Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Think Trade Think DITP
•
ติดตาม
21 ส.ค. 2022 เวลา 05:00 • การตลาด
พฤติกรรมการบริโภคและโอกาสของซอสและเครื่องปรุงรสไทยในเนเธอร์แลนด์
ชาวเนเธอร์แลนด์หรือชาวดัตช์เป็นผู้รับประทานมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก เนื่องจากสภาพ ภูมิอากาศและพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะกับการปลูกมันฝรั่ง โดยนิยมทั้งแบบการนำมันฝรั่งสดและมันฝรั่งแช่แข็งมาปรุงอาหาร แต่ในปัจจุบันชาวเนเธอร์แลนด์รุ่นใหม่มีแนวโน้มในการบริโภคมันฝรั่งลดลง และหันมาบริโภคคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่นแทนมันฝรั่งมากขึ้น เช่น พาสต้า และข้าว โดยได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะ ข้าวที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศซูรินามและอินโดนีเซีย ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของเนเธอร์แลนด์ วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวดัตช์จะเน้นความสะดวกและความรวดเร็ว อาหารของชาวดัตช์จึงไม่ได้เป็นที่รู้จัก หรือมีชื่อเสียงมากนัก
ชาวดัตช์นิยมทานขนมปังหรือแซนด์วิชที่บ้านเป็นอาหารมื้อเช้า ทำให้มีร้านอาหารที่ให้บริการอาหารมื้อเช้าน้อยมากในเนเธอร์แลนด์ ยกเว้นห้องอาหารในโรงแรมทั่วไป
สำหรับอาหารมื้อกลางวัน ชาวดัตช์ยังคงเน้นความสะดวกและรวดเร็ว และนิยมรับประทานอาหารง่ายๆ เช่น แซนด์วิชสอดไส้ชีสและแฮม หรือเนื้อสัตว์ และเนื่องจากเนเธอร์แลนด์มีชื่อเสียงในด้านผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (Dairy Products) จึงมีการรับประทานชีสและนมรสชาติต่างๆ ในช่วงมื้อกลางวันด้วย แต่จะไม่นิยมทานอาหารร้อนในช่วงเวลากลางวัน อย่างมากก็จะเป็นแค่เมนูซุป และจะไม่ใช้เวลาในการทานอาหารกลางวันมากนัก แต่จะนิยมทานอาหารร้อนเป็นอาหารมื้อหนักในช่วงเย็น
โดยชาวดัตช์ส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารมื้อเย็นเวลา 18:00 น. ซึ่งถือได้ว่า เป็นเวลาทานอาหารมื้อเย็นที่ค่อนข้างเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป ทั้งนี้ชาวดัตช์รุ่นเก่ามักจะรับประทานอาหารท้องถิ่น ซึ่งจะประกอบด้วยมันฝรั่ง ผัก และเนื้อสัตว์ ส่วนชาวดัตช์รุ่นใหม่มักนิยมปรุงอาหาร หรือทดลองทานอาหารของชาติต่างๆ เช่น อาหารอิตาเลียน เม็กซิกัน และอาหารเอเชีย รวมถึงอาหารไทย
เทรนด์การบริโภคอาหารในปัจจุบันของเนเธอร์แลนด์ไม่เพียงแค่อาหาร Plant-based Food เท่านั้นที่เป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ชาวดัตช์มีความรักในการรับประทานอาหารทานเล่น (Snacks) โดยเฉพาะของ ทอดเป็นอย่างมาก อาทิ Kibbeling, Frikandel, Kroketen และ French Fries เป็นต้น
โดยการรับประทานของทอดมักจะรับประทานควบคู่ไปกับซอสจิ้มต่างๆ (Dipping Sauce) อาทิ มายองเนส ซอสมะเขือเทศ Mustard Sauce, Tartar Sauce, Cheese Sauce, Garlic Sauce, Sour Cream Sauce, Truffle Sauce, Seafood Sauce, BBQ Sauce, Curry Sauce และ Chili Sauce โดยเฉพาะ Sweet Chili Sauce และซอส พริกศรีราชา เป็นต้น
และมีการพัฒนารสชาติของซอสที่หลากหลายเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาวดัตช์ แม้แต่การเสิร์ฟแฮมเบอร์เกอร์โฮมเมดกับแป้งขนมปัง Brioche ก็มักจะเสิร์ฟคู่กับซอสแบบสโมคกี้ ซอสบาร์บีคิว หรือซอสทรัฟเฟิล และการเสิร์ฟฮอทดอกคู่กับซอสมัสตาร์ด ซอสมะเขือเทศ หรือซอสพริกศรี ราชาผสมมายองเนส (Sriracha Mayo) หรือ Spicy Chili Mayo ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนี้
ผู้ประกอบการในธุรกิจ HORECA มองว่าซอสต่างๆ มีส่วนช่วยทำให้เมนูอาหารมีรสชาติสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเชฟยังสามารถสร้างสรรค์เมนูหรือรสชาติของอาหารหรือซอสที่เป็น Signature ของร้าน ที่สามารถสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมนูอาหารและร้านอาหารได้ และยังสามารถสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าได้อีกด้วย โดยซอสที่ดีควรเป็นซอสที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติปราศจากสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ และมีสารเติมแต่งหรือวัตถุเจือปนอาหารน้อยที่สุด
ซอสที่เป็นที่นิยมในเนเธอร์แลนด์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. Hot Sauce
ซอสที่เสิร์ฟแบบร้อน มักจะมีรสชาติเข้มข้น ทำจากส่วนผสมจากธรรมชาติ ปราศจากสารปรุงแต่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งเชฟมักจะสร้างสรรค์ซอสในแบบของตัวเองเป็น Signature Sauce ที่จะช่วยเสริมให้เมนูอาหารมีรสชาติดีและสมบูรณ์แบบมากขึ้น
2. Basic Sauce
ซอสพื้นฐานที่เชฟสร้างสรรค์ได้ในเวลาไม่นาน มีส่วนผสมจากพืช และส่วนผสมจากธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งจะเน้นรสชาติเบสิกแบบธรรมชาติ ปัจจุบันซอสพื้นฐานที่ ได้รับความนิยมอย่างมาก คือซอสที่มีส่วนผสมของชีส (Cheese Sauce) โดยเฉพาะการเสิร์ฟคู่กับอาหารทานเล่นหรือ Snacks ประเภท Tortilla Chips, Bell Pepper or Jalapenos ซึ่งจะเป็นการอัปเกรดอาหารทานเล่นและช่วยเสริมให้รสชาติดีขึ้น
3. Cold Sauce
คือซอสที่ส่วนใหญ่จะมีรสชาติหวานหรือมีส่วนผสมของมายองเนสเป็นหลัก เป็นซอสที่ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยและไม่ได้จัดว่าเป็นซอสที่มีความแปลกใหม่ในตลาด สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามซูปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ จึงมักมีการปรับเพิ่มส่วนผสมหรือรสชาติ อาทิ การเพิ่มความหวาน ความเปรี้ยว และความเผ็ด หรือเพิ่มแตงกวาดองหรือผักดองอื่นๆ เช่น แครอท และหัวหอมในซอส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ในการรับประทานซอส เพื่อเพิ่มความ หลากหลายและให้มีความแตกต่างมากขึ้น เพื่อดึงดูดความสนใจจากกลุ่มลูกค้า
ชาวดัตช์ในปัจจุบันให้ความนิยมและชื่นชอบรสชาติเผ็ดมากขึ้น ซอสที่มีรสชาติเผ็ดจึงเป็นซอสที่ได้รับความนิยมอย่างมากและต่อเนื่อง มีอัตราการขยายตัวรวดเร็วที่สุดในเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะซอสพริก อัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 125
ด้วยความนิยมและชื่นชอบรสชาติเผ็ดของชาวดัตช์ เนเธอร์แลนด์มีการจัดเทศกาล Dutch Chili Fest ที่เมือง Eindhoven ซึ่งเป็นเทศกาลสำหรับพริกและซอสเผ็ดในเนเธอร์แลนด์ เทศกาล Dutch Chili Fest จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2555 ภายในงานมีการจัดแสดงและจำหน่ายพริกหลากหลายประเภท และสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับพริกและซอสที่มีรสชาติเผ็ด
นอกจากนี้ ในงานยังมีการแสดงดนตรีและการแข่งขันกินพริกอีกด้วย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวดัตช์ให้ความสนใจซอสพริกและซอสเผ็ดจำนวนมาก มีบทความและรีวิวมากมายบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับความเผ็ดร้อนของพริกแต่ละประเภทในซอสต่างๆ โดยเทรนด์ผู้บริโภคเกี่ยวกับซอสเผ็ดของเนเธอร์แลนด์ จะเน้นที่ความเผ็ด ผู้บริโภคมีความเชื่อว่ายิ่งเผ็ดยิ่งดี (The hotter the better) และเน้นให้ความสำคัญที่รสชาติความอร่อยและความแตกต่าง
อาหารไทยเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในเนเธอร์แลนด์ และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีรสชาติที่อร่อยและแตกต่างไม่เหมือนอาหารชาติใด รวมถึงเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นอาหารที่มีรสชาติเผ็ด
ชาวดัตช์เป็นผู้ที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวอย่างมาก โดยก่อนช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ชาวดัตช์เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึงประมาณ 200,000 – 250,000 คนต่อปี ดังนั้นความสนใจและความต้องการบริโภคอาหารไทยของชาวดัตช์จึงเพิ่มสูงขึ้น เมื่อชาวดัตช์มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทยก็จะทดลองรับประทานอาหารไทยและแนะนำให้กลุ่มเพื่อนและครอบครัวได้ลิ้มลองอาหารไทยด้วยเช่นกัน
ทำให้ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในเนเธอร์แลนด์ทั้งสิ้นประมาณกว่า 200 แห่ง และมีซูปเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้าจากเอเชียหลายแห่ง โดยมีสินค้าเอเชียและสินค้าไทยที่จำหน่ายครอบคลุมหลากหลายประเภท ได้แก่ ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว กะทิ เครื่องแกง เครื่องปรุงอาหาร ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหาร กระป๋อง อาหารแห้ง อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผักและผลไม้สด และเครื่องดื่มทั้งที่มีแอลกอฮอล์และไม่มี แอลกอฮอล์ เป็นต้น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ที่ส่งผลให้ร้านค้า และร้านอาหารต้องปิดให้บริการในร้านชั่วคราว การทำงานที่บ้าน และมาตรการอื่นๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวันและมีโอกาสในการรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง แต่มีเวลาอยู่บ้านและอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น
จนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการหันมาทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน ทำให้มีความต้องการวัตถุดิบ เครื่องปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ซอสต่างๆ ทั้งซอสสำหรับจิ้มและทานคู่กับอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ และซอสปรุงรสสำหรับการทำอาหารมากขึ้น
โดยจะเห็นได้จากจำนวนประเภทของซอสต่างๆ ที่วางจำหน่ายอยู่ใน ซูปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีซอสต่างๆ ของไทยวางจำหน่ายหลายสิบประเภท ทั้งซอสสำหรับจิ้มประเภทต่างๆ อาทิ ซอสพริก ซอสพริกศรีราชา ซอสพริกศรีราชาผสมมายองเนส น้ำจิ้มปอเปี๊ยะ น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มซีฟู้ด น้ำจิ้มบ๊วย น้ำยำ น้ำสลัด น้ำปลาหวาน เป็นต้น
และซอสปรุงรสประเภทต่างๆ อาทิ น้ำปลา น้ำปลาร้า น้ำมัน หอย ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วขาวเห็ดหอม ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วดำหวาน น้ำส้มสายชู ซอสผัดไทย ซอสผัดกะเพรา ซอสบาร์บีคิว ซอสผัดพริกไทยดำ ซอสผัดเปรี้ยวหวาน เป็นต้น
สินค้าไทยกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการมีผลิตภัณฑ์อาหารและขนมขบเคี้ยวที่มี รสชาติไทย มีรสเผ็ด หรือมีพริก ซอสพริก หรือซอสรสเผ็ดเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสซอสศรีราชา ซอสสำหรับจิ้มหรือทานคู่กับอาหาร โดยเฉพาะ Sriracha Mayo และขนมขบเคี้ยวที่มีการพัฒนารสชาติเป็นรสซอสศรีราชา รส Thai Sweet Chili Sauce เพื่อดึงดูดและตอบสนองความต้องการ ของลูกค้าในตลาด
ในปี 2564 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและสิ่งปรุงรสอาหาร (HS 2103 : Sauces and preparations) ไปเนเธอร์แลนด์คิดเป็นมูลค่า 56.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 26.80 โดยประเทศคู่ค้าที่เนเธอร์แลนด์นำเข้าผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและสิ่งปรุงรสอาหารมากที่สุด ได้แก่ เยอรมนี เบลเยี่ยม โปแลนด์ สหราชอาณาจักร และไทย
โดยส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าซอสปรุงรสและสิ่งปรุงรสอาหารภายใต้พิกัดศุลกากร HS 210390 รองลงมาคือ ซอสมะเขือเทศและอื่นๆ (HS 210320) ตามด้วยซอสปรุงรสที่ทำจาก ถั่วเหลือง (HS 210310) และแป้งมัสตาร์ดและซอสมัสตาร์ด (HS 210330)
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและสิ่งปรุงรสอาหารของไทยส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าผ่านผู้นำเข้าสินค้าอาหารเอเชียทั้งรายใหญ่และรายเล็ก และมีการวางจำหน่ายในซูปเปอร์มาร์เก็ตหลัก (Mainstream Supermarket) ของเนเธอร์แลนด์ อาทิ Albert Heijn, Jumbo, Plus, Aldi, Lidl ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ไทย และผลิตภัณฑ์ที่เป็น Private Label Brand แต่ผลิตในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีการวางจำหน่ายในซูปเปอร์มาร์เก็ตเอเชียและร้านขายสินค้าเอเชีย อาทิ Amazing Oriental ซึ่งมีทั้งหมด 24 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ และ Wah Nam Hong Supermarket ซึ่งมีสาขารวมทั้งหมด 7 สาขา
โดยแบ่งออกเป็น 6 สาขาที่เป็นร้านในรูปแบบซูปเปอร์มาร์เก็ต ตั้งอยู่ที่เมืองใหญ่ ได้แก่ Amsterdam (2 สาขา), Den Haag, Rotterdam (2 สาขา) และ Leidschendam ซึ่งตั้งอยู่ในห้าง Westfield Mall of the Netherlands และอีก 1 สาขาเป็นร้านในรูปแบบ Cash & Carry ตั้งอยู่ที่ Den Haag ซึ่งผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและสิ่งปรุงรสอาหารของไทยที่วางจำหน่ายในซูปเปอร์มาร์เก็ตเอเชียส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ไทย และมีประเภทของผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลายชนิดมากกว่า
สินค้าอาหารไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นในเนเธอร์แลนด์ และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เชฟในร้านอาหารยุโรปเริ่มมีการสร้างสรรค์เมนูอาหารจากอาหารไทย
โดยมีการใช้วัตถุดิบ ส่วนผสม ซอส และเครื่องปรุงอาหารไทยในการออกแบบเป็นเมนูอาหารในลักษณะ Fusion Food ที่มีการผสมผสานระหว่างอาหารชาติตะวันตกและอาหารชาติตะวันออกอย่างอาหารไทย และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นอีกหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคจากแบบเดิมที่นิยมบริโภคอาหารนอกบ้านที่ร้านอาหาร
โดยเฉพาะอาหารมื้อเย็น ไปสู่การที่ผู้บริโภคเริ่มทดลองทำอาหารรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น ซึ่งอาหารไทยเป็นหนึ่งในอาหารต่างชาติที่ชาวดัตช์นิยมทดลองทำรับประทานเองที่บ้าน เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่ชื่นชอบ และวัตถุดิบ และเครื่องปรุงอาหารไทยต่างๆ รวมถึงซอสปรุงรส ก็สามารถหาซื้อได้ง่ายในซูปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
โดยเฉพาะ ในซูปเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย ประกอบกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเล่นคู่กับซอสของชาวดัตช์ ทำให้ซอสของไทยที่มีให้เลือกหลากหลายชนิดได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากมีรสชาติดี มีรสเผ็ด และมีความแตกต่าง จึงเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดีสำหรับผลิตภัณฑ์ซอสและเครื่องปรุงรสต่างๆ ของไทยที่จะ สามารถเติบโตและขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จะต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคชาวดัตช์ให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และเนเธอร์แลนด์เป็นสังคมผู้บริโภค (Consumer Society) ที่ผู้บริโภคมีปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าโดยมุ่งเน้นด้านราคาและคุณภาพเป็นหลัก
ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานการผลิต คุณภาพของส่วนผสมและวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ ปราศจากสารปนเปื้อน และสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ และควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและแตกต่าง แต่ยังคงเอกลักษณ์ของรสชาติความเป็นไทย
บรรจุภัณฑ์ควรทำจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานได้ ง่ายและสะดวก มีหลายขนาดเพื่อความเหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม อาทิ กลุ่มร้านอาหาร และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป และควรมีรายละเอียดของผลิตภัณฑ์บนฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎระเบียบของ สหภาพยุโรป เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ซอสของไทยเป็นที่นิยมมากขึ้น สามารถขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
เยี่ยมชม
ditp.go.th
พฤติกรรมการบริโภคและโอกาสของซอสและเครื่องปรุงรสไทยในเนเธอร์แลนด์
พฤติกรรมการบริโภคและโอกาสของซอสและเครื่องปรุงรสไทยในเนเธอร์แลนด์
เนเธอร์แลนด์
ซอส
การตลาด
1 บันทึก
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย