7 ส.ค. 2022 เวลา 14:18 • การศึกษา
ทฤษฎีการฆ่าตัวตาย
ทฤษฎีมีที่มา ในครั้งนี้ขอนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องที่เรามักเห็นกันตามสื่อสาธารณะทั่วไปที่เสนอข่าวการฆ่าตัวตายหลายกรณี หลากเหตุปัจจัย จนเกิดความสงสัยใคร่รู้ที่จะศึกษาเรื่องการฆ่าตัวตายของคน และทำให้ได้พบข้อมูลอันน่าตกใจว่า องค์กรอนามัยโลกได้รายงานว่าการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึงร้อยละ 1.4 ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก โดยในแต่ละปีมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 800,000 คน ซึ่งก็คือ ในทุกๆ 4 วินาที จะมี 1 คนที่กระทำการฆ่าตัวตายสำเร็จ !!!
การฆ่าตัวตายที่เราได้ยินกันบ่อยๆ หรือเรียกได้อีกชื่อคือ อัตวินิบาตกรรม (Suicide) ตามความหมายของพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “อัต” แปลได้ว่า ตน หรือ ตัวเอง “วินิบาต” แปลว่า การทำลาย หรือ การฆ่า ดังนั้นเมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายว่า การกระทำให้ตนเองถึงแก่ความตายอย่างตั้งใจ ซึ่งมีความหมายไปในทางเดียวกับภาษาอังกฤษคำว่า Suicide อันมาจากการรวมภาษาละตินสองคำ คือ cide หมายถึง การฆ่า (killing) และคำว่า sui หมายถึง ตนเอง (oneself)
การฆ่าตัวตาย มีมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งในบางสังคมวัฒนธรรม การฆ่าตัวตายเป็นการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรี การแสดงความซื่อสัตย์ ความเคราพ ความจงรักภัคดี หรือแม้แต่ถูกมองว่าเป็นหนทางที่จะหนีจากความทุกข์ทางโลกไปสู่ภาวะที่วิญญาณถูกช่วยให้พ้นทุกข์ เพราะมีความเชื่อที่ว่าชีวิตหลังความตายคือทางแห่งความรอดเข้าสู่ดินแดนของพระเจ้า
นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศษ นามว่า เอมิล ดูร์ไคม์ (Emile Durkheim) กล่าวว่า สาเหตุที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายของบุคคลแต่ละคนนั้นมีความหลากหลาย โดยเขาได้ใช้วิธีทางสถิติเก็บข้อมูลคนที่ฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมากในหลายสังคม แล้วนำสาเหตุการฆ่าตัวตายมาจำแนกออกเป็น 3 แบบ คือ
แบบ Egoistic Suicide การฆ่าตัวตายเพื่อตนเอง ด้วยปัญหาของตนเอง ครุ่นคิดแต่เรื่องของตนเอง ขาดที่พึ่งพิงทางจิตใจ รู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาผู้อื่นได้เมื่อเจอปัญหา รู้สึกโดดเดี่ยว และกลายเป็นผู้อ่อนไหวต่อการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ความรู้สึก ภาวะทางจิตใจเป็นแบบเฉยเมยไม่ใยดีต่อชีวิตและไม่คำนึงถึงผลของการฆ่าตัวตายของเขาต่อผู้อื่น
แบบ Altruistic Suicide การฆ่าตัวตายที่เสียสละชีวิตเพื่อผู้อื่น ต่างจากแบบ Egoistic เนื่องจากว่าผู้กระทำการได้หลอมรวมตนเองเข้าไปกับกลุ่มหรือสังคมนั้นอย่างเหนียวแน่น ยินดีตายตามคำเรียกร้องของสังคมโดยไม่คำนึงถึงว่าชีวิตของตนนั้นมีค่าแก่การควรรักษา การนำตนเองไปสู่ความตายถูกมองมีความหมายและน่ายกย่องโดยส่วนใหญ่จะเป็นการฆ่าตัวตายตามความเชื่อทางศาสนาหรือการพลีชีพเพื่อสร้างวีรกรรม
ตัวอย่างเช่น ทหารที่ต่อสู้เพื่อป้องกันประเทศหรือการพลีชีพเพื่อปกป้องศาสนาของชาวมุสลิมที่เรียกกันว่า ญิฮาด (Jihad) ภาวะทางจิตใจของคนแบบนี้จะมีอารมร์รุนแรงและเต็มไปด้วยพลัง
แบบ Anomic Suicide การฆ่าตัวตายที่เกิดจากภาวะไร้บรรทัดฐาน หรือภาวะที่ปราศจากกฏเกณฑ์ “lack of rules” ของสังคม ในยามที่สังคมขาดประสิทธิภาพในการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม คนในสังคมไม่อยู่ภายใต้ขนบธรมเนียมประเพณีหรือบรรทัดฐานทางสังคมทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง มีความสับสนว่าอะไรถูกอะไรผิด
และในอีกแนวคิดหนึ่งของเขาการฆ่าตัวตาย แบบ Anomic Suicide มักเกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่เศษฐกิจเติบโตทำให้คนมีความคาดหวัง มีการแข่งขันสูง และถูกกดดันด้วยความหวังและความฝันของตนเอง เมื่อ “ฝันไม่เป็นจริง” ก็นำไปสู่ความผิดหวัง สิ้นหวัง และการฆ่าตัวตาย ภาวะทางจิตใจของคนแบบนี้เป็นความโกรธเคืองที่ไม่สมปรารถนา
ถึงแม้ในความเป็นจริง เราอาจจะไม่สามารถหยุดยั้งการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ แต่การตะหนักรู้ถึงสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตายนั้น อาจเป็นสิ่งหยุดยั้งตัวเรา คนที่เรารัก จากการกระทำการอัตวินิบาตกรรม หรืออย่างน้อยก็ทำให้เข้าใจได้ว่าทุกการกระทำของมนุษย์นั้น มีเหตุแห่งที่ของมันอยู่เสมอ
ที่มาข้อมูล :
สุภางค์ จันทวานิช.2555. ทฤษฎีสังคมวิทยา : ทฤษฎีสังคมวิทยาคลาสสิค.สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
รตพร ปัทมเจริญ.2562.บทความวิชาการ การฆ่าตัวตาย : ปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม.วารสารวิชาการคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2.
โฆษณา