำงานอะไรก็ตามที่เราวาด แล้วเขาจะเอาไปใช้เป็นอะไรก็ได้"
ซึ่งหนึ่งในโจทย์ที่เธอได้รับมาแล้วกลายเป็นงานที่ชอบมากที่สุดงานหนึ่งคือ การทำโมชั่นในคอนเสิร์ต JOOX The Primary Colour Series EP2 : Over the Moon ซึ่งมี 4 ศิลปินมาเล่นในงานได้แก่ Polycat, The TOYS, Gym and Swim และ Safeplanet
ป่านเล่าถึงการทำงานแต่ละชิ้นที่ได้รับมอบหมายอย่างสนุกสนาน "มันมีหลายงานที่เราทำแล้ว โอ้โห... ขอบคุณที่มาจ้าง ตอนทำโมชั่นนี่สนุกมากเลยค่ะ ให้เป็นอันดับหนึ่งของงานที่สนุกที่สุดของปีที่แล้วเลย ยังงงว่าทำไมฟังใจถึงกล้าชวนป่านไปทำ
"คือตอนนั้นยังไม่มีความรู้เลยนะคะ ป่านก็ฟังเพลงของศิลปินแล้วแตกว่าใครจะเป็นอะไร อย่าง The TOYS เป็นแฝน POLYCAT เป็นแมวกับสายรุ้ง เราฟังแล้วเห็นเป็นอะไรก็ตีเป็นสตอรี่บอร์ดง่ายๆ แล้วทำใน iMovie แต่ว่าสนุกที่สุดคือตอนที่ป่านได้ไปคุมตอนไลฟ์ค่ะ มันจะมีเครื่องคอนโทรลได้ว่าจะขึ้นมาตอนไหน ใส่เอฟเฟคอะไร สนุกมากเลย เหมือนเราเล่นดนตรีแต่เป็นเวอร์ชั่นวิสชัวร์ รู้สึกว่าอยากทำอีก"
ผลงานประติมากรรมชิ้นใหญ่ที่โครงการดาดฟ้า ลาซาล 33
ส่วนลักษณะงานที่เธอชอบที่สุดคืองานที่ไม่มีโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์ส่วนตัว เช่น การทำนิทรรศการเดี่ยว I'll follow the sun (2560) ที่ Virus Space & Café กับ Please, Make Yourself at Home (2560) ที่ The Jam Factory หรือ Based on True Stories : A Duet Exhibition (2561) ซึ่งจัดคู่กับ เตว-จารุวัฒน์ น้อมรับพร ที่ Yelo House และ นิทรรศการเดี่ยว Nowhere Woman (2564-2565) ที่ VS Gallery เป็นต้น
เธอพูดถึงนิทรรศการเดี่ยว Nowhere Woman ซึ่งค่อยๆ ร้อยเรียงผลงานตลอดปีนั้นออกมา ทำให้เธอได้เห็นพัฒนาการทางความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง รวมถึงความแตกต่างของฝีแปรงและเทคนิคที่แสดงถึงความเป็นอิสระมากขึ้นกว่าเดิมว่า "น่าจะเป็นโชว์ที่ป่านชอบมากที่สุดในชีวิตที่เคยทำมาเลย จริงๆ มันเป็นโชว์เล็กๆ ที่ไม่ได้เยอะแยะเท่าโชว์อื่นที่เคยทำ แต่ป่านรู้สึกแฮปปี้กับมันที่สุด เห็นแล้วรู้สึกว่านี่คือชิ้นส่วนของตัวตนเรา ณ เวลานี้ ที่มันถูกกระจายออกมาเป็นผลงานในนิทรรศการ"
นิทรรศการ Nowhere Woman จัดแสดงบนผนังสีชมพู ซึ่งป่านต้องการสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมที่สังคมมีต่อผู้หญิง
ความหมายของ Nowhere Woman สามารถแปลตรงตัวว่า ผู้หญิงที่ไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ใดและไม่รู้ว่าจะดำเนินไปในทิศทางไหน ซึ่งเธอบอกว่าเป็นชื่อนิทรรศการที่ล้อกับคอลัมน์ Nowhere Girl ที่เขียนให้กับ a day ด้วย นอกจากนั้นยังมีแง่มุมอื่นจากผลงานที่สะท้อนความคิดและความรู้สึกที่ติดค้างอยู่ในใจของเธอตลอดช่วงปีที่ผ่านมาอีก
"ช่วงก่อนหน้านี้เราเริ่มสนใจการเมืองและประเด็นทางเพศมากขึ้น ป่านค่อยๆ วิเคราะห์งานศิลปะของตัวเองว่า ที่ผ่านมาตัวตนของผู้หญิงที่เราวาด มันสะท้อนความเป็นตัวตนเรา ความคิดของเรา มุมมองของเราในวิธีการมองเห็นผู้หญิง มองเห็นความงามในการวาดงานศิลปะออกมา
"ดังนั้น Nowhere Woman สามารถพูดถึงในแง่ของผู้หญิงที่อยู่ในประเทศที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวตนของเขาขนาดนั้น หรือพูดถึงในแง่ของความเป็นมนุษย์คนหนึ่งหรือพลเมืองในประเทศหนึ่งที่เขาไม่ค่อยมีเสียงก็ได้ ป่านรู้สึกว่า Nowhere Woman มันเปิดกว้างมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ผู้หญิงในบริบทที่ป่านจะเข้าใจก็ได้ ถ้าเป็นคนที่อยู่ในสังคมซึ่งไม่ได้รับสิทธิและเสรีภาพอย่างที่เราควรจะได้รับ น่าจะรู้สึกเชื่อมโยงกับนิทรรศการนี้ได้ในแง่ใดแง่หนึ่งค่ะ"
✨ การค้นหาความสมดุลของชีวิตและการทำงาน
ป่านเป็นคนหนึ่งที่คุ้นเคยกับการทำงานที่บ้านในฐานะศิลปินอิสระ และมีช่วงที่ต้องออกไปพูดคุยหรือจบงานนอกสถานที่บ้าง เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 งานบางส่วนจึงได้รับผลกระทบ แม้จะไม่มากนักเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ แต่ทำให้เธอมีเวลาทบทวนเรื่องราวการทำงานของตัวเองที่ผ่านมามากขึ้น
สิ่งที่ป่านมองเห็นคือ สัดส่วนของการทำงานเชิงพาณิชย์ ซึ่งสะท้อนภาพของการเป็นศิลปินในประเทศไทยชัดเจนขึ้นกว่าที่เคย "ป่านไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับโควิดหรือเปล่า แต่พองานน้อยลง มันทำให้ป่านได้มานั่งคิดว่าที่ผ่านมาเราทำงานอะไรลงไปบ้าง ป่านค้นพบว่า ป่านทำงานเพื่อขายของให้คนเยอะมากเลย แต่ว่ามันคือรายได้หลักของเรา
"แล้วมันทำให้ป่านคิดได้ว่า ศิลปินในไทย ถ้าไม่ได้ต้นทุนแข็งแรงอยู่แล้ว เราไม่ค่อยมีตัวเลือกในการทำงานมากขนาดนั้น สำหรับงานที่รายได้ดีเราต้องขายอะไรสักอย่างให้แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง เป็นสิ่งที่ป่านเพิ่งคิดได้ว่า ตั้งแต่เรียนจบมางานเราทิ้งอะไรไว้บ้าง หรือมันแค่ไปแปะบนโปรดักส์แล้วก็ผ่านไป"
ถึงกระนั้นเธอก็มองว่า การทำงานคอมเมอร์เชียลเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับศิลปิน "เราทำดีที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้ ป่านพยายามบอกตัวเองเสมอว่าให้บาลานซ์สิ่งนี้ แต่ว่าพอเราไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีสวัสดิการมาก เราจึงไม่มีทางเลือกในการเลือกทำงานได้ขนาดนั้น เพราะชีวิตเราต้องพึ่งพาเงินที่มีอยู่ประมาณนึง โดยเฉพาะเมื่อชีวิตสูงวัยกว่านี้
"ป่านไม่ได้โทษตัวเองหรือศิลปินคนอื่นที่ทำงานคอมเมอร์เชียล เพราะรู้สึกว่าเราไม่มีทางเลือก แต่มันทำให้เรามองเห็นโครงสร้างของสิ่งต่างๆ ซึ่งปัญหาเล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับเราที่แหละที่มันยึดโยงเข้ากับโครงสร้างใหญ่ๆ ของประเทศในทุกแง่มุม แล้วปัญหาเล็กๆ ที่เจอในชีวิตของเราจริงๆ คือเหตุผลที่ทำให้เราสนใจเรื่องการเมือง"
เมื่อรู้ว่าต้องหาความพอดีระหว่างการทำงานศิลปะและการทำงานเชิงพาณิชย์แล้ว เธอจึงมีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของตัวเองให้มีความสมดุลไปพร้อมๆ กัน โดยให้เวลาพักผ่อนกับตัวเองมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการเป็นฟรีแลนซ์ทำให้เธอไม่ได้แบ่งเวลาการทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวเป็นสัดเป็นส่วนมากนัก
"ช่วงหลังๆ พ่อป่านไปทำงานเรื่องสหภาพคนทำงาน ทำให้เราเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของระบบทุนนิยม แล้วสะท้อนวิธีการทำงานของเรากลับมา ป่านจึงมีวิธีการจัดการในการทำงานที่เปลี่ยนไปนิดนึงคือ ป่านแบ่งเวลาให้ตัวเองพักผ่อนได้เยอะขึ้นให้แน่นอนเลย เพราะเมื่อก่อนเราเป็นฟรีแลนซ์แล้วไม่ได้แบ่งเวลาชัดเจน พอมีงานที่เราชอบอยู่แล้วเข้ามา เราก็ทำ
"แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายอย่างที่เราอยากทำด้วย เช่น เราอยากมีเวลานั่งเฉยๆ หรือไปกินอาหารอร่อยกับเพื่อน ซึ่งป่านรู้สึกว่า ชีวิตมันไม่ได้ยากขนาดที่เราต้องโปรดักทีฟตลอด พอมันไม่โปรดักทีฟแล้วเรารู้สึกผิดอะไรอย่างนี้ เรารู้สึกว่าวิธีการแบ่งเวลาทำงานมันน่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยน"
✨ งานศิลปะที่จับต้องได้
นอกเหนือจากงานวาดภาพและการออกแบบไม่จำกัดประเภทที่เธอรับทำแล้ว ป่านยังออกแบบสินค้าอย่างหมวก เสื้อยืด เดรส กระเป๋า และผ้าพันคอ ออกมาจำหน่ายภายใต้ชื่อจูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์ อีกด้วย
เธอเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการทำสินค้าก็มาจากความอยากเก็บเงินไปเที่ยวเท่านั้นเอง "จริงๆ มันเริ่มจากแค่นั้นเลยนะคะ คืออยากเก็บตังค์ไปเที่ยว แล้วเราก็เรียนแฟชั่นทำให้รู้ว่าจะเอางานของเรามาทำสินค้าอะไรได้บ้าง แต่พอมาทำเราก็รู้สึกว่า เอ้ย! มันสนุก คนที่ใส่เขาก็ดูแฮปปี้ บางคนซื้องานเพ้นติ้งเราไม่ได้ แต่เขาซื้อเสื้อยืดราคา 300 บาทจากเราได้ แล้วมันก็เป็นงานศิลปะเหมือนกัน"
ป่านเล่าให้ฟังว่าตอนไปขายเสื้อยืดที่งาน CAT T-SHIRT ทำให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนและรู้ผลตอบรับจากคนที่มาเลือกซื้อสินค้าด้วย ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นและความรู้สึกของคนซื้อก็ทำให้รู้ว่าสินค้าของเธอมีความหมายกับคนอื่นๆ ต่างไป
"ส่วนใหญ่ที่ขายดีที่สุดคือเสื้อยืดเนอะ ผลตอบรับก็ดี คนส่วนใหญ่ชอบเพราะเขาจำได้ว่ามันมาจากหนังเรื่องอะไร หรือข้อความที่เขาเห็นเชื่อมโยงอะไรกับเขา แล้วก็รู้สึกดีเวลาเห็นคนซื้อผ้าพันคอแล้วเอาไปใส่กรอบแต่งบ้าน เหมือนเป็นงานศิลปะ ทั้งๆ ที่ตอนแรกเราตั้งใจทำแค่ให้เห็นผ้าพันคอ ป่านว่าน่ารักดีนะคะ เขาถ่ายรูปมาให้ดูด้วย"
โดยไม่รู้ตัว เธอได้นำศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนที่ซื้อสินค้าของเธอแล้ว
✨ความรู้สึกคือเครื่องมือในการทำงานและอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานมากกว่าที่เคย
ไม่ว่าผลงานของเธอจะไปปรากฎอยู่บนสินค้า พื้นผิว หรือสถานที่ไหน เอกลักษณ์ในงานของจูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์ ที่ผู้พบเจอสัมผัสได้คือ การใช้สีวาดภาพที่ให้ความรู้สึกตรงไปตรงมาไร้เดียงสา ผ่านฝีแปรงที่ลงลายเส้นเด่นชัดแบบดิบๆ อีกทั้งไม่เกรงกลัวที่จะเลือกใช้สีสันอย่างที่ใจต้องการ
"คือป่านไม่ชอบอะไรเล็กๆ สีไม้มันเล็กมากนานกว่าจะถมเต็ม เลยชอบใช้สีอะคลิลิกที่สุด มันง่ายแล้วมันทันใจ แห้งปุ๊บแล้วทับได้ มีเท็กซ์เจอร์ ป่านว่ามันน่าจะคล้ายๆ นิสัยศิลปินที่วาด อย่างคนที่ใช้สีน้ำเขาจะมีความใจเย็น มีเทคนิค รอน้ำได้ แล้วก็สะอาด สีอะคริลิกมันชึบชับได้"
สอดรับกับนิสัยการทำงานที่รวดเร็วของเธอที่บอกว่ามักจะไม่ค่อยคิดเยอะ ที่สำคัญเวลาตั้งใจมากเกินไปจะทำให้ชิ้นงานออกมาดูแข็ง การทำงานแบบนี้จึงมักจะปรากฏออกมาเป็นชิ้นงานที่สร้างความเซอร์ไพร์สให้กับเธออยู่เสมอ
"ป่านว่าศิลปินทุกคนงานก็คือตัวเขา ของป่านก็เหมือนกัน ตั้งแต่เกิดเราถูกเลี้ยงมายังไง ได้ไปสถานที่ไหน มีเพื่อนแบบไหน ดูหนัง อ่านหนังสือ มีบทสนทนาอะไรบ้าง ทะเลาะกับคนๆ นี้อาจจะเปลี่ยนวิธีคิดเปลี่ยนมู้ดบางอย่างในงาน งานของป่านถ้าย้อนกลับไปดูของปีที่แล้วมันก็ไม่เหมือนเดิม ในสายตาป่านนะ ช่วงนั้นเราอินกับอะไรเราก็วาดสิ่งๆ นั้น มันออกมาโดยธรรมชาติ คือเราไม่ได้มานั่งคิดว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้"
ดังนั้นผลงานที่ถ่ายทอดออกมาในแต่ละช่วงเวลา จึงเป็นเหมือนการทดลอง บันทึกประสบการณ์ทางอารมณ์ ความรู้สึก และการเติบโตทางความคิดของเธอ และหากจะให้กลับไปวาดแบบเดิมอย่างที่ผ่านมาก็ทำไม่ค่อยเป็นแล้ว อย่างที่ป่านเล่าถึงผลงานในนิทรรศการ Nowhere Woman ก่อนหน้านี้ว่า ในนิทรรศการเดียวทำให้เธอมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในการทำงานของตัวเองชัดเจนขึ้นมาก
เธอเห็นการเปลี่ยนผ่านของวิธีลงสี เช่น ถ้าสีเยิ้ม เธอจะปล่อยให้มันไหลเยิ้มไป หรือเครื่องมือที่ใช้เพ้นต์เมื่อก่อนอาจจะมีแค่พู่กัน แต่เดี๋ยวนี้อาจจะใช้นิ้วหรือของที่อยู่ใกล้ตัวมาใช้ลงสีบทภาพเลย
"ป่านรู้สึกว่าวิธีมันอิสระขึ้น น่าจะไปพร้อมๆ กับความคิดของเราด้วย ทั้งวิธีที่เราแสดงออก เรื่องราวที่เราเล่า เรากล้าแตะเรื่องบางเรื่องที่เมื่อก่อนอาจจะไม่รู้สึกสะดวกใจ แต่เดี๋ยวนี้เราสามารถถ่ายทอดออกมาได้ อาจจะยังไม่ได้ทั้งหมด แต่กล้าที่จะเล่าเรื่องที่มีความหลากหลายขึ้นค่ะ"
The Sun Will Rise Again ที่ร่วมแคมเปญ Survival Gift กับ happening เป็นงานที่แบ่งปันความหวังให้กับทุกคนที่เผชิญกับสถานการณ์โควิดร่วมกัน
✨การทำหน้าที่ของศิลปะกับความต้องการที่แท้จริง
ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นการสื่อสารทางความคิดของ จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์ ด้วยศิลปะ ผ่านกิจกรรมด้านสังคม สิทธิมนุษย์ชน และการเมืองอยู่บ่อยครั้ง เช่น วาดภาพเพื่อสมทบทุนบริจาคให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด ร่วมกับ happening ในแคมเปญ Survival Gift, เปิดประมูลผลงานเพื่อสมทบทุนโครงการ ผู้ป่วยข้างถนน ของมูลนิธิกระจกเงา,
หรือการนำภาพวาดไปร่วมกับกลุ่ม BREATH เพื่อหารายได้สมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโควิด-19, ให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวนำผลงานของเธอไปผลิตเสื้อยืด นำรายได้ไปสนับสนุนกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยต่างๆ รวมถึงการนำผลงานไปร่วมจัดแสดงในนิทรรศกี นิทรรศการที่พูดถึงประจำเดือน ที่มุ่งหวังที่จะทลายอคติทางเพศอีกด้วย
เธอพูดถึงเหตุผลที่ทำให้เธอกล้าสื่อสารเรื่องที่อยู่ในใจออกมาว่า "เราน่าจะมั่นใจในเสียงของตัวเองมากขึ้น เหมือนเรารู้ว่า เราทำสิ่งนี้แล้วไม่ผิด มันคือเสรีภาพที่เรามีสิทธิ์ที่จะแสดงออกได้ ซึ่งเมื่อก่อนเราก็รู้ แต่เราอาจจะไม่มั่นใจมากพอ ไม่เชื่อในแพสชั่นของเรามากพอ"
เราจึงถามว่า แล้วทำไมเธอถึงมีความมั่นใจเกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งคำตอบของเธอทำให้เรารู้ว่า คนในสังคมมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความกล้าในการแสดงออกทางความคิดเห็นมากทีเดียว
"ไม่ใช่แค่ตัวเราเอง จริงๆ ที่สำคัญคือสังคมรอบข้างด้วยที่ทำให้เรากล้า ป่านรู้สึกว่าแต่ก่อนไม่ค่อยมีใครยกประเด็นที่ละเอียดอ่อนขึ้นมาพูดคุยกันในสังคม พอมันมีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มคนมากมาย ไม่ใช่แค่ศิลปินเอง แต่ทั้งประชาชนภาคส่วนอื่นด้วย มันสร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากเข้าร่วมไปกับเขา มั่นใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันถูกต้อง และเป็นสิ่งที่ควรทำ"
เมื่อถามถึงความต้องการที่แท้จริงในการทำงานศิลปะของเธอ เราก็พบว่าจุดประสงค์ของป่านนั้นเรียบง่าย และไม่ได้ฉูดฉาดเหมือนสีสันที่ปรากฏอยู่ในผลงานเลย แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ อาจจะต้องรอให้ปมปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่คลี่คลายลงเสียก่อน
"ป่านคิดในแง่ของพลเมืองคนหนึ่งที่ประกอบอาชีพศิลปะว่า เรามีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากแค่ไหน ป่านไม่ได้มองว่าสุดท้ายแล้วจูลี่ เบเกอร์ ต้องหยุดงานคอมเมอร์เชียลแล้วมาทำงานอุทิศตนเพื่อสังคมหรืออะไรขนาดนั้น เพราะจริงๆ เราแค่อยากตื่นมาวาดรูป ได้กินอาหารอร่อย แค่นั้นแหละ บางคนอาจจะอยากทำอะไรเพื่อบางสิ่ง
"สำหรับป่านเอง ป่านไม่ได้อยากให้ชีวิตตัวเองมีความหมายขนาดนั้น แต่ชีวิตที่เรียบง่ายแบบนั้นมันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมาก ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกขัดแย้งอยู่ในใจนะ ป่านยังทำได้ไม่ดี แต่เรายังต้องทำมาหากิน"
ความต้องการของป่านอาจจะตรงกับใครอีกหลายคน ที่กำลังเฝ้ารอเวลาที่จะได้พบกับความสุขง่ายๆ กันเสียที
✨ ความเชื่อในพลังของศิลปะ
การพูดคุยที่เริ่มตั้งแต่ความชื่นชอบที่มีต่อศิลปะ การสร้างสรรค์ผลงานส่วนตัวและการทำงานเชิงพาณิชย์ ไปจนถึงการนำศิลปะมาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในสังคม ทำให้เรามองเห็น จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์ หลายแง่มุมที่มากกว่าความเฉพาะตัวของลายเส้นและสีสันที่สดใสของเธอ โดยสิ่งที่เป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลังนั้นคือ พลังของศิลปะ
"ป่านเชื่อในพลังของศิลปะ ป่านว่ามนุษย์ขาดศิลปะไม่ได้ จริงอยู่ที่มนุษย์ต้องการปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต แต่สำหรับป่านศิลปะมันเป็นอาหารสำหรับจิตวิญญาณ (Food for the soul) ถ้าเรามีชีวิตโดยไม่มีจิตวิญญาณ มันก็เหมือนไม่มีชีวิตอยู่ดี เรารู้สึกว่าฟังก์ชั่นของศิลปะจริงๆ แล้วมันไม่ต้องยิ่งใหญ่ขนาดนั้นก็ได้
อย่างเราอกหักแล้วเราฟังเพลงเศร้า ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว เล็กๆ แค่นั้นก็ได้ แต่แค่นั้นจริงๆ มันไม่เล็กนะ สำหรับป่านมันก็ยิ่งใหญ่ มันไม่ใช่อะไรที่เสื้อผ้า ที่อยู่ อาหาร หรือ ยารักษาโรคจะทำได้ มันต้องเป็นบทเพลงหรือหนังสักเรื่องที่เปลี่ยนความคิดคนได้ หรือการแสดงที่ทำให้เราดูแล้วกลับไปตั้งคำถามกับอะไรสักอย่าง ป่านคิดว่ามันเป็นวิธีการสื่อสารที่มีความเป็นมนุษย์"
ความใส่ใจต่อความเป็นไปในสังคม การเมือง และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ป่านซึมซับความรู้สึกมากมายเข้ามาสะสมไว้ในตัวเอง แต่เธอเลือกที่จะใช้ศิลปะแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำงานวาดภาพในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและยืนหยัดในความถูกต้อง พร้อมๆ กับสื่อสารความคิดที่ผลิบานขึ้นในตัวตนตามวันเวลา
จุดยืนทางความคิดของป่านทำให้เรามั่นใจได้ว่า จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์ จะใช้พลังของศิลปะอย่างสร้างสรรค์และงดงาม โดยเฉพาะในวันที่เธอใช้หัวใจควบคุมทิศทางของลายเส้นและสีสันอย่างมีอิสระ ด้วยความตระหนักถึงหน้าที่ของศิลปะที่รับใช้มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม
อ่านบทความ 'juli baker and summer อิสระของหัวใจที่ใช้ศิลปะสื่อสารความเป็นไปในชีวิต' ฉบับเว็บไซต์ได้ที่นี่
โฆษณา