10 ส.ค. 2022 เวลา 06:25 • ปรัชญา
เมื่อฝึกฝนตนเองจนเข้าสู่สภาพมุชิน (ไร้ใจ) หรือสภาพความคิดที่ไม่มีความคิดได้แล้ว เมื่อนั้นเขาจะไม่มี "ช่องว่าง" เกิดขึ้นแม้แต่น้อย
คัมภีร์แห่งจิตไม่สั่นคลอน Fudōhishinmyōroku เป็นคัมภีร์เคล็ดวิชาดาบที่เขียนโดยพระเซนนามว่า "ทาคุอัน" พระเซนรูปนี้เป็นที่นับถือของทั้งโชกุน และเหล่านักดาบผู้มีชื่อเสียง เป็นชายที่มูซาชิเอ่ยปากเรียกว่า "มนุษย์ที่แท้" ที่หาได้ยากยิ่ง
ท่านทากุอันได้เขียนคัมภีร์เล่มนี้ออกมาเพื่อถ่ายทอดเคล็ดลับวิชาดาบที่ผสานเข้ากับปรัชญาเซนให้แก่ ยางิว มุเนโนริ ซึ่งต่อมามุเนโนริก็ได้ผสานคัมภีร์เล่มนี้เข้ากับคัมภีร์ยางิวของเซกิชูไซ จนกลายมาเป็นคัมภีร์ Heihō Kadensho หรือที่รู้จักกันในชื่อตำราพิชัยสงครามประจำตระกูล แม้แต่คัมภีร์ห้าห่วงเองก็มีหลายบทที่มีความคล้ายกับหลักการของคัมภีร์แห่งจิตไม่สั่นคลอน เรียกได้ว่าคัมภีร์เล่มนี้เป็นคัมภีร์สำหรับผู้ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ และผู้นำอย่างแท้จริง
เนื้อหาคร่าวๆ มีดังนี้
หัวใจของเซนคือความคิดที่ไม่มีความคิด หัวใจของดาบเองก็เช่นกัน
คำว่า "ไม่มีความคิด" คือการไม่เอา "ใจ" ของเราไปวางไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง
ในการประลองหรือการต่อสู้ คำว่า ไม่มีความคิด หมายถึง การไม่เอาใจไปวางไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ แต่ให้เอาใจวางไว้ทุกจุดตำแหน่งรอบตัว ถ้าใจติดติดขัดอยู่ที่ใด ณ จุดใด จุดนั้นก็จะเกิด "ช่องว่าง" ให้คู่ต่อสู้โจมตีได้ เพราะการที่ติดขัดติดข้องย่อมแสดงว่าได้เกิดความหลงขึ้นภายใน
1
เมื่อฝึกฝนตนเองจนเข้าสู่สภาพมุชิน (ไร้ใจ) หรือสภาพความคิดที่ไม่มีความคิดได้แล้ว เมื่อนั้นเขาจะไม่มี "ช่องว่าง" เกิดขึ้นแม้แต่น้อย สภาพเช่นนี้คือสภาพที่เรียกว่า "สภาวะจิตที่ไม่คลอน" หรือ ปัญญาที่ไม่สั่นคลอน เป็นสภาวะที่ผู้ใช้ดาบจะใช้ดาบได้ดั่งใจปรารถนา
การฝึกวิชาดาบ หรือศิลปะศาสตร์แขนงใดๆ ทั้งหลายจึงมิใช่การฝึกสิ่งใดอื่นแต่คือการฝึกฝนเพื่อขจัด "ความป่วยไข้ทางจิตใจ" ให้หมดไปจากจิตใจของตนนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา