10 ส.ค. 2022 เวลา 00:48 • หนังสือ
สูดหาคู่
Photo by Lindsey Savage on Unsplash
เรื่องของ “กลิ่น” เป็นความลึกลับที่สร้างความงุนงงแก่นักวิทยาศาสตร์มานานแล้ว
“กลิ่น” คืออะไรกันแน่ และคนเรารับรู้กลิ่นได้อย่างไร ?
ก่อนหน้านี้สมมติฐานหลักมักจะเป็นว่า ตัวรับกลิ่นในจมูกของเรา ตอบสนองต่อ “สารบางอย่าง” ดังที่เราได้ยินได้ฟังเรื่องของ ฟีโรโมน (pheromone) ซึ่งแมลงและสัตว์หลายชนิดใช้เย้ายวนใจเพศตรงข้าม แต่นอกจากชนิดของสารแล้ว กลิ่นยังเป็นผลจากสิ่งอื่นได้ด้วยเช่นกัน
มีงานวิจัยที่ชี้ว่าสาร 2 ชนิดที่มีรูปร่างแตกต่างกัน ต่างก็ทำให้เกิด “กลิ่นหวาน” แบบเดียวกันได้สำหรับผู้เข้าร่วมทดลอง สิ่งที่สารทั้งคู่มีเหมือนกันคือ จังหวะการสั่นไหวโครงสร้างของพวกมัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์หัวแหลมสามารถใช้ความรู้นี้สังเคราะห์น้ำหอมชนิดใหม่ที่ปลอดภัยขึ้น จากต้นแบบโครงสร้างของสารให้กลิ่นหอมชนิดหนึ่งที่เป็นพิษเกินกว่าจะใช้เป็นน้ำหอมได้
เมื่อกล่าวถึงน้ำหอม หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามันมีส่วนประกอบที่พิสดารมิใช่น้อย โดยเฉพาะน้ำหอมรุ่นโบราณ
ปกติแล้วน้ำหอมจะมีส่วนประกอบพื้นฐานที่สุดเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่ให้กลิ่นหอม ส่วนนี้มักจะประกอบด้วยสารระเหยง่ายที่มีขนาดของสารเล็ก (หมายถึงขนาดของโมเลกุล) และส่งกลิ่นเข้มข้นมาก โดยมักเป็นส่วนที่สกัดมาจากพืชให้กลิ่นหอมชนิดต่างๆ
https://unsplash.com/photos/a5917t2ea8I
ส่วนที่สองประกอบด้วยสารจำเพาะเรียกว่า แฟรงคินเซนส์ (frankincense) ซึ่งจะเป็นตัวทำให้น้ำหอมมีกลิ่นหอม “กลมกลืน” ถ้วนทั่วกัน
หน้าที่อีกอย่างของสารพวกนี้ก็คือ ใช้กลบกลิ่นของสารกลุ่มสุดท้ายที่จะกล่าวถึงต่อไป ซึ่งคล้ายกับฮอร์โมนเพศของกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมักจะมีกลิ่นฉุน
สำหรับส่วนประกอบสุดท้ายก็คือสารพวกที่ “มีน้ำหนัก” สักหน่อย เพราะต้องคอยทำให้กลิ่นน้ำหอมติดอยู่กับตัวให้ได้นานๆ
สารประกอบกลุ่มสุดท้ายนี้ก็ที่มาที่ไปชวนให้คาดไม่ถึงอีกเช่นกัน หนึ่งในสารกลุ่มที่ใช้กันอย่างกว้างขวางเรียกว่า มัสค์ (musk) ซึ่งให้กลิ่นปนๆ กันระหว่างกลิ่นสัตว์และแก่นไม้ เป็นสารที่สกัดจากต่อมกลิ่นแถวๆ ก้นของสัตว์จำพวก African civet cat หรือไม่ก็ตัว musk deer
สารอีกชนิดหนึ่งในกลุ่มนี้ที่พิสดารหนักเข้าไปอีกก็คือ แอมเบอร์กริส (ambergris) ซึ่งเป็นสารแบบขี้ผึ้งที่ได้มาจากวาฬหัวทุย (sperm whale) ซึ่งสำรอกออกมา เพราะระคายเคืองกระเพาะอาหาร
บางคนเรียกว่าเป็น “ขี้ (ปลา) วาฬ” ซึ่งอาจจะสับสนได้ เพราะคำเดียวกันนี้ยังใช้เรียกกรณีที่เกิดน้ำเสียอย่างกว้างขวาง จากการที่แพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
แอมเบอร์กริสใหม่ๆ นี่ว่ากันว่า กลิ่นฉุนสุดทนกันเลยทีเดียว แต่เมื่อทิ้งไว้เจอกับอากาศและน้ำทะเลนานเข้า มันก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นกลิ่นหอมละมุนขึ้นมาได้
ความที่เป็นของหายากมากและเป็นที่ต้องการ เจ้าสารที่ว่านี่จึงมีราคาไม่แพ้ทองคำเลยทีเดียว
Photo by Bundo Kim on Unsplash
แต่ปัจจุบันทั้งมัสค์และแอมเบอร์กริสต่างก็ถูกแทนที่ด้วยสารสังเคราะห์ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะบรรดาสัตว์ต่างๆ ที่เอ่ยมาข้างต้น ล้วนกลายเป็นสัตว์สงวนหรือสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือกลิ่นที่ดอกไม้สร้างขึ้นตามธรรมชาติและเราเอามาทำน้ำหอมนั้น มักเป็นกลิ่นที่ทำเลียนแบบกลิ่นฟีโรโมนของแมลงที่ใช้ปล่อยล่อให้เพศตรงข้ามมาผสมพันธุ์ด้วย
คนจึงโดนกลิ่นดอกไม้หลอกล่อไม่ต่างจากแมลงที่พืชจงใจหลอกเลย !
อันที่จริงแล้ว คนเราใช้จมูกในการเลือกคู่คล้ายกับแมลงเช่นกัน
ดังงานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 1995 ที่นำโดย คลอส วิดิไคน์ (Claus Wedekind) ซึ่งพบว่า เมื่อให้ผู้เข้าทดลองที่เป็นหญิงสูดดมเสื้อเชิร์ตที่ผู้ชายสวมใส่นาน 2 วัน แล้วให้คะแนนความดึงดูดใจ
นักวิจัยพบว่าบรรดาสาวๆ จะเลือกหนุ่มๆ ที่มียีนในกลุ่มที่สร้างภูมิคุ้มกันแตกต่างไปจากยีนที่ตัวเองมีอยู่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ช่วยทำให้มีโอกาสที่ลูกจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีมากยิ่งขึ้น
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งโดยกลุ่มของ แรนดี้ ทอร์นฮิลล์ (Randy Thornhill) ชี้ว่า สาวๆ ชอบกลิ่นกายของหนุ่มๆ ที่มีใบหน้าสมมาตร คือด้านซ้ายและขวาของหน้าเท่าๆ กัน ไม่บิดเบี้ยวหรือผิดสัดส่วน
และผลการเลือกแบบนี้จะแสดงออกอย่างชัดเจนที่สุด ก็ในตอนที่บรรดาเจ้าหล่อนกำลังอยู่ในช่วงที่ไข่ตก ซึ่งหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงดังกล่าว ก็มีโอกาสจะท้องได้มากที่สุด
หน้าสมมาตรแล้วยังไงล่ะ ? ... บางท่านอาจจะสงสัย
คำตอบคือมีงานวิจัยที่ชี้ว่า ผู้ชายที่ใบหน้าสมมาตรดี จะหล่อเหลาตรึงใจ (ส่วนผู้หญิงก็ดูงดงาม)
นอกจากนี้ หากเป็นผู้ชายก็ยังมักจะมีร่างกายใหญ่บึกบึน และยังส่งผลต่อส่วนที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าคือ มีอสุจิที่แข็งแรงและมักไม่ค่อยมีลักษณะการกลายพันธุ์ไม่ดีหลบซ่อนอยู่ในตัว
สรุปได้ว่า ผู้หญิงสามารถ “สูดดม” ความหล่อและความเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีของผู้ชายได้ !
กล่าวถึงแต่กรณีจมูกสาวดมกลิ่นชาย อันที่จริงผู้ชายก็น่าจะรับรู้กลิ่นฟีโรโมนชวนรัญจวนใจจากฝ่ายหญิงเช่นกัน แม้ว่าจะยังตรวจหาส่วนที่ทำหน้าที่ดักจับกลิ่นดังกล่าวไม่เจอในมนุษย์ก็ตาม
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
มีหลักฐานที่ส่อไปในทางนั้นครับ ในปี 2007 งานวิจัยนำโดย จอฟเฟรย์ มิลเลอร์ (Geoffrey Miller) แสดงให้เห็นว่า นางระบำในผับจะได้รับทิปมากที่สุดก็ในช่วงที่บรรดาเจ้าหล่อนกำลังไข่ตก (ซึ่งก็พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์และมีลูก) นั่นเอง
งานวิจัยอีกชิ้นโดย ซอล มิลเลอร์ (Saul Miller) พบว่า ระดับฮอร์โมนเพศชายคือ เทสโทสเทอโรน (testosterone) จะสูงขึ้น หากได้กลิ่นกายของสาวที่กำลังตกไข่ (ซึ่งน่าจะมีฟีโรโมนอยู่ด้วย)
จึงอาจกล่าวได้ว่านอกจากโลกที่เห็นด้วยตา ซึ่งส่งผลต่อชีวิตและจิตใจของมนุษย์อย่างเห็นได้ชัดเจนแล้ว มนุษย์เราก็ยังได้รับอิทธิผลเป็นอย่างมากจากสิ่งที่มองไม่เห็นด้วย เช่น การสื่อสารกันด้วยกลิ่นดังที่กล่าวถึงอยู่นี้ ... ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม !
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก, สนพ.มติชน
โฆษณา