14 ส.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
เมืองศรีเทพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ครั้งที่ควอริชท์ เวลล์ จากสมาคมมหาอินเดีย Grater India เข้ามาสำรวจ
นักมานุษยวิทยา-โบราณคดี เฮช.จี.ควอริชท์ เวลล์ [H.G. Quaritch Wales] เขียนบทความเรื่อง Early Indian Art from the Siam Jungle. ลงใน The Illustrated London News วันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๗ หรือ พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยกล่าวว่าเป็นการสำรวจเมืองศรีเทพครั้งแรกโดยนักโบราณคดีชาวยุโรป โดยรูปแบบศิลปะที่พบได้เปิดเผยให้เห็นถึง ‘บ้านเมืองโบราณที่เป็นอาณานิคมของอินเดีย’ [An ancient Indian colonial city] ในอินโดจีนที่ถูกทิ้งร้างไปเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑
ควอริชท์ เวลล์ รับตำแหน่งผู้อำนวยการภาคสนามของคณะกรรมการวิจัย ‘มหาอินเดีย’ [The Greater Indian research committee] ซึ่งโครงการนี้เป็นตัวแทนของ The Royal Asiatic Society, India Society และ School ra of Oriental Studies และอยู่ภายใต้การนำของ Sir Francis Younghusband ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการสำรวจทางโบราณคดีใน ‘มหาอินเดีย’ [Greater India] หรือในอาณาบริเวณที่วัฒนธรรมอินเดียแพร่ไป
ซึ่งนักวิชาการชาวเบงกาลีนิยมใช้คำนิยามนี้ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๒๐ (นักวิชาการสำคัญที่เราคุ้นเคยกันคือ R.C .Majumdar นักประวัติศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากในช่วงก่อนและหลังการประกาศเอกราชของอินเดียรวมทั้งรพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ด้วย ) ที่ครอบคลุมอนุทวีปอินเดียและประเทศโดยรอบที่เชื่อมโยงด้วยอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียอันหลากหลายตั้งแต่ประมาณ ๕๐๐ BCE.
ซึ่งการขยายตัวของการค้าและการเดินเรือในภูมิภาคเอเชียส่งผลให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมและเผยแพร่ความเชื่อในศาสนาฮินดูและพุทธ และมีแนวโน้มที่เน้นวัฒนธรรมแบบฮินดูอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ใช้กันในเวลาต่อมา เพราะขัดแย้งในลักษณะเป็นจินตนาการภาพของรัฐชาติที่เป็นหนึ่งเดียว ข้ามทั้งท้องถิ่นและอยู่เหนือระดับความเป็นชาติ
1
แทนที่จะพิจารณาในมุมมองที่แคบกว่านี้ในการก่อร่างสร้างตัวตนของชุมชนที่กลายมาเป็นหนึ่งเดียวในพื้นที่ กระบวนการศึกษา มหาอินเดีย [Greater India] นั้น เป็นข้อถกเถียงของปัญญาชนผู้สร้างความเป็นชาตินิยมในโลกของอาณานิคมในอดีต
ซึ่งในขณะนั้นอินเดียเองกำลังเผชิญปัญหาช่วงก่อนและหลังการประกาศเอกราชอย่างสำคัญ โดยเฉาะการแยกชาวมุสลิมออกมากลายเป็นประเทศบังคลาเทศ โดยใช้วิชาการทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยาและจารึก โดยใช้ผลงานของงานวิจัยของฝรั่งเศสจากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ EFEO แม้จะนำมาปรับใหม่เป็นของตนเองอยู่บ่อยครั้ง ในแนวคิดของลัทธิล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรมของอินเดียโบราณ ที่จะถือว่าว่าวัฒนธรรมของพวกอาณานิคมจะด้อยกว่าวัฒนธรรมผู้ปกครอง (คืออินเดียโบราณ) และมีฐานะเป็นผู้รับอารยธรรมของชาติอื่นมากกว่า
การพบจารึกศรีเทพ ซึ่งน่าจะพบมาตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์แล้ว จารึกศรีเทพนี้แปลโดย ศ.เซเดส์ จากข้อมูลนี้ยืนยันว่าเมืองนี้เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒
ควอริชท์ เวลล์ยังลงความเห็นอีกว่าเป็นการพบประติมากรรมแบบอินเดีย รวมทั้งปราสาทหอสูง (ปรางค์ศรีเทพ) เขาเชื่อว่าเป็นโครงสร้างเก่าแก่ที่สุดในอินโดจีนทีเดียว และสรุปว่าเมืองนี้มีพื้นที่ประมาณ ๒๔ ตารางกิโลเมตร และมีเชิงเทิน ถนน และสระน้ำกว้างใหญ่ โดยได้ทำแผนผังไว้อย่างละเอียดด้วย
ความสำคัญของศรีเทพสำหรับควอริชท์ เวลล์ คือเผยให้เห็นศิลปะของชาวอาณานิคมอินเดียที่เก่าแก่ที่สุด และเขายังสรุปและลงความเห็นอีกว่า การค้นพบนี้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาศิลปะเขมรและจามในเวลาต่อมา...
ช่วงเวลาต่อมาควอริชท์ เวลล์เสนอว่า เมืองศรีเทพถูกทิ้งร้าง เนื่องจากการบุกรุกของอาณาจักรฟูนันน่าจะในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ชาวเขมรก็เข้ามายึดครองใหม่ จึงพบศิลปะและสถาปัตยกรรมของเขมรในกลุ่มภาพต่างๆ ที่นำมาให้ดู
นี่คือแนวคิดของนักวิชาการชาวอังกฤษที่เป็นนักมานุษยวิทยาในรุ่นแรกๆ ที่จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และอยู่ในกระแสแนวคิดแบบ Indianization และ Grater India ในช่วงเวลานั้น โดยพบหลักฐานคือ ปรางค์ศรีเทพ ซึ่งไปกำหนดอายุไว้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ โดยอาจจะอิงกับจารึกศรีเทพที่เซเดส์อ่านไว้แล้วและกำหนดอายุไว้ประมาณนี้
โดยหนังสือเรื่อง เที่ยวที่ต่างๆ ภาค ๓ เล่าเรื่องเที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทำให้ทราบว่า จารึกที่ทรงกล่าวถึงในคราวที่พระองค์ไปเยือนเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๕) นั้น ทรงอธิบายว่า...
… ศิลาจารึกพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้ เป็นของแปลกมาก สัณฐานคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างปลายที่เสี้ยมแหลมเป็นแต่ถากโกลน สำหรับฝังดิน ขัดเกลี้ยงแต่ที่หัวเห็ดจารึกอักษรไว้ที่นั้น เป็นอักษรคฤนถ์ชั้นก่อนหนังสือขอม แต่ตรงที่จารึกแตกชำรุดเสียมาก ได้เอาศิลานี้ ลงมากรุงเทพฯ ให้อ่านดู เป็นภาษาสันสกฤตมีคำว่า ‘ขีลัง' ซึ่งแปลว่า ‘หลัก’ จึงเข้าใจว่าศิลาแท่งนี้ คือหลักเมืองศรีเทพ แบบโบราณ เขาทำเป็นรูปตะปูตอกลงไว้ในแผ่นดิน ประสงค์ว่าให้มั่นคง ...
เนื้อหาประมาณว่าเป็นจารึกที่กล่าวสรรเสริญบุคคล ซึ่งอาจเป็นพระราชา หรือ เชื้อพระวงศ์ที่ปกครองเมืองศรีเทพในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ตามแบบ อักษรปัลลวะ
อย่างไรก็ตาม การตั้งข้อสังเกตของควอริชท์ เวลล์ มีแนวโน้มไปในการกำหนดว่า ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ นั้น ศรีเทพเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมโบราณของอินเดีย ก่อนที่จะถูกโจมตีโดยอาณาจักรฟูนัน แล้วทิ้งร้างไปราว ๕๐๐ ปี จนราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ขอมจากเมืองพระนครจึงเข้ามายึดบ้านเมืองนี้ได้ โดยใช้หลักฐานจากจารึกและการจำแนกโบราณวัตถุ ที่พบยุคแรกเป็นพระวิษณุ (น่าจะเป็นพระอาทิตย์) ต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นพระอิศวรในสมัยเขมรเข้าครอบครอง
ในช่วงเวลานั้น ควอรอชท์ เวลล์ ยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบทวารวดีต่างๆ ในเมืองศรีเทพเลย จึงวิเคราะห์ไปในแนวโน้มที่นักวิชาการชาวอินเดียจากสมาคมมหาอินเดียจะเห็นเพียงแต่ศาสนาและวัฒนธรรมฮินดูเข้ามามีอำนาจเหนือเท่านั้น …….
ติดตามอ่าน เอกสาร ท่องเที่ยวเพื่อเข้าใจเมืองไทย ‘ในมัณฑละแห่งศรีจนาศะ ละโว้ ศรีเทพ เสมา’https://issuu.com/lekprapaifoundation/docs/______________reduced2
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
Official Web : https://siamdesa.org
โฆษณา