7 ส.ค. 2022 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา Apple จากทำโรงงานเอง สู่การจ้างคนอื่น ผลิตสินค้าให้ทั้งหมด
9
233 ล้านเครื่อง คือจำนวน iPhone ที่ผลิตได้ในปี 2021
ซึ่งในจำนวนนี้ Apple มีหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้ดีไซน์เท่านั้น
ส่วนหน้าที่ในการผลิต จะถูกส่งต่อไปผลิตตามบริษัทที่ Apple จ้างให้ผลิตอีกทีหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน
3
เวลาเราพลิกไปดูด้านหลังกล่องของ iPhone
เราก็จะเห็นคำว่า “Designed by Apple in California”
แต่ประกอบขึ้นในจีน เสียเป็นส่วนใหญ่
2
ทำไม Apple ถึงทำแบบนี้ ? BrandCase วิเคราะห์เคสนี้ให้อ่านกันแบบง่าย ๆ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1984 หรือเมื่อ 38 ปีก่อน สตีฟ จอบส์ ได้เปิดตัวคอมพิวเตอร์ Macintosh ที่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นแรก ๆ ของ Apple
ในตอนนั้น Apple ก่อตั้งโรงงานขึ้นที่เมือง Fremont ทางตอนเหนือของซิลิคอนแวลลีย์ โดยตั้งใจให้เป็นโรงงานสำหรับผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล Macintosh
สตีฟ จอบส์ ต้องการให้โรงงานสามารถผลิตได้ครั้งละมาก ๆ หรือก็คือ Mass Production
แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในตอนนั้น ยังไม่มากขนาดที่จะผลิตครั้งละเยอะ ๆ จนทำให้ต้นทุนลดลงมาก ๆ ได้
6
นอกจากนี้ โรงงานของ Apple ยังมีปัญหาภายในเกี่ยวกับการผลิต
ไม่ว่าจะเป็น การผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย ปัญหาด้านคุณภาพ และปัญหาเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง
3
ซึ่ง Apple เองก็ไม่สามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ จึงทำให้โรงงานต้องปิดตัวลงไปในปี 1992 และเป็นเหตุให้บริษัทต้องประสบกับปัญหาด้านการเงินในเวลาต่อมา
4
ต่อมาในปี 1997 ทิม คุก ที่เคยเป็นกำลังหลักของ Compaq บริษัทคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น ก็ถูก สตีฟ จอบส์ ชวนให้เข้ามาร่วมงานที่บริษัท Apple
3
และทิม คุก ได้นำหลักการ “Just In Time” มาใช้ เหมือนกับตอนที่เขาทำงานอยู่ที่บริษัท Compaq
 
โดยเปลี่ยนจากการผลิตเพียงเพื่อสต็อกของ ไปเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อจากลูกค้าแทน โดยให้ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผลิตสินค้าออกมาให้พอดี ตามคำสั่งซื้อจากลูกค้า และนำมาส่งให้ทันเวลา
1
ซึ่งด้วยระบบการคำนวณ และการคาดการณ์ของ Apple ตอนนั้น
ก็สามารถนำวัตถุดิบไปผลิตสินค้า และส่งออกไปหาลูกค้าได้ทันที โดยไม่มีสินค้าค้างสต็อก
1
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มมีมากขึ้น จนโรงงานของ Apple เริ่มไม่สามารถผลิตสินค้าในปริมาณมากได้ทันเวลา
1
ซึ่งถ้าตัดสินใจสร้างโรงงานขนาดใหญ่ขึ้นมา เพื่อรองรับปริมาณการผลิตที่มากขึ้น ก็ต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลไปกับการลงทุน ซึ่งก็จะส่งผลต่อสภาพคล่องของบริษัท
Apple จึงเลือกที่จะไปจ้างผลิตแทน โดยเริ่มมองหาซัปพลายเออร์ ที่พร้อมผลิตสินค้าในปริมาณมาก ๆ ได้ พร้อมทั้งลดจำนวนโกดัง และโรงงานผลิตสินค้าของ Apple ลงทั่วโลก
ในช่วงเวลานั้น ก็มีบริษัท Foxconn บริษัทสัญชาติไต้หวัน ที่รับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกำลังเติบโต และขยายฐานการผลิตไปทั่วโลก
3
บริษัท Apple จึงตัดสินใจจ้าง Foxconn เพื่อผลิต iMac คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปี 2000
โดยตั้งโรงงานผลิต iMac ที่สาธารณรัฐเช็ก ในทวีปยุโรป เพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้ใช้งานในประเทศตะวันตก
ต่อมา Apple ก็ได้จ้างบริษัท Foxconn ที่ตั้งโรงงานอยู่ในประเทศจีน ให้เป็นผู้ผลิต iPhone, iPad และ MacBook
1
ซึ่งสาเหตุหลักที่ต้องเลือกประเทศจีน เป็นฐานการผลิตสินค้าให้กับ Apple นั่นก็เพราะว่า
2
ประการที่ 1: มีแรงงานที่มีฝีมือ และค่าแรงที่ยังไม่สูงมาก
จากการที่เมืองเซินเจิ้นของจีน ถูกประกาศให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 1979 ทำให้เมืองนี้มีความล้ำหน้าในเรื่องการศึกษา และเทคโนโลยีต่าง ๆ มากกว่าเมืองอื่น ๆ ในประเทศจีน
2
ทำให้การตั้งโรงงานที่นี่ สามารถจ้างแรงงานฝีมือ ที่มีความรู้และทักษะทางวิชาชีพต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก
ตั้งแต่วิศวกร ช่าง ไปจนถึงพนักงาน ด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศอื่น
2
ประการที่ 2: ระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีความพร้อม
 
ในช่วงหลังจากปี 2003 เป็นต้นมา ประเทศจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
จึงทำให้ที่นี่ กลายเป็นแหล่งรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ครบครัน
1
โดยในปี 2021 มีซัปพลายเออร์ในจีน ที่ผลิตอุปกรณ์ให้กับ Apple มากกว่า 360 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 46% ของซัปพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple ทั้งหมด
1
ประการที่ 3: รองรับตลาดเอเชีย
การตั้งโรงงานที่ประเทศจีน เป็นเหมือนศูนย์กลางโลจิสติกส์ ที่สามารถขนส่งสินค้าทั้งในประเทศจีนเอง และประเทศอื่นได้ โดยเฉพาะประเทศในทวีปเอเชีย ทำให้ต้นทุนด้านการขนส่งนั้นถูกลง
3
ซึ่งในปี 2021 รายได้ของบริษัท Apple กว่า 1 ใน 3 เป็นรายได้ที่มาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
1
จวบจนถึงปัจจุบัน บริษัท Apple เป็นเพียงผู้วิจัย พัฒนา และขายสินค้า
1
ส่วนในด้านการผลิตสินค้า ก็จะจ้างผู้ผลิตที่มีความชำนาญในแต่ละเทคโนโลยี มาผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple
เช่น การจ้างบริษัท Sony เพื่อผลิตเซนเซอร์กล้อง
จ้างบริษัท Samsung และบริษัท LG ผลิตหน้าจอ OLED
และจ้างบริษัท Foxconn ประเทศจีน เป็นฐานการประกอบชิ้นส่วนของ Apple
3
เนื่องด้วยห่วงโซ่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชีย จะสามารถลดต้นทุนได้มาก
ทั้งในเรื่องของต้นทุนสินค้าจากซัปพลายเออร์ที่ราคาถูก
ลดปัญหาสินค้าคงคลัง ต้นทุนค่าแรง และค่าขนส่ง
ซึ่งถือว่าเป็นการทำ Lean ในแบบฉบับของ Apple ที่แทบจะไม่ได้ผลิตสินค้าด้วยตัวเองเลย
1
นอกจากนี้ หลังจากที่ ทิม คุก มารับช่วงต่อจาก สตีฟ จอบส์ เขาได้สร้างภาพลักษณ์ ให้สินค้าของ Apple ดูดี หรูหรา และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
พร้อม ๆ กับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ ให้กับสินค้าที่ออกมาใหม่ ให้มีความรวดเร็ว และใช้งานได้อย่างหลากหลายมากขึ้น
1
ทำให้สินค้าที่ออกมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad หรือ MacBook รุ่นใหม่ สามารถขายได้ในราคาที่แพงขึ้น
7
ในขณะที่เขาเองก็ได้พยายามร่วมมือกับโรงงาน Foxconn และโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนรายอื่น ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่โรงงานอยู่ตลอดเวลา
2
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้ผลประกอบการของ Apple เติบโตขึ้นได้เรื่อยมา แถมยังมีอัตรากำไรสุทธิที่สูงขึ้นอีกด้วย
2
โดยจะเห็นได้จากกำไรสุทธิ และอัตรากำไรสุทธิในแต่ละช่วงเวลา
ปี 2005 มีกำไรสุทธิ 48,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 9.6%
ปี 2013 มีกำไรสุทธิ 1,346,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 21.7%
ปี 2021 มีกำไรสุทธิ 3,440,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 25.9%
5
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบันสินค้า iPhone กว่าครึ่งหนึ่ง ถูกผลิตที่โรงงาน Foxconn ในเมืองเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
1
ซึ่งโรงงานแห่งนี้ มีพนักงานกว่า 350,000 คน และสามารถผลิต iPhone ได้ 500,000 เครื่องต่อวัน..
2
โฆษณา