Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เด็กการเงิน DekFinance
•
ติดตาม
8 ส.ค. 2022 เวลา 13:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วิเคราะห์ ROE แบบเจาะลึก: ROE ยิ่งมาก ยิ่งดีจริงหรือไม่?
วันนี้ #เด็กการเงิน ขอพาทุกคนมาวิเคราะห์ ROE หรือ Return on Equity เเบบเจาะลึกกัน ROE เป็นอัตราส่วนทางการเงินหลักที่นักลงทุนใช้ดูประกอบการวิเคราะห์งบการเงิน โดยปกติ ROE ยิ่งมาก ยิ่งดี เพราะสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการทำกำไรของบริษัทจากทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของผู้ถือหุ้น = สินทรัพย์รวม - หนี้สิน) แต่เราก็ควรรู้ด้วยว่า ROE ที่มากนั้นมาจากองค์ประกอบส่วนไหน เกริ่นไว้ก่อนว่า ถ้าหาก ROE ที่มากนั้นมาจากอัตราการใช้เงินกู้หรือ Financial Leverage จะถือว่าไม่ค่อยดีเท่าไร
หลายคนคงเริ่มสงสัยกันแล้วว่า “อัตราการใช้เงินกู้” หรือ “Financial Leverage” นั้นเกี่ยวข้องกับ ROE อย่างไร งั้นเรามาเริ่มทำความเข้าใจ ROE กันเลย (ในที่นี้เราจะขอเขียนชื่อสูตรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้คุ้นชินไม่ว่าจะดูงบหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศ)
ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าสูตรโดยทั่วไปของ ROE คือ
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น = กำไรสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น
ROE = Net Income / Equity
ตัวอย่างเช่น หากกำไรสุทธิ 12,000,000 บาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 15,000,000 บาท
ROE = 12,000,000 / 15,000,000 = 0.8 หรือ 80% หมายความว่าบริษัทนี้ทำกำไรได้ 80 บาทต่อเงินทุน(ส่วนของผู้ถือหุ้น) 100 บาท ซึ่งถือว่าสูง และนักลงทุนจะชอบมาก หากบริษัทสามารถรักษาระดับ ROE แบบนี้หรือทำได้มากกว่านี้ในปีต่อๆ ไป
1
ต่อไปเราจะมาเริ่มวิเคราะห์ ROE แบบเจาะลึกกัน
สูตรที่ 1️⃣ (ภาษาไทย) อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น = อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ x อัตราการใช้เงินกู้
สูตรที่ 1️⃣ (ภาษาอังกฤษ) ROE = ROA x Financial Leverage
โดย ROA หรือ Return on Asset ยิ่งมากยิ่งดี สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการทำกำไรของบริษัทจากสินทรัพย์รวมที่บริษัทมี (สินทรัพย์รวม = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น)
โดยสูตรของ ROA เป็นดังนี้
อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ = กำไรสุทธิ / สินทรัพย์รวม
ROA = Net Income / Total Asset
ตัวอย่างเช่น หากกำไรสุทธิ 12,000,000 บาท และสินทรัพย์รวม 20,000,000 บาท
ROA = 12,000,000 / 20,000,000 = 0.6 หรือ 60% หมายความว่าบริษัทมีความสามารถในการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ 100 บาท ไปทำให้เกิดกำไรสุทธิ 60 บาท
ในส่วนของสูตรอัตราการใช้เงินกู้ หรือ Financial Leverage เป็นดังนี้
อัตราการใช้เงินกู้ = สินทรัพย์รวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น
Financial Leverage = Total Asset / Equity
โดยเเหล่งเงินทุนของบริษัทมาจาก 2 ส่วนคือการก่อหนี้ (Debt) และทุน หรือส่วนของเจ้าของ (Equity)
หากบริษัทไม่มีการก่อหนี้เลย Total Asset จะเท่ากับ Equity ทำให้ Financial Leverage เท่ากับ 1
ย้อนกลับไปที่สูตร ROE = ROA x Financial Leverage
หาก Financial Leverage = 1 แล้ว ROE = ROA
แต่ส่วนมากบริษัทก็จะมีแหล่งเงินทุนมาจากการก่อหนี้ด้วย ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าก่อหนี้มากหรือน้อย ซึ่งหากมีการก่อหนี้ ก็จะทำให้ส่วนของเจ้าของ หรือ Equity ลดลง และทำให้ Financial Leverage เพิ่มขึ้้น
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ถ้าหาก Financial Leverage มากขึ้นก็ดีไม่ใช่เหรอ? เพราะจะทำให้ ROE สูงขึ้นตาม
ย้อนกลับไปตอนแรกที่เราเกริ่นไปว่า ถ้า ROE ที่สูงมาจากอัตราการใช้เงินกู้หรือ Financial Leverage มากเกินไปก็อาจจะไม่ดี เพราะถือว่าเป็นการก่อหนี้ และบริษัทมีภาระที่จะต้องจ่ายหนี้+ดอกเบี้ยคืนในอนาคต เรียกได้ว่าบริษัทมีต้นทุนทางการเงิน (Cost of Capital) สูงขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และในอีกทางหนึ่งก็จะไปกดดันราคาเป้าหมายของหุ้นอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามการก่อหนี้อาจทำให้ ROE เพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทว่าสามารถนำเงินที่กู้มานั้นไปลงทุนแล้วได้ประโยชน์มากหรือน้อย
สูตรที่ 2️⃣ (ภาษาไทย) อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น = อัตรากำไรสุทธิ x อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ x อัตราการใช้เงินกู้
สูตรที่ 2️⃣ (ภาษาอังกฤษ) ROE = Net Profit Margin x Asset Turnover x Financial Leverage
โดยอัตรากำไรสุทธิ บ่งบอกถึงกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งภาษีและดอกเบี้ยทางการเงินแล้ว
อัตรากำไรสุทธิ = กำไรสุทธิ / รายได้
Net Profit Margin = Net Income / Revenue
ตัวอย่างเช่น หากกำไรสุทธิ 12,000,000 บาท และรายได้ 36,000,000 บาท
Net Profit Margin = 12,000,000 / 36,000,000 = 0.3333 หรือ 33.33% หมายความว่าบริษัททำกำไรสุทธิได้ 33.33 บาท จากรายได้ 100 บาท
ในส่วนของ Asset Turnover บ่งบอกถึงประสิทธิภาพว่าบริษัทสามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากหรือน้อย
อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ = รายได้ / สินทรัพย์รวม
Asset Turnover = Revenue / Total Asset
ตัวอย่างเช่น หากรายได้ 36,000,000 บาท และสินทรัพย์รวม 20,000,000 บาท
Asset Turnover = 36,000,000 / 20,000,000 = 1.8 หมายความว่าบริษัทได้นำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ถึง 1.8 เท่า
ย้อนกลับมาที่สูตรที่ 2 ROE = Net Profit Margin x Asset Turnover x Financial Leverage
การแยกองค์ประกอบ ROE ลงไปอย่างละเอียด จะเห็นว่าหาก ROE ที่สูงมาจาก ROA, Net Profit Margin หรือ Asset Turnover ที่สูง ถือว่าดีมากๆ เพราะมาจากความสามารถของบริษัทจริงๆ ไม่ได้มาจากการก่อหนี้ที่มากเกินไป
สำหรับการดูว่า ROA, Net Profit Margin, Asset Turnover และ Financial Leverage เรียกว่ามากหรือน้อย ก็ต้องเทียบกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ตามงบการเงินต่างๆ ส่วนมากจะไม่มีการวิเคราะห์ ROE แบบเจาะลึกมาให้ นักลงทุนที่สนใจ ต้องเปิดงบการเงินแล้วนำตัวเลขในแต่ละองค์ประกอบมาคิดดูเองว่า ROE ที่มากหรือน้อยนั้นมาจากส่วนไหน
จบแล้วจ้า หวังว่าแฟนเพจจะเข้าใจ ROE เเบบถ่องแท้เลยนะ และยังได้ทำความเข้าใจอัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดอีกด้วย สำหรับอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญอื่นๆ เด็กการเงินเคยทำโพสต์ไว้แล้ว เราแปะไว้ให้ในคอมเมนท์อีกที ตามไปดูได้เลย :)
Facebook 👉
https://www.facebook.com/DekFinance101
FB Group 👉
https://www.facebook.com/groups/2881645572091138
Blockdit 👉
https://www.blockdit.com/dekfinance
LINETODAY 👉https://today.line.me/th/v2/publisher/10240
13 บันทึก
6
7
13
6
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย