15 ส.ค. 2022 เวลา 04:49 • ประวัติศาสตร์
การระบาดใหญ่ของเอชไอวี/เอดส์ที่สหรัฐอเมริกา/ทั่วโลก (Aids Crisis)
ในปีค.ศ.1979 (พ.ศ.2522) “ริค เวลลิคอฟฟ์ (Rick Wellikoff)” ครูประถมในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้พบว่าหลังหูของตนนั้นมีตุ่มนูนขึ้นมา
เวลลิคอฟฟ์ได้ไปพบแพทย์ และพบว่าตนนั้นเป็น “คาโปซิซาร์โคมา (Kaposi Sarcoma)” ซึ่งเป็นมะเร็งผิวหนังที่หาได้ยาก
คาโปซิซาร์โคมา หรือเรียกย่อๆ ว่า “KS” มักจะเกิดในชายอายุระหว่าง 50-60 ปี และในปีต่อมา ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) เวลลิคอฟฟ์ก็มีอาการเหนื่อยหอบ ดังนั้นในฤดูร้อน เขาจึงพักผ่อนที่บ้านโดยหวังว่าอาการจะดีขึ้น
2
ริค เวลลิคอฟฟ์ (Rick Wellikoff)
อีกด้านหนึ่ง “นิค ร็อค (Nick Rock)” คือชายหนุ่มหน้าตาดีที่ทำงานบนเรือสำราญ โดยในฤดูร้อนของปีนั้น ร็อคได้ไปพักผ่อนที่บ้านเพื่อนใกล้กับนิวยอร์ก แต่ร็อคกลับไม่ร่าเริงเหมือนแต่ก่อน
ร็อคมักจะมีอาการเหนื่อยง่าย ล้มป่วย น้ำหนักก็ลดลงอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป
ร็อคได้ไปพบแพทย์ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แฟนหนุ่มของร็อคจึงคิดว่าบางที หากได้อากาศบริสุทธิ์ริมทะเล อาจจะทำให้ร็อคมีอาการดีขึ้น
แต่เมื่อถึงเดือนกันยายน ร็อคกลับมีอาการแย่ลงจนขยับตัวแทบไม่ได้ แค่ลุกจากที่นอนและแต่งตัวก็เป็นเรื่องยาก อาจจะต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง หลังและไหล่ก็เริ่มงองุ้ม
1
ในเวลาต่อมา ร็อคได้หมดสติ และเมื่อนำตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์ก็ได้ทำการเอ็กซเรย์และพบว่าร็อคมีบาดแผลที่สมอง ซึ่งแพทย์ก็คาดว่าร็อคน่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่พบในแมว ซึ่งคนปกติทั่วไปซึ่งมีภูมิคุ้มกันปกติจะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว หากแต่ร็อคนั้นต่างออกไป
ขณะเดียวกัน ที่แคลิฟอร์เนีย “เคน ฮอร์น (Ken Horne)” ชายรักร่วมเพศและอดีตนักเต้นบัลเลต์วัย 37 ปี ได้มีรอยม่วงเป็นจ้ำๆ ทั่วร่าง และในช่วงสองปีที่ผ่านมา ฮอร์นก็มีอาการเหนื่อยหอบ
ทางด้านเวลลิคอฟฟ์ อาการของเขาก็แย่ลงอย่างมาก
ปอดของเขาเต็มไปด้วยของเหลว ต้องมีการใส่เครื่องช่วยหายใจ หากแต่เวลลิคอฟฟ์ขอกลับบ้าน ไม่ต้องการให้รักษาอย่างทรมานเช่นนี้
24 ธันวาคม ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) เวลลิคอฟฟ์เสียชีวิต
ทางด้านของร็อค อาการของเขาดีขึ้นอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะหัวใจวายและถูกนำส่งโรงพยาบาล ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
5 มิถุนายน ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) “ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention)” หรือ “CDC” ได้ตีพิมพ์รายงานสำคัญ
รายงานของ CDC ฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชายห้าคนในลอสแอนเจลิส ซึ่งเข้ารับการรักษาด้วยอาการปอดบวมชนิดที่หายาก และมีการติดเชื้อที่ปอด
เมื่อรายงานฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ ชายทั้งห้าคนนี้ก็ได้เสียชีวิตแล้ว โดยจุดร่วมที่ชายทั้งห้าเป็นเหมือนกัน คือทั้งห้าคนนี้เป็นชายรักร่วมเพศ
ชายกลุ่มนี้ รวมทั้งเวลลิคอฟฟ์ ร็อค และฮอร์น ต่างเป็นคนกลุ่มแรกๆ ในสหรัฐอเมริกาที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตก็สูงขึ้นเรื่อยๆ
ในปีค.ศ.1982 (พ.ศ.2525) มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในสหรัฐอเมริกาจำนวน 466 ราย ก่อนที่อีกสิบปีต่อมา ค.ศ.1992 (พ.ศ.2535) ผู้เสียชีวิตกลับมีสูงกว่า 40,000 ราย
ในช่วงแรกของวิกฤตโรคร้าย ไม่มีใครรู้ว่าโรคนี้คืออะไร ยังไม่มีแม้กระทั่งชื่อเรียกด้วยซ้ำ
รายงานของ CDC กลายเป็นที่สนใจของเหล่าแพทย์ รวมทั้ง “ดร.แอลวิน ฟรายด์แมน คีน (Dr. Alvin Friedman-Kien)” แพทย์ที่ประจำในนิวยอร์ก
คีนได้โทรศัพท์หา CDC และแจ้งว่าตนและแพทย์คนอื่นๆ ได้ทำการรักษาคนไข้ที่ป่วยด้วย KS และคนไข้ทั้งหมดนี้คือผู้รักร่วมเพศทั้งหมด
ดร.แอลวิน ฟรายด์แมน คีน (Dr. Alvin Friedman-Kien)
ในไม่ช้า แพทย์ทั่วประเทศก็ติดต่อหา CDC โดยรายงานว่าผู้ป่วยรักร่วมเพศจำนวนมากได้เสียชีวิตจาก KS และโรคปอดบวมที่หาได้ยาก
ปริศนาสำคัญคือ “ชายรักร่วมเพศเหล่านี้ป่วยจากอะไร?” และคำถามนี้ ทำให้ CDC ต้องตั้งกลุ่มเพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
กรกฎาคม ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) “Bay Area Reporter” หนังสือพิมพ์เกย์และเลสเบี้ยนในแคลิฟอร์เนีย ได้เขียนบทความเรื่อง “ปอดบวมของเกย์” และกระตุ้นให้ชายรักร่วมเพศที่มีปัญหาทางด้านการหายใจ ให้เข้าพบแพทย์
อีกไม่กี่วันต่อมา หนังสือพิมพ์ New York Times ก็ได้ลงบทความเกี่ยวกับ KS
ผู้ป่วยหลายคนมักจะไปที่คลับเกย์และมีการใช้ยา ทำให้แพทย์สงสัยว่าอาการป่วยนี้อาจจะเกิดจากยา โดยในบทความนั้น ได้เขียนว่าการที่โรคนี้จะติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
1
แพทย์รายหนึ่งได้ออกมากล่าวว่ายังไม่พบรายงานผู้ป่วยที่เป็นผู้หญิงหรือไม่ใช่คนรักร่วมเพศ ทำให้ผู้คนเริ่มเรียกโรคนี้ว่า “มะเร็งเกย์ (Gay Cancer)”
3
ความเข้าใจผิดนี้จะก่อผลร้ายมากในเวลาต่อมา
ในช่วงแรกของวิกฤตโรคเอดส์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่คือชายรักร่วมเพศ และนอกจากแพทย์และพยาบาลที่พอจะช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ ก็คือชุมชนผู้รักร่วมเพศที่คอยยืนหยัดเคียงข้างพวกเขา
1
ในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) “แลร์รี เครเมอร์ (Larry Kramer)” นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน ได้เชิญชายรักร่วมเพศกว่า 80 คนมายังอพาร์ทเม้นท์ของเขา เพื่อพูดคุยถึงปัญหาโรคร้าย
เครเมอร์เองก็เป็นชายรักร่วมเพศ และได้เชิญดร.คีนมาร่วมพูดคุยด้วย
ดร.คีนได้บอกตามตรงว่าหนทางที่จะเอาชนะโรคนี้ยังอีกยาวไกล จะต้องมีผู้เสียชีวิตอีกมาก และเงินทุนในการวิจัยก็คือสิ่งจำเป็น
แต่การรอเงินจากรัฐบาลก็อาจจะไม่ทันการณ์ ซึ่งในคืนนั้น เครเมอร์และคนอื่นๆ ก็ได้ร่วมบริจาคเงิน และได้เงินมาเป็นจำนวน 6,635 ดอลลาร์ (ประมาณ 233,000 บาท) และมอบเงินจำนวนนี้ให้ดร.คีนใช้เป็นทุนในการวิจัย
ในเวลาต่อมา เครเมอร์และชายรักร่วมเพศคนอื่นๆ ได้ร่วมกันแจกใบปลิวบทความและข่าวเกี่ยวกับวิกฤตการณ์โรคร้ายให้คนทั่วไปรับทราบ และขอให้ร่วมบริจาคเงินให้ดร.คีนในการทำวิจัย หากแต่เงินที่ได้รับบริจาคนั้น ก็เพียงแค่ 124 ดอลลาร์ (ประมาณ 4,340 บาท) เท่านั้น
1
นอกจากนั้น เครเมอร์ยังพยายามติดต่อกับทางการเพื่อพูดคุยเรื่องปัญหาโรคร้าย หากแต่ก็ไม่มีใครใส่ใจ แม้แต่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง “โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan)” และคณะรัฐบาล ก็ยังไม่ใส่ใจ
1
โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan)
ตุลาคม ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) “บ๊อบบี แคมป์เบลล์ (Bobbi Campbell)” บุรุษพยาบาลจากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งป่วยด้วย KS ได้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่าตนเป็น KS และนับเป็นคนแรกที่เผยตัวและพูดเรื่อง KS อย่างเปิดเผย
1
ต่อมาในเดือนธันวาคม แคมป์เบลล์ได้เขียนบอกเล่าเรื่องราวของตนลงหนังสือพิมพ์เกย์ และตั้งกลุ่มสนับสนุนผู้ป่วย KS โดยกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจาก “Shanti Project”
1
Shanti Project คือโครงการที่นำผู้ป่วยโรคมะเร็งและอาสาสมัครให้มาเจอกัน และช่วยสนับสนุน บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยในด้านต่างๆ
1
บ๊อบบี แคมป์เบลล์ (Bobbi Campbell)
ต่อมา 4 มกราคม ค.ศ.1982 (พ.ศ.2525) เครเมอร์และคนอื่นๆ อีกห้าคน ได้ก่อตั้ง “Gay Men's Health Crisis” หรือ “GMHC” ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ป่วยและมีเป้าหมายในการหยุดโรคร้าย
มีผู้เข้าร่วมกับ GMHC มากมาย และทำการช่วยเหลือผู้ที่ป่วยด้วยโรคร้ายนี้
ทางด้าน CDC ก็ได้พยายามศึกษาเรื่องของโรคร้ายนี้ โดยใช้เงินทุนที่มีอย่างจำกัด และคำของบประมาณจากรัฐบาลก็ยังถูกเพิกเฉย
ได้เกิดเคสใหม่ๆ กับบุคคลที่ไม่ใช่ผู้รักร่วมเพศ โดยในช่วงแรก เคสเหล่านี้ก็คือผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาฉีดยาเสพติดเข้าเส้นเลือด รวมทั้งทารกของผู้ที่ใช้เข็มฉีดยา อีกทั้งผู้ที่ต้องรับการถ่ายเลือดก็ล้วนแต่ติดเชื้อ
เมื่อถึงเดือนกันยายน ค.ศ.1982 (พ.ศ.2525) CDC ก็ได้ตั้งชื่อให้แก่โรคนี้
“acquired immunodeficiency syndrome” หรือ “AIDS (เอดส์)” นั่นเอง
1
ในปีค.ศ.1982 (พ.ศ.2525) CDC ได้รายงานว่าเอดส์สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งสำหรับชุมชนรักร่วมเพศ นี่ถือเป็นข่าวร้าย
1
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เราต้องย้อนกลับไปดูชีวิตของกลุ่มคนรักร่วมเพศเมื่อราวๆ 30-60 ปีก่อนในสหรัฐอเมริกา
2
ในยุค 50 (พ.ศ.2493-2502) การมีพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
คนรักร่วมเพศต้องปิดบังชีวิตของตนเป็นความลับ หากเปิดเผย อาจจะถูกไล่ออกจากงานและถูกครอบครัวรังเกียจ
แต่เมื่อถึงยุค 70 (พ.ศ.2513-2522) ชุมชนคนรักร่วมเพศก็เริ่มเติบโต ได้มีความพยายามจะแก้กฎหมายและต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมสำหรับชาวรักร่วมเพศ ผู้คนที่รักร่วมเพศเริ่มจะกล้าเปิดเผยตัวตน
เมื่อได้รับอิสระ ชาวรักร่วมเพศจึงเริ่มแสดงความรักอย่างอิสระ หลายคนมีการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ซึ่งถือว่าเสี่ยงมาก
ในเวลานั้น ผู้คนยังไม่รู้ แต่ “เอชไอวี (HIV)” ได้ถูกส่งต่อ แพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งในนิวยอร์กตั้งแต่ยุค 70 (พ.ศ.2513-2522) แล้ว
ในเวลาต่อมา นักวิทยาศาสตร์ยังได้เรียนรู้ว่า เอชไอวี/เอดส์ มีระยะเวลาอาการซ่อนเร้นที่ยาวนาน นั่นหมายถึงกว่าจะแสดงอาการ ผู้ป่วยก็ติดเชื้อมาเป็นเวลานานแล้ว อาจจะเป็นเวลาหลายปี
โรคร้ายได้แพร่ไปถึงซานฟรานซิสโกในปีค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) และเมื่อถึงต้นยุค 80 (พ.ศ.2523-2532) ครึ่งหนึ่งของผู้รักร่วมเพศในซานฟรานซิสโกก็ติดเชื้อไปเรียบร้อยแล้ว
1
เมื่อทราบว่าการติดเชื้อนั้นสามารถติดเชื้อผ่านการรักร่วมเพศ ชุมชนชาวรักร่วมเพศก็เริ่มจะกังวล
1
อิสรภาพคือสิ่งสำคัญสำหรับชาวรักร่วมเพศ และแพทย์จำนวนมากก็มีทัศนคติที่ไม่ดีนักต่อผู้รักร่วมเพศ
ในสมัยนั้น แพทย์มองว่าการรักร่วมเพศ คืออาการทางจิตที่สามารถรักษาได้ ซึ่งวิธีการรักษานั้นก็ล้วนแต่โหดร้าย ทั้งการช็อตไฟฟ้า รวมทั้งการผ่าตัดสมอง
1
ก่อนที่จะมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยวิธีการที่น่าเชื่อถือในปีค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) หลายคนเกรงว่าตนอาจจะติดเชื้อไปแล้ว หากแต่ยังไม่รู้ตัว
กลุ่มผู้รักร่วมเพศทั่วสหรัฐอเมริกา เริ่มจะแพร่กระจายข่าวเรื่องของเอดส์ รวมทั้งวิธีการป้องกันตนเองจากเอชไอวี หลายกลุ่มมีการแจกใบปลิวและเผยแพร่ข่าวด้วยวิธีการต่างๆ
แต่ถึงจะมีการเผยแพร่ความรู้ หากแต่ยังไม่มีวิธีรักษา แพทย์จึงทำได้เพียงรักษาตามอาการ มีการทดลองยาต่างๆ กับผู้ป่วยโดยหวังจะยืดอายุของผู้ป่วย
CDC เองก็ยังไม่เข้าใจในโรคนี้มากนัก กว่าจะมีการยืนยันว่าเอชไอวีไม่สามารถแพร่ทางอากาศ ทางน้ำลาย และตามพื้นผิวต่างๆ ก็ปาเข้าไปปีค.ศ.1983 (พ.ศ.2526)
แพทย์และพยาบาลหลายคนก็ปฏิเสธที่จะรักษาหรือแม้กระทั่งแตะต้องตัวผู้ป่วยเอดส์ บริษัทประกันจำนวนมากก็ปฏิเสธที่จะทำประกันต่อผู้ป่วยเอดส์
และเพื่อที่จะปรับปรุงการดูแลรักษาผู้ป่วย โรงพยาบาล “San Francisco General Hospital” ที่ซานฟรานซิสโก ได้เปิดคลินิคสำหรับผู้ป่วยเอดส์แห่งแรกของโลกในปีค.ศ.1983 (พ.ศ.2526)
2
คลินิคนี้เป็นความร่วมมือกับ Shanti Project โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลใน “Ward 5B” และผู้ดูแล ก็คือแพทย์และพยาบาลซึ่งอาสาเข้ามาดูแลผู้ป่วย
2
และในปีค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) นี้เอง สภายังได้อนุมัติงบประมาณในการวิจัยและรักษาผู้ป่วยเอดส์เป็นจำนวน 12 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 420 ล้านบาท)
ในเวลานั้น มีรายงานเคสผู้ป่วยเอดส์ในรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกากว่า 30 รัฐ โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มใหญ่ๆ มักจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่
แต่ในเดือนมิถุนายนของปีนั้น ทุกอย่างก็ได้เปลี่ยนไป โดยในงานประชุมสุขภาพของเกย์และเลสเบียนที่โคโลราโด การเคลื่อนไหวทางสังคมก็ได้กลายเป็นกลุ่มใหญ่ระดับชาติ
มีการก่อตั้งสมาคมที่เรียกว่า “People with Aids” หรือ “PWA”
PWA ได้ออกมากล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเอดส์ไม่ควรถูกกล่าวโทษจากอาการป่วยของตน ผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจเรื่องนโยบายสาธารณสุข ต้องได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม
การต่อสู้ของ PWA ได้ลุกลามไปทั้งประเทศ หากแต่หนทางข้างหน้าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ภายในปีค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) ในที่สุด นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบไวรัสที่เป็นที่รู้จักในนามของ “เอชไอวี (HIV)” ซึ่งเป็นไวรัสที่นำไปสู่โรคเอดส์
1
ปีต่อมา มีการพัฒนาการตรวจเลือดเพื่อหาเอชไอวี
กระบวนการนี้เป็นขั้นตอนสำคัญ หากแต่รัฐบาลอเมริกันก็ยังคงเชื่องช้า ข้อมูลที่ถูกต้องยังไม่ได้รับการเผยแพร่สู่ประชาชน
และยิ่งชาวอเมริกันหวาดกลัวเอดส์ ข้อมูลผิดๆ ก็ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ
ผู้คนเข้าใจว่าเอดส์คือ “มะเร็งเกย์” ทำให้ต่างหวาดกลัวผู้รักร่วมเพศ
หลายคนเข้าใจว่าเอดส์สามารถติดต่อกันได้ผ่านการจาม ทำให้ไม่กล้าเข้าใกล้ผู้รักร่วมเพศ แม้แต่แตะตัวก็ไม่กล้า เกิดกระแสความเกลียดชังผู้รักร่วมเพศ
4
รัฐในสหรัฐอเมริกากว่า 20 รัฐได้พยายามจะออกกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ทำอาชีพบางอาชีพ เช่น ครู อาจารย์ รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยเอดส์
และผู้ที่เดือดร้อน ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้รักร่วมเพศเท่านั้น
“ไรอัน ไวท์ (Ryan White)” คือเด็กชายวัย 13 ปีจากอินเดียนา สหรัฐอเมริกา
ไรอัน ไวท์ (Ryan White)
ไวท์ป่วยเป็นโรคโลหิตไหลไม่หยุดและได้รับการถ่ายเลือดในปีค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) ซึ่งเป็นโชคร้ายของไวท์ที่เลือดนั้นมีไวรัสปนอยู่ด้วย
1
ภายหลังการถ่ายเลือด ไวท์ก็ล้มป่วย และแพทย์ก็บอกว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงหกเดือนเท่านั้น แต่ไวท์ก็ไม่ยอมแพ้ และพยายามสู้จนแข็งแรงและสามารถกลับไปเรียนได้
1
หากแต่ที่โรงเรียน ไม่มีใครต้อนรับไวท์
ผู้ปกครองกว่า 100 ราย อาจารย์อีก 50 ราย ต่างเรียกร้องให้ไวท์อยู่บ้าน ห้ามให้เข้าเรียนร่วมกับนักเรียนคนอื่นๆ ซึ่งผู้อำนวยการก็ยินยอม
เมื่อเป็นอย่างนี้ ครอบครัวไวท์จึงได้ยื่นเรื่องต่อศาล ซึ่งก็ตามมาด้วยการถูกข่มขู่และดูถูกมากมาย
แต่ถึงอย่างนั้น ไวท์ก็ได้รับจดหมายที่ส่งมาให้กำลังใจจากทั่วโลก และในเวลาต่อมา ไวท์ก็ได้รับอนุญาตให้กลับไปเรียน
1
แต่ในวันแรกที่กลับไปเรียน นักเรียนเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งโรงเรียนไม่ยอมมาเรียน และผู้พิพากษาก็ตัดสินให้ไวท์อยู่บ้าน ห้ามมาโรงเรียน
ต่อมา ไวท์ได้รับอนุญาตให้กลับไปเรียน แต่ก็ไม่สามารถเข้าโรงยิม รวมทั้งห้องน้ำก็ต้องแยก อีกทั้งอาหารกลางวันก็ถูกจัดเป็นพิเศษ ช้อนส้อมก็เป็นแบบใช้แล้วทิ้ง
ครอบครัวไวท์ยังคงได้รับการข่มขู่สารพัด รวมทั้งมีคนยิงปืนทะลุกระจกเข้ามายังห้องนั่งเล่นของครอบครัว ทำให้ครอบครัวไวท์ต้องย้ายไปที่อื่น
1
ไวท์ต้องย้ายไปเรียนยังโรงเรียนมัธยมแห่งใหม่ ซึ่งโรงเรียนใหม่นี้แตกต่างจากโรงเรียนเก่าลิบลับ
วันแรกที่ไวท์มาเรียน มีนักเรียนหยุดเรียนเพียงแค่สองคนจากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 620 คน และแทนที่จะถูกขู่ ถูกรังเกียจ เหล่านักเรียนต่างเข้ามาจับมือ ทักทายอย่างเป็นกันเอง
2
สาเหตุที่เหล่านักเรียนไม่หวาดกลัวไวท์ ก็เนื่องจากก่อนที่ไวท์จะย้ายมา คณะกรรมการนักเรียนได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์มาให้ความรู้เรื่องของเอชไอวีและเอดส์ ซึ่งนักเรียนก็นำความรู้นี้ไปเล่าให้ผู้ปกครองฟังอีกต่อหนึ่ง
3
ไวท์ก็เป็นเช่นผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่ไม่เพียงแต่ต้องสู้กับโรคร้าย หากแต่ยังต้องสู้กับความกลัวของผู้คนอีกด้วย
ไวท์กลายเป็นคนดัง เขาได้ลงนิตยสารและออกรายการโทรทัศน์ และต้องเดินทางไปโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ อีกทั้งยังเขียนหนังสือของตนเองอีกด้วย
2
ถึงแม้ว่าแพทย์จะบอกว่าเขาจะอยู่ได้เพียงหกเดือน แต่ไวท์ก็อยู่ได้นานถึงหกปี ก่อนจะเสียชีวิตในเดือนเมษายน ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533)
กว่าประธานาธิบดีจะพูดเรื่องเอดส์ต่อสาธารณชน ก็คือเดือนกันยายน ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) ซึ่งสาเหตุที่ท่านประธานาธิบดียอมพูดในประเด็นนี้ ก็เนื่องจากในช่วงต้นปีนั้น หนึ่งในเพื่อนของประธานาธิบดีเรแกนได้ออกมาเผยว่าตนนั้นเป็นเกย์และกำลังจะตายด้วยโรคเอดส์
1
ชายผู้นั้นคือ “ร็อค ฮัดสัน (Rock Hudson)” นักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดัง
ชาวอเมริกันต่างติดตามข่าวของฮัดสันอย่างใจจดใจจ่อ และในช่วงเวลาไม่กี่เดือน หนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างก็เขียนเรื่องราวของโรคเอดส์
ร็อค ฮัดสัน (Rock Hudson)
ตุลาคม ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) ฮัดสันเสียชีวิตด้วยวัย 59 ปี และเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) จำนวนเกือบ 7,000 คน
จากพินัยกรรมของฮัดสัน ฮัดสันได้มอบเงินจำนวน 250,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 8.75 ล้านบาท) เพื่อก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการวิจัยโรคเอดส์
2
ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) “เจอร์รี สมิท (Jerry Smith)” นักอเมริกันฟุตบอลชื่อดัง ได้ประกาศว่าตนเป็นเอดส์และกำลังจะเสียชีวิต และเขาก็ได้เสียชีวิตในปีค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) นี้
เจอร์รี สมิท (Jerry Smith)
ในปีนี้เอง ประธานาธิบดีเรแกนได้ขออนุมัติงบประมาณจำนวน 126 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4,400 ล้าน) เพื่อการวิจัยโรคเอดส์ ซึ่งมากกว่าในปีค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) กว่าสิบเท่า ซึ่งสภาก็อนุมัติเงินให้ถึง 190 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6,650 ล้านบาท)
แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนก็ไม่ได้มองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นคือความสำเร็จ
ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ในสหรัฐอเมริกาของปีค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้รักร่วมเพศหลายคนต่างพูดตรงกันว่า พวกตนนั้นไปงานศพมากกว่างานวันเกิดเสียอีก
มีการพัฒนาสูตรยา หากแต่ “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration)” หรือ “FDA” ก็ดำเนินการอย่างเชื่องช้า กว่าที่ยาบางตัวจะได้รับการอนุมัติ อาจต้องใช้เวลาถึงสิบปีเลยทีเดียว
เครเมอร์ได้กล่าวสปีชในปีค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) โดยกล่าวว่า ถึงเวลาที่ชาวรักร่วมเพศจะต้องออกมาจัดการ พูดในสิ่งที่จำเป็น และทำอะไรซักอย่าง
อีกไม่กี่วันต่อมา มีการร่วมมือก่อตั้งกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า “ACT UP”
ACT UP จะดำเนินการประท้วงอย่างเข้มข้นเพื่อท้าทายบริษัทยา ธนาคาร และรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้องว่ายารักษาเอดส์จะต้องมีการพัฒนาให้รวดเร็วกว่านี้และจัดให้ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้
หนึ่งสัปดาห์หลังจากมีการก่อตั้ง ACT UP “AZT” ยาต้านไวรัสและรักษาเอชไอวีตัวแรก ก็ได้ออกสู่ตลาด
จากผลการศึกษา พบว่าผู้ป่วยที่ใช้ AZT สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้ AZT
ข่าวการผลิต AZT ทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีความหวัง จนกระทั่งทราบถึงราคายา
ราคาของ AZT นั้น อยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งหากคิดตามค่าเงินปัจจุบัน จะมากกว่า 20,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 700,000 บาท) เลยทีเดียว
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถทำงานได้ บริษัทประกันก็ไม่รับทำประกัน แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย?
24 มีนาคม ค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) ACT UP ได้ทำการประท้วงขึ้นที่หน้าวอลล์สตรีท ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจในนิวยอร์ก
ผู้ประท้วงจับมือกัน ปิดการจราจร และแจกใบปลิว เรียกร้องความยุติธรรมให้ PWA
ผู้ประท้วงจำนวน 17 ราย รวมทั้งแพทย์และพยาบาล ได้ถูกจับกุม
ภายหลังการประท้วง FDA ก็ได้ประกาศว่าจะเร่งให้มีการออกยาตัวใหม่โดยเร็ว และภายหลังการประท้วงอีกหลายครั้ง บริษัทที่ผลิต AZT ก็ได้ลดราคายาต่อปีลง เหลือ 6,500 ดอลลาร์ (ประมาณ 227,000 บาท) ซึ่งราคาก็ไม่ได้ถูกเท่าไรนัก
1
ในเวลาต่อมา ACT UP ก็ได้ร่วมกับผู้ประท้วงอีก 300,000 คน ชุมนุมที่เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้รัฐบาลต่อสู้เพื่อต้านโรคให้มากกว่านี้ และตามมาด้วยการประท้วงในรูปแบบต่างๅ อีกมากมาย
2
แต่ถึงอย่างนั้น กระบวนการก็ยังล่าช้า ยาก็ยังใช้ไม่ได้เต็มที่ ในทุกๆ ปียังมีคนตายเพราะโรคเอดส์อยู่ ตั้งแต่ค.ศ.1987-1992 (พ.ศ.2530-2535) มีผู้เสียชีวิตเพราะโรคเอดส์เกือบ 200,000 คน
ไวรัสเช่นเอชไอวี เป็นไวรัสที่สามารถกลายพันธุ์ได้ ทำให้เป็นการยากที่นักวิทยาศาสตร์จะหาทางทำลายมันได้
AZT เป็นยาต้านไวรัสตัวแรกที่มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเอชไอวี/เอดส์ หากแต่ไวรัสก็ฉลาด สามารถหลบหลีกได้ ทำให้ AZT ใช้การไม่ได้อีก
นั่นจึงทำให้นักวิทยาศาสตร์คิดที่จะ “หยุด” ไวรัส แทนที่จะ “ทำลาย”
AZT ใช้ได้ผลกับหนึ่งในสามเอนไซม์ของเอชไอวี และในปีค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) ก็มีการพัฒนายาที่จะใช้ในเอนไซม์ตัวที่สอง และก็ประสบความสำเร็จ ไม่เพียงแค่ไวรัสไม่สามารถกลายพันธุ์ได้เท่านั้น หากแต่ไม่สามารถทำลายภูมิคุ้มกันได้
2
ภายใน 30 วันหลังจากรับยา ผู้ติดเชื้อเอชไอวีบางคนที่เข้ารับการตรวจเชื้อ ก็ตรวจไม่พบระดับเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนักก็มีอาการดีขึ้น
2
ถึงแม้นี่จะเป็นข่าวดี แต่ยาก็มีผลข้างเคียง การทานยาก็ต้องทานให้ตรงเวลา
ค.ศ.1996 (พ.ศ.2539) จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ในสหรัฐอเมริกาได้ลดลงเป็นจำนวนมาก และค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ
1
แต่ถึงแม้กระบวนการรักษาเอชไอวีจะพัฒนาไปได้มากแค่ไหน แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามพัฒนายาที่จะป้องกันเอชไอวี
1
ในปีค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) มีการพัฒนายาที่เรียกว่า “PrEP” ซึ่งใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสโรค โดยการรับประทานยาวันละหนึ่งเม็ดทุกวัน
1
หากทานอย่างต่อเนื่อง PrEP นั้นจะใช้ได้ผลดีมาก ส่วนอีกตัวหนึ่ง คือ “PEP”
1
หากมีความเสี่ยงมา และรับยา PEP ภายในสามวันหลังจากมีความเสี่ยง PEP จะช่วยให้โอกาสติดเชื้อนั้นน้อยลงอย่างมาก
นอกจากนั้น กระบวนการรักษาก็มีการพัฒนา โดยเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ โดยหากอยู่ในความดูแลของแพทย์ มีโอกาสที่แม่ซึ่งติดเชื้อเอชไอวีจะไม่สามารถส่งต่อเชื้อสู่ลูกได้ถึง 99% และหากเด็กทารกที่เกิดมาโดยมีเชื้อเอชไอวี หากเข้ารับการรักษาตั้งแต่ทีแรก ก็จะสามารถควบคุมไวรัสได้
1
หากแต่วิธีการรักษา คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังต้องศึกษาต่อไป
ในปีค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) และค.ศ.2017 (พ.ศ.2560) ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสองรายได้หายจากการติดเชื้อ ภายหลังเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก
1
ภายหลังจากรักษาจนหาย ก็พบว่าผู้ติดเชื้อทั้งสองรายไม่กลับมาติดเชื้ออีกครั้ง ถึงแม้จะหยุดการทานยาก็ตาม
“ลอรีน วิลเลนเบิร์ก (Loreen Willenberg)” คือหญิงชาวอเมริกันซึ่งติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่ปีค.ศ.1992 (พ.ศ.2535)
ลอรีน วิลเลนเบิร์ก (Loreen Willenberg)
แต่มีสิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับร่างกายของวิลเลนเบิร์ก เนื่องจากถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับยา แต่ไวรัสก็ไม่สามารถทำให้เธอล้มป่วยหรือร่างกายอ่อนแอ
ถึงแม้เอชไอวีจะยังคงอยู่ในร่างกายของวิลเลนเบิร์ก แต่เธอก็ไม่เป็นอะไรเลย และในปีค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) ก็ตรวจไม่พบไวรัสเอชไอวีในร่างกายของวิลเลนเบิร์ก ซึ่งดูเหมือนว่าร่างกายของเธอจะขจัดไวรัสนี้ออกไปได้เอง
3
นั่นทำให้วิลเลนเบิร์ก เป็นหนึ่งใน 60 คนที่นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษา โดย 60 คนนี้คือคนที่ร่างกายสามารถหยุดไวรัสนี้ได้เอง
2
แต่ถึงแม้เทคโนโลยีการรักษาจะก้าวหน้า และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ทั่วโลกลดลง หากแต่วิกฤตการณ์เอดส์ยังไม่จบ
ในปีค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีกว่า 38 ล้านคนทั่วโลก โดยมีผู้เข้ารับการรักษาจำนวน 26 ล้านคน อีกราวเจ็ดล้านคนยังไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ และสามารถแพร่กระจายไวรัสนี้
ที่สหรัฐอเมริกา ในปีค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) มีเคสเอชไอวีที่รายงานเข้ามาถึง 38,000 เคส และในรัฐทางใต้ จำนวนก็ได้เพิ่มขึ้น
ก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่าอนาคตสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จะเป็นอย่างไร ท่ามกลางการแพทย์และยาที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน
โฆษณา