Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Tinnakorn C.
•
ติดตาม
12 ส.ค. 2022 เวลา 04:22 • ธุรกิจ
"มนตรี เจียรวนนท์" ผู้ร่วมบุกเบิก CP ก้าวสู่บริษัทข้ามชาติ
ความสูญเสียเกิดขึ้นกับตระกูล "เจียรวนนท์" อีกครั้ง หลังจาก "มนตรี เจียรวนนท์" พี่ชายของ "ธนินท์ เจียรวนนท์" ถึงแก่กรรมเมื่อ 9 สิงหาคม 2565 สิริอายุรวม 91 ปี
"มนตรี" เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของ "เจี่ย เอ็กชอ" ผู้ก่อตั้ง "เจียไต๋" เมื่อปี 2464 ที่เป็นต้นกำเนิดธุรกิจของ CP ส่วนมารดา คือ นางตั้งสี
ในบรรดาบุตรของ "เจี่ย เอ็กชอ" มีบุตรชาย 6 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก 2 คน จึงเหลือบุตรชาย 4 คน ที่ร่วมกับขับเคลื่อน CP คือ 1.จรัญ 2.มนตรี 3.สุเมธ 4.ธนินท์ ถือเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของเครือเจริญโภคภัณฑ์
ภาพถ่าย "มนตรี เจียรวนนท์" ที่ตั้งไว้ ณ ศาลาพีชานนท์ วัดธาตุทอง เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 ภาพจากเว็บไซต์ www.wearecp.com
"มนตรี" มีชื่อจีนที่ "เจี่ย เอ็กชอ" ตั้งให้ คือ "ไต๋มิ้น" ลูกชายทุกคนจะมีชื่อจีนลงท้ายด้วย "มิ้น" โดยชีวิตในวัยเด็กของ "มนตรี" มีเรื่องราวน่าสนใจถูกบันทึกลงในหนังสือ "ตระกูลเจียรวนนท์" ผู้นำพาซีพีสู่บริษัทข้ามชาติระดับโลก ของ "อธิวัฒน์ ทรัพย์ไพฑูรย์" ตีพิมพ์เมื่อปี 2546 สรุปได้ว่า
ในช่วงก่อนเริ่มสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อปี 2482 สร้างความวุ่นวายต่อการเมืองในประเทศจีนและส่งผลต่อเนื่องถึงชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งทำให้มีการปิดโรงเรียนภาษาจีนในประเทศไทย เพื่อไม่ให้โรงเรียนบางแห่งเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ "เจี่ย เอ็กชอ" ส่งลูกชาย 2 คน ที่กำลังเรียนที่โรงเรียนเตียจิวกงฮัก ให้ไปเรียนที่ยูนนานและเสฉวน คือ "จรัญ" และ "มนตรี" โดยนั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปอรัญประเทศ เดินทางผ่านกัมพูชา เวียดนาม ลาวและเข้าจีนที่มณฑลยูนนาน
ด้วยผลกระทบของสงครามที่ทำให้การติดต่อสื่อสารลำบาก จึงทำให้ทั้ง "จรัญ" และ "มนตรี" ที่เป็นทายาทรุ่น 2 กลุ่มแรกที่ไปเรียนในจีนถูกตัดการติดต่อสื่อสารกับครอบครัว
ทายาทรุ่น 2 ของตระกูลส่วนใหญ่จะถูกส่งไปเรียนที่จีน เพราะการค้าขายหลักในภูมิภาคนี้เชื่อมโยงกับคนจีนโพ้นทะเลที่สื่อสารด้วยภาษาจีน
ทายาทรุ่น 2 จึงแตกต่างจากทายาทรุ่น 3 ที่ถูกส่งไปเรียนตะวันตกเพื่อให้ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมา
สงครามมหาเอเชียบูรพากินเวลาตั้งแต่ปี 2484-2488 การค้าขายช่วงดังกล่าวแทบจะหยุดชะงัก การค้าขายระหว่างประเทศทำได้ลำบาก และเมื่อหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 "เจี่ย เอ็กชอ" ได้ให้ "มนตรี" ไปช่วยงานที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นสำนักงาน "เจี่ย เอ็กชอ" จัดตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นตัวแทนนำเข้าและจำหน่ายสินค้าประเภทผักและเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้าจากไทย เช่น ไก่ เป็ด สุกร
การเปิดสำนักงานที่ฮ่องกงเกิดจากการเห็นโอกาสที่สินค้าจากจีนส่งเข้าฮ่องกงได้น้อยลง เพราะในช่วงเปลียนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ประชาชนกังวลการถูกยึดทรัพย์สินจึงมีการฆ่าไก่ เป็น สุกร จนทำให้การส่งออกไปฮ่องกงลดลงมาก จึงทำให้ฮ่องกงเพิ่มการนำเข้าจากไทย
ต่อมา "จรัญ" บุตรชายคนโตของ "เจี่ย เอ็กชอ" ได้เปิดร้าน "เจริญโภคภัณฑ์" จำหน่ายอาหารสัตว์ด้วยทุนก้อนแรก 100,000 บาท ที่กู้มาจาก "เจี่ย เซี่ยวฮุย" ผู้เป็นลุง
โรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกของร้านเจริญโภคภัณฑ์ ที่ตรอกจันทร์ ภาพจากเว็บไซต์ www.cpgroupglobal.com
"ร้านเจริญโภคภัณฑ์" มี "จรัญ" ทำหน้าที่ดูแลโรงงานผลิตอาหารสัตว์แห่งแรกของ CP ที่ตรอกจันทร์ ที่เปิดเมื่อปี 2496
ส่วนตัวร้านตั้งอยู่ริมถนนทรงสวัสดิ์ ย่านวัดเกาะทรงวาด โดยมี "มนตรี" ทำหน้าที่แคชเชียร์และผู้จัดการฝ่ายการตลาด โดยมีแบรนด์ "เจริญโภคภัณฑ์" เป็นเรือธงในการทำตลาดอาหารสัตว์
ในปีแรกของ "ร้านเจริญโภคภัณฑ์" ขาดทุนเพราะยังไม่มีประสบการณ์ในการบดวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่งลูกค้า แต่พอเข้าปีที่ 2 เริ่มไม่ขาดทุนและสามารถ Break Even ได้เมื่อทำรายได้รวมทั้งปี 300,000 บาท และเข้าปีที่ 3 มีกำไรมากขึ้น จึงเริ่มขายไปธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น จำหน่ายกระสอบป่านบรรจุพืชเกษตร
กิจการของ "ร้านเจริญโภคภัณฑ์" ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เมื่อน้องชายเริ่มมาช่วยงานได้ คือ "สุเมธ" และ "ธนินท์" โดยน้องชายคนเล็ก "ธนินท์" จบอนุปริญญาด้านบริหารธุรกิจจากวิทยาลัยฮ่องกงเมื่อปี 2501
2
"ธนินทร์ เจียรวนนท์" น้องชายคนเล็กของตระกูล ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน CP
"ธนินท์" กล่าวถึง "มนตรี" พี่ชายผู้ร่วมบุกเบิก CP ไว้ใน “บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History ของนิตยสารนิกเกคิจากประเทศญี่ปุ่น ไว้ว่า
“หลังจากที่ท่านประธานจรัญและท่านประธานมนตรีเรียนจบจากเสฉวนก็กลับมากรุงเทพฯ เพื่อช่วยกิจการของที่บ้าน ในปี พ.ศ.2496 ท่านประธานจรัญได้เริ่มทำธุรกิจอาหารสัตว์ โดยท่านตั้งใจขยายกิจการออกไปเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรเป็นหลัก และตั้งชื่อบริษัทว่า “เจริญโภคภัณฑ์” หรือเรียกย่อๆ ภาษาอังกฤษว่า CP”
1
จุดเด่นของ "มนตรี" ที่ CP เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์
https://www.wearecp.com/cpg_20220810/
หลังการเสียชีวิตของ "มนตรี" คือ ด้านชีวิตการทำงานเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจล่วงหน้าได้แม่นยำ เป็นแบบอย่างที่ดีของความเป็นนักบุกเบิก นักสู้
"ท่านได้ร่วมกับท่านประธานกิตติมศักดิ์จรัญ ขยายกิจการจากเจียไต๋ที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผัก มาสู่กิจการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ภายใต้ชื่อร้านเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งต่อมาเติบโตเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก และเป็นผู้นำของโลกในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์"
ครอบครัวของ "มนตรี เจียรวนนท์" ถ่ายเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2565 ณ วัดธาตุทอง ภาพจากเว็บไซต์ www.wearecp.com
ด้านชีวิตครอบครัวของ "มนตรี" สมรสกับ "วิมล ผลินพิมล" มีบุตรธิดา รวม 4 คน บุตรชาย 1 คน คือ "เมธ เจียรวนนท์" (สมรสกับคุณ Kazumi) และมีบุตรสาว 3 คน ได้แก่ "สมอุไร จารุพนิช" (สมรสกับ ดร.ประเสริฐ จารุพนิช) , "สมศรี ล่ำซำ" (สมรสกับคุณวิเชียร ล่ำซำ) และคุณสมสวาท เจียรวนนท์
"มนตรี" ที่นั่งในตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ CP จึงถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเครือ CP จนเติบโตสร้างธุรกิจตามปรัชญา “3 ประโยชน์”
2 บันทึก
6
4
2
6
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย