9 ส.ค. 2022 เวลา 23:56 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมค่าธรรมเนียม TER ควรใส่ใจ??
การลงทุนในกองทุนรวม นอกจากเข้าใจนโยบายลงทุน สินทรัพย์ลงทุน ผลการดำเนินงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรไว้ประกอบการพิจารณาคือ เรื่องของค่าธรรมเนียม มาดูกันว่า ทำไมเรื่องของค่าธรรมเนียมถึงมีผลต่อผลตอบแทนที่เราจะได้รับ มาอ่านกัน
ค่าธรรมเนียมจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่
- ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง คือ ค่าธรรมเนียมการซื้อ-ขายหน่วยลงทุน หรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ค่าธรรมเนียมนี้จะแฝงอยู่ในราคาที่เราไปซื้อหรือขายหน่วยลงทุน ดังนั้น ราคาซื้อ-ราคาขาย จะไม่เท่ากับ NAV ต่อหน่วย (มูลค่าหน่วยลงทุน) เพราะมีค่าธรรมเนียมนี้แฝงอยู่ โดยค่าธรรมเนียมการขาย-การรับซื้อคืน จะคิดเป็น % ของมูลค่าการซื้อขาย ค่าธรรมเนียมส่วนนี้มีผลต่อผลตอบแทนที่เราจะได้รับได้ แต่ไม่มากเท่าค่าธรรมเนียม TER
- ค่าธรรมที่เรียกเก็บจากกองทุน เรียกรวมๆว่า total expense ratio(TER) ค่าธรรมเนียมนี้ส่วนใหญ่เป็นค่าการจัดการกองทุน นอกนั้นก็จะมีค่าผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่านายทะเบียน ค่าธรรมเนียมนี้เขียนไว้เป็น % ต่อปีแต่จะมีการหักเฉลี่ยเป็นรายวันก่อนที่จะแสดงเป็นมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองในแต่ละวัน ค่าธรรมเนียมจะมีผลต่อผลตอบแทนที่เราจะได้รับ
เช่น ถ้าคิดค่าธรรมเนียมนี้ 2% กองทุนทำผลงานได้ทั้งหมด 10% ต่อปี ผลตอบแทนที่เราได้รับ จะเป็น 8% ต่อปี เพราะถูกหักค่าธรรมเนียมส่วนนี้
ลองดูรูปกราฟในรูป สมมติให้กองทุนทั้ง 4 กองทำผลตอบแทนก่อนหักค่าธรรมเนียม TER ได้เท่ากัน คือ 7% ต่อปี แต่หักค่าธรรมเนียมต่างกัน โดยงทุนก้อนเดียว 1 ล้านบาท ระยะเวลาลงทุน 10 ปี จะเห็นว่าทำให้เงินที่ปลายทางต่างกันพอสมควร
กอง A คิดค่าใช้จ่าย 0.5% ต่อปี ที่ปลายทาง 10 ปี เงินจาก 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,877,137 บ.
กอง B คิดค่าใช้จ่าย 1% ต่อปี ที่ปลายทาง 10 ปี เงินจาก 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,790,847 บ.
กอง C คิดค่าใช้จ่าย 1.5% ต่อปี ที่ปลายทาง 10 ปี เงินจาก 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,708,144 บ.
กอง D คิดค่าใช้จ่าย 2% ต่อปี ที่ปลายทาง 10 ปี เงินจาก 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,628,894 บ.
ค่าธรรมเนียมนี้มีผลต่อผลตอบแทนที่เราจะได้รับ จึงควรพิจารณาค่าธรรมเนียมนี้ประกอบในการเลือกกองทุนรวม ถ้าคิดค่าธรรมเนียมสูงกว่ากองลักษณะเดียวกัน ก็ควรทำผลงานได้ดีกว่า จึงจะทำให้โดยรวมผลตอบแทนที่มาถึงผู้ถือหน่วยออกมาดีกว่า
กองทุนที่คิดค่าธรรมเนียมนี้ถูกกว่า จะเหมือนผู้ลงทุนมีแต้มต่อ ในการลงทุนระยะยาว เช่น ถ้าปีนั้นกอง A (คิด TER 0.5%) ทำได้ 5% ส่วนกอง D (คิด TER 2%) ทำได้ 6% แต่ผลตอบแทนที่มาถึงผู้ถือหน่วยสำหรับกอง A คือ 4.5% ส่วนกอง D คือ 4%
กองทุนที่เป็น passive fund มักมีค่าธรรมเนียมถูกกว่าแบบ Active fund เนื่องจากผู้จัดการกองทุน ไม่ต้องคิดวิเคราะห์มาก ลงทุนตามดัชนี ค่าธรรมเนียมนี้ยิ่งสูงจะยิ่งทำให้ผลตอบแทนของ passive fund ยิ่งแบ้ออกจากตัวชี้วัดมากขึ้น
ในการเลือกลงทุนกองทุนรวม อย่าลืมพิจารณาเรื่องของค่าธรรมเนียมประกอบการตัดสินใจด้วยนะ เพราะค่าธรรมเนียมมีผลต่อผลตอบแทนที่เราจะได้รับ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
#กองทุนรวม
#ค่าธรรมเนียม
#TER
#ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม
โฆษณา