11 ส.ค. 2022 เวลา 10:00 • บันเทิง
จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อ ‘ดิสนีย์’ เสียลิขสิทธิ์ ‘มิกกี้ เมาส์’ ในปี 67
“มิกกี้ เมาส์” หนึ่งในตัวละครสัญลักษณ์สำคัญของ “ดิสนีย์” จะกลายเป็น “สมบัติสาธารณะ” ในปี 2567 หลังการคุ้มครองโดยลิขสิทธิ์ครบ 95 ปี ตามกฎหมายสหรัฐ
1
จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อ ‘ดิสนีย์’ เสียลิขสิทธิ์ ‘มิกกี้ เมาส์’ ในปี 67
“มิกกี้ เมาส์” ตัวการ์ตูนหนูสุดน่ารักที่คนทั้งโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี กำลังจะมีอายุครบ 95 ปี ในปี 2567 นั่นหมายความว่า “ดิสนีย์” สตูดิโอผู้สร้างมิกกี้ เมาส์ จะสูญเสียลิขสิทธิ์ตัวละครที่เป็นมาสคอตสำคัญของค่ายไป และมิกกี้ เมาส์จะกลายเป็นสมบัติสาธารณะ เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐคุ้มครองลิขสิทธิ์เพียง 95 ปีนับจากวันที่สร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น
แดเนียล มาเยดา รองผู้อำนวยการของ Documentary Film Legal Clinic แห่ง คณะกฎหมาย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) และเป็นที่รู้จักในฐานะทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและวงการบันเทิง มองว่า แม้ว่าลิขสิทธิ์จะหมดอายุแล้วก็ตามแต่คนก็ยังจำภาพลักษณ์เดิมได้อยู่ดี
“ต่อไปคุณสามารถนำตัวละครมิกกี้ เมาส์ไปสร้างสรรค์เรื่องราวฉบับของตัวคุณเองได้ แต่คนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่าเป็นของดิสนีย์ เนื่องจากดิสนีย์ลงทุนกับตัวละครนี้มานานเกือบร้อยปีและเป็นที่รู้โดยทั่วกัน และตามทฤษฎีแล้ว ดิสนีย์อาจกล่าวได้ว่าคุณละเมิดเครื่องหมายการค้าของเขา”
1
มิกกี้ เมาส์ ปรากฏตัวครั้งแรกใน “Steamboat Willie” เป็นการ์ตูนขาวดำขนาดสั้นที่ออกฉายครั้งแรกในวันที่ 18 พ.ย. 2471 ถือเป็นการบุกเบิกการบันทึกเสียงขณะการถ่ายทำ หรือ ซิงค์ซาวด์ โดยให้เสียงเพลงและเอฟเฟ็กต์นั้นตรงกับภาพบนจอ
2
จากข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติอเมริกัน (National Museum of American History) ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รูปลักษณ์และบุคลิกภาพของ มิกกี้ เมาส์ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากเดิมที่มีลักษณะที่ดูซุกซนและขี้เล่น มีจมูกที่แหลมยาว ดวงตาสีดำ ขาเรียวเล็กและมีหางยาว ซึ่งคล้ายกับหนูมากกว่าในปัจจุบัน
1
นั่นหมายความว่า ลิขสิทธิ์ของมิกกี้ เมาส์ที่หมดอายุไปนั้นคือ เวอร์ชันแรกสุดที่คล้ายหนู มาเยดา กล่าวว่า ดิสนีย์ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของมิกกี้ เมาส์ในเวอร์ชั่นอื่น ๆ ทั้งในภาพยนตร์หรืองานสร้างสรรค์อื่น ๆ ต่อไปจนกว่าจะถึงกว่างานเหล่านั้นจะมีอายุครบ 95 ปี
📌 หมีพูห์กลายเป็นสมบัติสาธารณะ
4
มิกกี้ เมาส์ไม่ใช่ตัวละครตัวแรกของดิสนีย์ที่ลิขสิทธิ์หมดอายุและกลายเป็นสมบัติสาธารณะ หมีพูห์ และผองเพื่อนในป่าร้อยเอเคอร์ จาก "Winnie-the-Pooh" ได้กลายเป็นสมบัติสาธารณะไปแล้วตั้งแต่เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีหลายคนนำคาแรคเตอร์ของหมีพูห์ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้โดยได้ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์อีกต่อไป
7
ไรอัน เรย์โนลส์ นักแสดงชื่อดังและเป็นเจ้าของ Mint Mobile เครือข่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือของสหรัฐ ได้นำหมีพูห์และผองเพื่อนมาใช้ในโฆษณาของ Mint Mobile โดยเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น Winnie-the-Screwed น้องหมีที่เจอกับบิลค่าโทรศัพท์แสนแพง เพราะไม่ได้ใช้เครือข่ายของเขา
7
ยิ่งไปกว่านั้น หมีพูห์และพิกเล็ตกำลังจะกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องใหม่ที่จะเข้าฉายเร็ว ๆ ชื่อว่า “Winnie the Pooh: Blood and Honey” ที่เขียนบทและกำกับโดย รีส วอเตอร์ฟิลด์ โดยสาเหตุที่ทั้ง 2 ต้องออกมาอาละวาดไล่ฆ่าคนเป็นเพราะคริสโตเฟอร์ โรบินทอดทิ้งพวกเขาไว้ในป่าร้อยเอเคอร์
3
มาเยดา กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานควรคำนึง เมื่อนำตัวละครเก่าที่เป็นสมบัติสาธารณะซึ่งคนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดีและรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของดิสนีย์ มาสร้างใหม่ คือ ต้องไม่สร้างความสับสนให้แก่สาธารณชนคิดว่าชิ้นงานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับดิสนีย์จริง เพราะอาจมีผลทางกฎหมายเกิดขึ้นได้
1
แม้ว่าลิขสิทธิ์จะมีวันหมดอายุ แต่เครื่องหมายทางการค้านั้นไม่วันหมดอายุ ตราบใดที่ยังคงใช้สิ่งนั้นเป็นเครื่องหมายทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นคำพูด วลี ตัวละคร หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งดิสนีย์อาจยังคงรักษาเครื่องหมายการค้าของตัวละครต่าง ๆ ไว้ด้วยวลีติดปากหรือเสื้อผ้าที่เป็นจุดเด่นของตัวละครนั้น ๆ เช่น เสื้อแดงของหมีพูห์ ซึ่งวอเตอร์ฟิลด์จงใจหลีกเลี่ยงให้หมีพูห์ในภาพยนตร์มีเอกลักษณ์เช่นนั้น
วอเตอร์ฟิลด์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Variety ในประเด็นนี้ว่า “เราระมัดระวังอย่างมาก เรารู้ว่าดิสนีย์มีลิขสิทธิ์อะไรและทำอะไรไปบ้าง ดังนั้นเราพยายามจะทำให้ทุกคนมั่นใจว่าหนังของเรานั้นอ้างอิงจากต้นฉบับในปี 2469 เท่านั้น จะไม่มีใครจะเข้าใจผิดว่ามันหนังของดิสนีย์ เมื่อคุณเห็นหน้าหนัง ตัวอย่าง และทุกอย่างของหนังเรื่องนี้ จะรู้ในทันทีว่ามันไม่ใช่หนังสำหรับเด็กที่ทุกคนคุ้นเคย”
2
อย่างไรก็ตาม ดิสนีย์ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของ ทิกเกอร์ เจ้าเสือจอมกระโดดอีกหนึ่งเพื่อนรักของหมีพูห์อีก 3 ปี เนื่องจากทิกเกอร์ปรากฏตัวครั้งแรกในการ์ตูน The House at Pooh Corner เมื่อปี 2472
1
หากจะให้สรุปอย่างสั้น ๆ ในตอนนี้ Winnie-the-Pooh ที่แต่งโดย “เอ. เอ. มิลน์” และ “อี. เอช. เชปเพิร์ด” กลายเป็นสมบัติสาธารณะไปแล้ว ใคร ๆ ก็สามารถเอาไปใช้ได้ แต่หมีพูห์ตัวเหลืองสวมเสื้อสีแดงในเวอร์ชันที่หลายคนคุ้นเคยนั้นยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของดิสนีย์ เช่นเดียวกับ มิกกี้ เมาส์เวอร์ชันหางยาวที่ปรากฏในปี 2471 จะกลายเป็นสมบัติสาธารณะในปี 2567
และในทำนองเดียวกัน มิกกี้ เมาส์เวอร์ชันปัจจุบันที่ปรับรูปลักษณ์ไปแล้วยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของดิสนีย์ เพราะฉะนั้น ก่อนจะนำหมีพูห์หรือมิกกี้ เมาส์มาดัดแปลงในอนาคต ควรจะต้องศึกษาและดูว่าขอบเขตชิ้นงานต้นฉบับนั้นมีอยู่แค่ไหน และจะทำอย่างไรไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ดิสนีย์ถือครองอยู่
2
📌 ลิขสิทธิ์กับเกมการเมือง
บริษัท วอลต์ ดิสนีย์ มีความสำคัญอันยาวนานกับสำนักงานลิขสิทธิ์แห่งสหรัฐ (United States Copyright Office) เนื่องจากอดีตรองที่ปรึกษาทั่วไปอย่างซูซานน์ วิลสัน (Suzanne Wilson) ที่เคยทำงานกับดิสนีย์มาเกือบทศวรรษ ปัจจุบันนั่งเก้าอี้หัวหน้าสำนักงานลิขสิทธิ์แห่งสหรัฐ
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ จอช ฮอว์ลีย์ วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันของรัฐมิสซูรี นำเรื่องนี้มาใช้โจมตีดิสนีย์ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ดิสนีย์ออกมาคัดค้านกฎหมาย “สิทธิของผู้ปกครองในการศึกษา” (parental rights in education bill) ของรัฐฟลอริดา หรือที่รู้จักกันนามกฎหมาย “ห้ามพูดถึงเกย์” (Don’t Say Gay Bill) โดยเป็นกฎหมายห้ามพูดถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศในห้องเรียนในระดับชั้นอนุบาล 3 - ประถมศึกษาปีที่ 3
2
ส.ว.ฮอว์ลีย์ พยายามจะแก้ไขกฎหมายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้ลดลงเหลือ 56 ปี และมีผลย้อนหลังกับงานลิขสิทธิ์ทั้งหมดที่ถูกผูกขาดโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลให้ดิสนีย์เสียค่าลิขสิทธิ์เพิ่มมากขึ้นอีก
2
“ของขวัญที่รีพับลิกันมอบให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้สิ้นสุดลงแล้ว ที่ผ่านมาต้องขอบคุณกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่สภาครองเกรสได้อนุมัติ ทำให้บริษัทที่ตื่นตัวแบบดิสนีย์ทำรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ แล้วเอาเงินไปทุ่มให้พวกนักเคลื่อนไหว น่าจะถึงเวลาที่ต้องกำจัดสิทธิพิเศษของดิสนีย์และเปิดยุคแห่งความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้แล้ว” ส.ว.รัฐมิสซูรี ระบุ
มาเยดาให้ความเห็นเกี่ยวกับการโจมตีดิสนีย์ของฮอว์ลีย์ว่า “นี่เป็นเรื่องการเมืองล้วน ๆ และกฎหมายนี้ไม่มีทางผ่านแน่นอน” ขณะเดียวกันเขายังตั้งคำถามกับดิสนีย์ด้วยเช่นกัน “ดิสนีย์กระตือรือร้นอย่างมากที่จะหาทางขยายเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ออกไปอีก แต่ผมสงสัยว่ามันจะเป็นไปได้เหรอ มันไม่น่าขยายไปอีกแล้ว”
1
อย่างไรก็ตาม Statista.com เว็บไซต์ที่รวบรวมสถิติต่าง ๆ ระบุว่า “มิกกี้ เมาส์ และผองเพื่อน” (Mickey Mouse & Friends) เป็นแฟรนไชส์สื่อที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ด้วยมูลค่ากว่า กว่า 82,900 ล้านดอลลาร์ และ “วินนี่ เดอะ พูห์” (Winnie the Pooh) ในอันดับที่ 4 มูลค่ากว่า มูลค่ากว่า 81,000 ล้านดอลลาร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากดิสนีย์อยากจะรักษาลิขสิทธิ์ไว้ให้ได้นานที่สุด
3
ที่มา: The Guardian, The Hill, The Momentum, The U.S. Copyright Office
โฆษณา