16 ส.ค. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
การขยายตัวของตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยในเปรู
จากข้อมูลของสมาคมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยของเปรู (COPECOH) ภายใต้หอการค้าลิมา (Lima Chamber of Commerce: CCL) ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยในเปรูมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การจัดเก็บภาษีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.4 ของการเก็บภาษีทั้งหมด หรือมีสัดส่วนร้อยละ 0.32 ของ GDP มีการสร้างงานมากกว่า 650,000 ตำแหน่งต่อปี
ทั้งนี้ COPECOH คาดการณ์ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยในเปรูจะมีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.5 หรือคิดเป็นมูลค่า 2,170 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 โดยปัจจัยสำคัญในการประกอบการคาดการณ์ดังกล่าวประกอบด้วย ปริมาณการบริโภคจำนวนมาก และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว ที่มีทิศทางบวกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 และ 3 ตามลำดับ
หมวดสินค้าที่จะมีการขยายตัวสูงที่สุดในปี 2565 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แต่งหน้า (makeup) (ขยายตัวร้อยละ 11) และน้ำหอม (ขยายตัวร้อยละ 9) อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวดังกล่าวยังถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปี 2562
สถานการณ์ตลาดในปี 2564
ในช่วงปี 2564 เป็นปีที่ถือว่าตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยมีการขยายตัวที่ดี โดยมีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการขยายตัวสูงที่สุดได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ขยายตัวร้อยละ 10 (คิดเป็นมูลค่า 443,000 เหรียญสหรัฐ) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ขยายตัวร้อยละ 16 (คิดเป็นมูลค่า 198,000 เหรียญสหรัฐ) และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย (คิดเป็นมูลค่า 194,000 เหรียญสหรัฐ)
ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวสูงขึ้นทั้งในด้านสัดส่วนและมูลค่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่สินค้าผลิตภัณฑ์สุขอนามัยมีการขยายตัวลดลง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 (คิดเป็นมูลค่า 557,000 เหรียญสหรัฐ) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
ทั้งนี้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มน้ำหอม และแต่งหน้า (makeup) มีการหดตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 – 25 ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 เนื่องจากกลุ่มสินค้าดังกล่าวถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและผู้บริโภคให้ความสนใจกับกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขอนามัยมากกว่า
ช่องทางการจำหน่าย
สินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยในเปรูส่วนใหญ่จัดจำหน่ายทางช่องทางค้าปลีก หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 ของช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งหมด และการขายตรง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 นอกจากนี้ ผู้บริโภคเริ่มให้ความนิยมในการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสให้ผู้ผลิตภายในประเทศมีโอกาสในการขายสินค้าเครื่องสำอางคและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยทางออนไลน์ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 1 ของช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งหมด
แบรนด์จากต่างประเทศ
จากการขยายตัวของความต้องการเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยในเปรู ทำให้ผู้ผลิตจากหลายประเทศให้ความสนใจในการขยายและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด โดยแบรนด์จากต่างประเทศที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสูงที่สุดในเปรู ได้แก่ Natura (บราซิล) และ Oriflame (สวีเดน)
Natura เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยจากประเทศบราซิล มีสาขาจัดจำหน่ายสินค้าในหลายประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย ชิลี เม็กซิโก โคลอมเบีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และมีสาขาหลัก 2 แห่งในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของเปรู คือ ห้าง del Sur และห้าง Plaza Norte ซึ่งนอกจากการมีหน้าร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าแล้ว บริษัทฯ ยังดำเนินการขายตรงให้กับสมาชิก และการขายทางช่องทางออนไลน์
สินค้าจากบริษัทฯ ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติเป็นส่วนประกอบหลัก และใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำขวัญบริษัทฯ ที่สมาชิกและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ทราบ คือ “Every Person Matters and More Beauty Less Waste” ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังให้บริการด้านการให้คำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจกับบริษัทฯ
Oriflame เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยจากประเทศสวีเดน มีสาขาจัดจำหน่ายในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ในภูมิภาคลาตินอเมริกาประกอบด้วย เม็กซิโก ชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู ซึ่งยอดการจัดจำหน่ายของบริษัทฯ ในเปรูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 มีการขยายตัวของยอดการจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 และร้อยละ 30 ในปี 2564 ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา ทั้งนี้ บริษัทฯ เน้นให้ความสำคัญกับช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์และทางโทรศัพท์
การฟื้นตัวของตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยจากสถานการณ์โควิด-19 ของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เปรูถือว่ามีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างเร็ว โดยปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข ชาวเปรูส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อความสวยงาม และการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเดือนของประชาชนที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นด้วย
โดยจากข้อมูลของสมาคมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยของเปรู (COPECOH) ประชากรเปรูมีการใช้จ่ายด้านผลิตภัณฑ์ความงามและเครื่องสำอางประมาณ 270 เหรียญสหรัฐต่อคน นอกจากนี้ ข้อมูลของ Statista คาดการณ์ว่าตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยของเปรูในช่วงปี 2565 – 2568 จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าระหว่าง 110.03 – 166.95 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชายด้วย ซึ่งเครื่องสำอางฯ ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชายชาวเปรู โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 25-30 ปี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและผิวกาย ครีมกันแดด ผลิตภัณฑ์บำรุงผม (แชมพูและน้ำยาป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผม) และผลิตภัณฑ์บำรุงหนวดเครา
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อการพัฒนาเครื่องสำอางโดยรวมของผู้ผลิต โดยเน้นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใหม่ ๆ ที่สามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับแต่งหน้าให้ดูดีสำหรับพบปะทางออนไลน์หรือการประชุมทางออนไลน์ ครีมกันแดดที่เน้นป้องกันแสงสีฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ กระแส Clean Beauty หรือผลิตภัณฑ์ความงามที่สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ใช้ (ไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบัน Clean Beauty ในตลาดโลกมีมูลค่ากว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าภายในปี 2570 จะมีมูลค่าถึง 11,558.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 12.07 ต่อปี
จากข้อมูลแนวโน้มการขยายตัวของตลาดเครื่องสำอางฯ และความต้องการของผู้บริโภคในเปรูสำหรับเครื่องสำอางฯ ที่เพิ่มขึ้นเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยในตลาดเปรู โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินค้า Clean Beauty
เนื่องจากประเทศไทยมีสมุนไพรที่มีชื่อเสียง มีความหลากหลาย และมีคุณภาพ ทำให้ไทยได้เปรียบในเรื่องของส่วนผสมสารออกฤทธิ์ต่าง ๆ สำหรับเครื่องสำอาง Clean Beauty
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยอาจต้องพิจารณาเลือกผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน อาทิ ผลิตภัณฑ์บำรุงผม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและผิวกาย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาถึงการกำหนดราคาที่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากผู้บริโภคชาเปรูยังคงให้ความสำคัญกับราคาของสินค้า โดยเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่าหากสินค้านั้นมีมาตรฐานระดับเดียวกัน
โฆษณา