Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
7Block Metrology
•
ติดตาม
9 ส.ค. 2022 เวลา 14:25 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ในหลาย ๆ ครั้ง ที่เราต้องตัดสินใจเลือกเครื่องมือมาวัดชิ้นงาน เราเคยถามตัวเองไหมว่าเครื่องมือวัดที่เราเลือกมานั้นเหมาะสมหรือไม่ คอนเทนต์นี้ Seven Block Metrology จะนำเสนอ 6 คำถาม ที่เราควรถามตัวเองก่อนเลือกเครื่องมือวัดมาวัดกับชิ้นงาน คำถามเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการเลือกซื้อเครื่องมือวัด เพื่อลดความผิดพลาดในการตัดสินใจซื้อได้อีกด้วย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับวิศวกร หรือ เจ้าหน้าที่เครื่องมือวัด รวมถึงหน่วยงานจัดซื้อที่ต้องการเหตุผลในการสั่งซื้อ
คำถามที่ 1 “ วัดอะไร ”
ทุก ๆ ครั้งที่จะเลือกเครื่องมือวัด ให้เราถามตัวเองก่อนว่าเราจะเอาไปวัดอะไร วัดความยาว ความสูง ความกว้าง ความหนา ความลึก เพราะเครื่องมือวัดบางชนิดไม่สามารถวัดได้ทุกมิติ เช่น ไมโครมิเตอร์ ถ้าเราเลือกไมโครมิเตอร์ประเภทวัดภายนอกมาใช้ เราก็จะไม่สามารถใช้วัดขนาดภายในของชิ้นงานได้ ก็จำเป็นต้องซื้อไมโครมิเตอร์ประเภทวัดภายในเพิ่มอีกหนึ่งรายการ
จะแตกต่างจากการเลือกเวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ ที่สามารถใช้วัด ขนาดภายนอก ขนาดภายใน และความลึก ของชิ้นงานได้ด้วยเครื่องมือวัดเดียว ดังนั้นคำถามแรกอย่าลืมถามตัวเองทุกครั้งว่าเราจะเอาไปวัดอะไร
คำถามที่ 2 “ ขนาดเท่าไร ”
ถ้ามีชิ้นงานใหม่เข้ามาให้เราวัด คำถามที่ 2 ที่เราต้องถามคือ “ ขนาดเท่าไร ” เพราะเครื่องมือวัดเครื่องเดียวไม่สามารถวัดได้ทุกขนาด เช่น ไมโครมิเตอร์ มีช่วงระยะในการวัดงานได้แค่ 25 มิลลิเมตร เริ่มต้นจากไมโครมิเตอร์ 0-25 มิลลิเมตร ถ้าเราต้องการวัดชิ้นงาน 30 มิลลิเมตร เราก็ต้องเลือกไมโครมิเตอร์ 25-50 มิลลิเมตร ดังนั้นถ้าเรามีชิ้นงานหลากหลายขนาด ก็จำเป็นต้องมีไมโครมิเตอร์หลากหลายตัว
แต่ถ้าเราเลือกเวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ เราก็จะสามารถวัดชิ้นงานได้สะดวกมากขึ้นหลายช่วงการวัด เพราะเวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ มีช่วงการวัดงานเริ่มต้น 0-150 มิลลิเมตร และในบางรุ่นมีช่วงในการวัดได้มากกว่า 1,000 มิลลิเมตร
คำถามที่ 3 “ ความละเอียดเท่าไร ”
นี้อาจจะเป็นคำถามที่เราต้องถามลูกค้าของเรา ว่าต้องการเห็นผลลัพธ์ของการวัดกี่ตำแหน่งทศนิยม เพราะมูลค่าของเครื่องมือวัดก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามความละเอียดของเครื่องมือวัดที่เราอ่านได้ เช่น เวอร์เนียร์ดิจิทัล ค่าความละเอียดของผลการวัดที่อ่านได้ละเอียดสุด 0.01 มิลลิเมตร เป็นทศนิยม 2 ตำแหน่ง
แต่ถ้าต้องการความละเอียดในการวัดมากขึ้น ก็จำเป็นต้องเลือกใช้ไมโครมิเตอร์ดิจิทัล ที่มีความละเอียดของผลการวัดที่อ่านได้ละเอียดสุด 0.001 มิลลิเมตร เป็นทศนิยม 3 ตำแหน่ง ผลที่ตามมาคือราคาเครื่องมือที่สูงขึ้นตามไปด้วย และข้อจำกัดในการใช้งานจากคำข้อที่ 1 และ 2
คำถามที่ 4 “ ค่าความแม่นของเครื่องมือดีกว่าชิ้นงานที่จะวัดหรือไม่ ”
หลักการเลือกเครื่องมือวัดที่ดี เราต้องเลือกเครื่องมือวัดที่มีค่าความแม่น (Accuracy) ดีกว่าค่าพิกัดความเผื่อของชิ้นงาน (Tolerance) ที่เราจะวัด ตามมาตรฐาน ISO 10012 เคยอ้างอิงไว้ว่า เครื่องมือวัดต้องมีค่าความแม่นดีกว่าสิ่งที่ถูกวัด 3-10 เท่า แสดงว่าอย่างน้อยเครื่องมือวัดควรจะต้องดีกว่าชิ้นงาน 3 เท่า และถ้าสูงกว่า 3 เท่าได้ก็ยิ่งดี แต่ราคาเครื่องมือก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
คำถามที่ 5 “ โครงสร้างเฉพาะของเครื่องมือวัด ”
ถ้าชิ้นงานที่เราวัดมีความหลากหลายทางด้านมิติ และไม่สามารถใช้เครื่องมือวัดแบบโครสร้างมาตรฐานทั่วไปวัดได้ ก็จำเป็นต้องเลือกเครื่องมือวัดที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับมิติการวัดนั้น
ซึ่งผู้ผลิตก็ผลิตโครงสร้างเครื่องมือออกมาหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน เช่น วัดระยะห่างของฟันเฟือง เราไม่สามารถที่จะใช้ไมโครมิเตอร์แบบโครงสร้างปกติวัดได้ จำเป็นต้องใช้ไมโครมิเตอร์แบบจาน (Disk Micrometer) ช่วยในการวัด หรือวัดความลึกของชิ้นงาน ก็ไม่ควรใช้ก้านวัดลึกของเวอร์เนียร์ไปวัดงานที่ต้องการความละเอียด เพราะความผิดพลาดของก้านวัดลึกมีค่อนข้างมาก เราควรเลือกใช้เวอร์เนียร์ประเภทวัดลึกโดยเฉพาะมาวัดกับชิ้นงาน (Caliper Depth Gage) เพราะถูกออกแบบมาให้เฉพาะกับมิติการวัดงานนั้น
คำถามที่ 6 “ ความคุ้มค่าในการลงทุน ”
ให้คิดคำนวณต้นทุนของเครื่องมือเทียบกับผลลัพธ์ที่จะได้จากการใช้งานว่าคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด เช่น 1 วันเราวัดชิ้นงานกี่ชิ้น และถ้าลงทุนซื้อเครื่องมือวัดมาแล้ววัดงานได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ จุดคุ้มทุนอยู่ที่ตรงไหน ให้เรานำ 4 M’s : Man, Material, Money และ Management มาคิดคำนวณด้วยทุกครั้งที่ลงทุน
ดีใจที่ทุกท่านอ่านมาถึงบรรทัดนี้ แสดงว่าท่านมีความตั้งใจในการพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง ผมเองก็มีความยินดีที่จะแชร์ความรู้ ความเข้าใจ ในการเลือกใช้ การดูแลรักษาเครื่องมือวัดทีเป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้อ่านได้นำมาปรับใช้ในการทำงาน หรือถ่ายทอดให้แก่เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ลูกศิษย์ ได้นำไปใช้ แล้วคอนเทนต์หน้า Seven Block Metrology จะพยายามหาเนื้อหาดี ๆ มาให้อ่านกันนะครับ
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย