12 ส.ค. 2022 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
เมื่อการขึ้นเตียงผ่าตัดโอกาสตายมากกว่าการออกไปรบ...
วันที่ 12 สิงหาคมนอกจากจะเป็นวันแม่ (ของประเทศไทย) แล้ว ยังเป็นวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์การแพทย์อีกเหตุการณ์นึง แอดมินเลยอยากจะนำเรื่องราวนี้จากหนังสือ ‘สงครามที่ไม่มีวันชนะ’ ของพี่หมอเอ้ว มาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ
1
วันที่ 12 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1865
หมอโจเซฟ ลิสเตอร์ ในวัย 38 ปี ถูกตามตัวด่วนเพื่อมาดูอาการของเด็กชายอายุ 7 ขวบคนหนึ่ง ที่ชื่อเจมส์ กรีนลีส์ (James Greelees)
เด็กชายเจมส์โดนรถม้าเทียมเกวียนวิ่งทับไปบนขาด้านซ้าย หมอลิสเตอร์จึงเริ่มสำรวจดูบาดแผลที่ขาของเด็กชาย ก่อนจะพบสิ่งที่เขากลัวมากที่สุดนั่นคือ กระดูกขาซ้ายของเจมส์หักร่วมไปกับมีบาดแผลเปิดที่ผิวหนัง
การหักของกระดูกที่มีแผลเปิดออกสู่ภายนอกเช่นนี้ ปัจจุบันทางการแพทย์จะเรียกว่า open fracture ที่เรียกว่า open เพราะอากาศสามารถผ่านแผลที่เปิดนี้ลงไปถึงกระดูกที่หักได้ และนั่นหมายถึงความเสี่ยงการติดเชื้อของกระดูกที่เพิ่มขึ้น
2
สำหรับในยุคที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะใช้นั้น กระดูกหักเช่นนี้เกือบร้อยละร้อยจะตามมาด้วยแผลเน่าเป็นหนอง กระดูกติดเชื้อ ซึ่งวิธีรักษาเดียวที่พอจะทำได้คือตัดขาข้างนั้นทิ้งไป แต่ใช่ว่าตัดขาแล้วทุกอย่างจะจบ เพราะหลังตัดขาเสร็จ โอกาสที่เด็กคนนี้จะมีการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วเสียชีวิตจะสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์
อย่าว่าแต่ตัดขาเลยครับ ยุคนั้นการผ่าตัดเป็นการรักษาที่อันตรายมาก เพราะแค่ผ่าตัดปลายนิ้วเล็กๆ โอกาสเสียชีวิตก็จะอยู่ที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ถึงขนาดหมอยังคุยกันเองว่า ผู้ป่วยที่ขึ้นเตียงผ่าตัดของเราโอกาสตายยังมากกว่า ส่งพวกเขาไปรบในสงครามเสียอีก
1
วันที่หมอลิสเตอร์ต้องตัดสินใจว่าจะรักษาเด็กชายเจมส์ยังไงนั้น วงการหมอยังไม่มีคำว่าเชื้อโรค
1
เมื่อไม่รู้จักเชื้อโรค หมอจึงไม่รู้จักการล้างแผล
ไม่รู้จักการผ่าตัดแบบปลอดเชื้อ ไม่มีการฆ่าเชื้อบนเครื่องมือแพทย์
เครื่องมือผ่าตัดที่ผ่าคนไข้อื่นมาแล้วก็จะล้างด้วยน้ำเปล่าแค่พอให้คราบเลือดคราบหนองหมดไปก็ใช้ต่อได้ การผ่าตัดจะทำด้วยมือเปล่า ยุคนั้นยังเป็นยุคที่หมอผ่าตัดภูมิใจกับความเลอะของเสื้อกาวน์ คือยิ่งเลอะยิ่งดูมีประสบการณ์
1
ด้วยเหตุนี้แผลบาดเจ็บในยุคนั้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะมีหนอง หมอจึงเชื่อว่าหนองเป็นภาวะปกติที่ต้องมาคู่กับแผล เมื่อเชื่อว่าเป็นภาวะปกติจึงไม่มีวิธีการป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อเป็นหนอง
1
หลังการผ่าตัดหมอจะมีวิธีการประเมินแผลด้วยลักษณะของหนองที่เกิดขึ้น ถ้าแผลมีหนองสีขุ่น ไม่มีกลิ่นเหม็น หนองชนิดนี้เรียกว่า laudable pus คำว่า laudable คำนี้แปลว่า ดีงาม น่ายกย่อง เพราะถ้าแผลมีหนองแบบนี้จะถือว่าแผลดี โอกาสตายจะน้อย เป็นสัญญาณว่าภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี (ความจริงคือแผลติดเชื้อแต่ไม่รุนแรงมากนัก)
แต่ถ้าแผลเริ่มแดงแล้วลามไปเป็นบริเวณกว้าง อันนี้ไม่ดี โอกาสที่แผลจะลามกว้างจนต้องตัดอวัยวะทิ้งจะสูง โอกาสตายก็จะสูง
แต่ที่เลวร้ายสุดคือ แผลที่มีหนองสีขุ่นเขียว มีกลิ่นเหม็นเน่ารุนแรงเหมือนอาหารทะเลเน่า ยิ่งถ้าหมอกดไปเหนือบริเวณแผลแล้วมีเสียงดังกรอบแกรบซึ่งเป็นลักษณะของแผลที่มีก๊าซขังอยู่ภายในจะยิ่งแย่ โอกาสตายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
1
เมื่อการรักษาที่หมอลิสเตอร์จะทำให้ได้มีผลที่แย่ถึงเพียงนี้ เขาจึงมองว่านี่เป็นโอกาสที่เขาจะทดลองการรักษาด้วยวิธีใหม่ วิธีใหม่ที่อยู่ในใจของลิสเตอร์คืออะไร? ที่มาของการรักษาด้วยวิธีใหม่นี้ ต้องย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้าครับ
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในวันหนึ่ง ขณะที่หมอลิสเตอร์กำลังเดินคุยกับ ศาสตราจารย์โทมัส แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านเคมีในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง เขาเล่าให้หมอลิสเตอร์ฟังว่า เขานำงานวิจัยทางเคมีเก่าๆ มานั่งอ่านแล้วบังเอิญไปเจองานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยของนักเคมีหนุ่มชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ชื่อ หลุยส์ ปาสเตอร์ ที่พยายามแก้ปัญหาของการหมักไวน์และเบียร์ แล้วมีรสเปรี้ยว และเพราะปัญหานี้นักวิทยาศาสตร์หนุ่มคนนั้นจึงพบว่าการหมักแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่กระบวนการทางเคมีอย่างที่เคยเชื่อกัน แต่การหมักเป็นกระบวนการที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่ชื่อยีสต์
นักวิทยาศาสตร์คนนี้ยังพบด้วยว่าการแก้ปัญหาไวน์เปรี้ยวสามารถทำได้ด้วยการนำไวน์ไปต้มให้ร้อนระยะเวลาหนึ่ง
เรื่องนี้ทำให้หมอลิสเตอร์เกิดความคิดขึ้นมา เขาเริ่มสงสัยว่าถ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็น ทำให้เบียร์หรือไวน์เน่าเสียได้ แล้วสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้จะทำให้แผลเน่าเป็นหนองได้ไหม เมื่อสงสัยดังนั้นเขาก็เริ่มนำหนองจากแผลไปศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์ แล้วพบสิ่งที่เหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ มากมาย
2
คำถามต่อไปจึงเป็นว่า เขาจะฆ่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ทำให้แผลที่อักเสบและเน่าได้อย่างไร จะเอาคนไข้ไปต้มอย่างที่ปาสเตอร์ต้มไวน์ก็คงทำไม่ได้ แล้วเขาก็นึกถึงเรื่องหนึ่งที่เคยอ่านเจอจากหนังสือพิมพ์ซึ่งเขียนเล่าว่า
ท่อระบายน้ำทิ้งแห่งหนึ่งมีกลิ่นเหม็นเน่ามากนอกเหนือจากกลิ่นที่รบกวนแล้ว วัวที่ไปเล็มกินหญ้าใกล้ๆ กับท่อระบายน้ำก็ต่างพากันล้มป่วยอีกด้วย ซึ่งยุคนั้นเชื่อกันว่าเป็นจากอากาศพิษหรือ miasma เจ้าหน้าที่ของเมืองจึงนำสารเคมีชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นแรงมาฉีดพ่นลงไปในท่อเพื่อกลบอากาศพิษ จากนั้นกลิ่นเหม็นเน่าก็หายไป
หมอลิสเตอร์เชื่อว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวกับกลิ่น แต่สารเคมีนี้คงจะไปฆ่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆในท่อมากกว่า แต่จะนำสารเคมีที่มีฤทธิ์เข้มข้นนี้มารักษาแผลคงไม่เหมาะ เขาจึงมองหาสารเคมีอื่นที่ใกล้เคียงมาลองใช้ สุดท้ายเขาก็พบว่ากรดคาร์บอลิกน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
จากนั้นหมอลิสเตอร์ก็เฝ้ารอผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับการรักษาแบบใหม่ของเขา จนเด็กชายเจมส์ กรีนลีส์ มาถึงรพ. ในวันที่ 12 สิงหาคม ปีค.ศ. 1865
วิธีการรักษาใหม่ที่หมอลิสเตอร์นำมาใช้นั้น เริ่มด้วยการล้างแผลจนสะอาดแล้วตามด้วยกรดคาร์บอลิกเจือจาง เมื่อแผลสะอาดดีแล้วก็เริ่มปรับกระดูกให้เข้าที่จากนั้นก็นำผ้าที่จุ่มจนโชกด้วยสารละลายกรดคาร์บอลิกปิดทับไปบนแผล และพันรอบแผลจนแน่น
หลังจากนั้น 4 วันต่อมาเมื่อหมอลิสเตอร์เปิดผ้าเพื่อจะเปลี่ยนผ้าพันแผลใหม่เขาก็ต้องแปลกใจที่แผลนั้นไม่มีหนองอยู่เลยไม่มีแม้กระทั่ง laudable pus ที่เชื่อว่าเป็นภาวะปกติของแผล จากนั้นเขาก็เปลี่ยนผ้าพันแผลที่ชุ่มด้วยกรดคาร์บอลิกใหม่และทำเช่นนี้ทุกวัน
เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 6 สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เพราะเด็กชายที่หมอและพยาบาลมั่นใจว่าสุดท้ายจะโดนตัดขาทิ้งหรือไม่ก็เสียชีวิต สามารถเดินออกจากโรงพยาบาลด้วยขาสองข้างของตัวเอง
5
ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้ลิสเตอร์กล้าที่จะลองใช้วิธีการนี้รักษาแผลชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้น แม้ว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เขารักษาด้วยวิธีนี้จะมีเสียชีวิตอยู่บ้าง แต่จำนวนผู้ป่วยที่รอดชีวิตโดยไม่ต้องตัดอวัยวะทิ้งก็เพิ่มขึ้นมากมาย
แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็มีข้อเสียคือ กรดคาร์บอกลิกทำให้แผลหายช้ากว่าที่ควรจะเป็น หมอลิสเตอร์จึงเริ่มคิดว่า ถ้ากรดคาร์บอลิกรักษาแผลที่เน่าแล้วได้ ทำไมเราไม่ลองนำมาใช้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัดเลย เมื่อคิดได้เช่นนั้น หมอลิสเตอร์จึงเริ่มที่จะนำกรดคาร์บอลิกมาพ่นให้เป็นละอองฝอยๆ ในห้องผ่าตัดเพื่อฆ่าเชื้อในอากาศก่อนที่จะเริ่มการผ่าตัด
2
เครื่องมือผ่าตัดทุกชนิดก็ต้องนำมาจุ่มในกรดคาร์บอลิกก่อนจะใช้ แม้แต่มือของหมอเองก็ต้องล้างให้สะอาดแล้วจุ่มมือลงไปในกรดคาร์บอลิกเจือจางด้วย ระหว่างผ่าตัดก็มาจุ่มอีกเป็นระยะๆ
วิธีการต่างๆ ที่หมอลิสเตอร์นำมาใช้นี้ทำให้ห้องผ่าตัดมีกลิ่นเหม็น หมอบางคนถึงกับไออย่างรุนแรงเมื่อได้กลิ่นของกรดคาร์บอลิก มือของหมอที่จุ่มในกรดคาร์บอลิกก็จะออกสีแดงๆ เหมือนคนที่มือจุ่มน้ำร้อนๆ หมอหลายคนจึงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม
อย่างไรก็ตาม วิธีการของหมอลิสเตอร์ช่วยลดอัตราการตายของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจากเดิม ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ และนี่ยังไม่นับรวมคนป่วยอีกจำนวนไม่น้อยที่แผลหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเสียด้วยซ้ำ
เมื่อข้อมูลที่หมอลิสเตอร์เก็บรวบรวมออกมามีมากพอ เขาก็ทยอยตีพิมพ์ผลงานวิจัย 6 ชิ้นของเขาออกมาให้โลกได้รับรู้ ในปี ค.ศ. 1867
1
คำถามที่น่าสนใจคือ วงการแพทย์ยอมรับวิธีการใหม่นี้แค่ไหน?
คำตอบคือ วิธีการของหมอลิสเตอร์ก็ไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าที่ควรครับ คำอธิบายหนึ่งคือในยุคนั้นหมอส่วนใหญ่ไม่รู้จักกล้องจุลทรรศน์ เพราะทฤษฎีการแพทย์ตั้งอยู่บนสมดุล โรงเรียนแพทย์แทบจะไม่มีการสอนให้นักเรียนใช้กล้องจุลทรรศน์
2
หมอบางคนถ้าเคยเห็นก็อาจจะเคยเห็นกล้องจุลทรรศน์แค่ครั้งหรือสองครั้งโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเครื่องมือนี้มีประโยชน์ต่อการเป็นแพทย์อย่างไร ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะในตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักเชื้อโรค
เมื่อหมอลิสเตอร์บอกให้ล้างมือด้วยกรดคาร์บอลิก หมอส่วนใหญ่จึงไม่เข้าใจว่าจะล้างมือในกรดไปเพื่ออะไร ตัวลิสเตอร์เองก็ไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นมายืนยัน
1
แต่อีกเหตุผลที่น่าจะสำคัญไม่แพ้กันคือ ในยุคอดีตมีคนอ้างว่าตัวเองรักษานู่นนี่ได้มากมาย การดูแลรักษาแผลก็เช่นกัน มีคนอวดอ้างขายสรรพคุณของยาว่าสามารถรักษาแผลเน่าได้มากมายเต็มไปหมด การอ้างโดยไม่มีหลักฐานนี้กว่าคนจะจับได้ว่าไม่ได้ผลจริง คนอ้างก็ขายของจนรวยไปมากมาย เหตุการณ์เช่นนี้มีเกิดขึ้นบ่อยมากเสียจนเมื่อมีใครอ้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา หมอส่วนใหญ่จะตั้งข้อสงสัยแล้วไม่เชื่อไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้ลิสเตอร์ต้องเผชิญปัญหาคนไม่ยอมรับวิธีการของเขา หรือถึงขั้นโดนแรงต่อต้าน เขาก็ไม่ตอบโต้กลับไป เขาหนักแน่นพอที่จะไม่ยอมให้คำด่าทอมากระทบจิตใจ แต่เลือกที่จะทำงานและเก็บข้อมูลของเขาต่อไปเรื่อยๆ เขารักษาคนไข้ไปทีละคน จนจำนวนผู้ป่วยที่เขารักษาหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขาไม่มองว่าคนที่ไม่เห็นด้วยเป็นศัตรู สุดท้ายเมื่อเขามีหลักฐานมากพอจนยากจะปฏิเสธอีกต่อไปได้ วงการแพทย์ก็ยอมรับและใช้วิธีการของเขาเป็นพื้นฐานสำคัญของการผ่าตัดยุคใหม่
และนั่นก็คือเรื่องราวของโจเซฟ ลิสเตอร์ หนึ่งในคนสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดทฤษฎีเชื้อโรคขึ้นมานอกเหนือไปจากหลุยส์ ปาสเตอร์ และโรเบิรต์ คอค
1
ถ้าชอบเรื่องราวการค้นพบหรือประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์แบบนี้ ขอแนะนำหนังสือ 'สงครามที่ไม่มีวันชนะ' หนังสือ Best Seller และได้รับรางวัล 7 Books award อีกเล่มของพี่หมอเอ้ว
สามารถสั่งซื้อได้เลยที่
👉 Line My Shop : https://bit.ly/3dra70p
โฆษณา