12 ส.ค. 2022 เวลา 09:38 • ประวัติศาสตร์
สง่า มะยุระ "ราชาพู่กัน"
ท่านที่อยู่ในวัย 60 ขึ้นไป คงจำกันได้ว่า สมัยที่เรายังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถม หรือ มัธยม ในชั่วโมงศิลปศึกษา เมื่อครูสอนเรื่องการวาดภาพระบายสี อุปกรณ์สำคัญอันหนึ่งที่เราจะขาดเสียไม่ได้ก็คือ พู่กัน จะเป็นพู่กันด้ามเล็กๆ เบอร์ 4 , 6 พู่กันนั้นมีด้ามทำด้วยไม้เคลื่อบแชแลคสีเหลืองเข้ม มีข้อความตัวเล็กๆ ปั๊มสีดำ ตรงด้ามว่า ว่า "ภู่กัน ของ สง่า มะยุระ" เคยถามตัวเองไหมว่า สง่า มะยุระ นี่คือใคร
สง่า มะะยุระ เกิดเมื่อ 20 สิงหาคม 2454 ที่ ต.วังยางใหญ่ อ. ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรคนโต ของนายเส็ง นางแหน มีน้องชายและน้องสาวร่วมพ่อแม่เดียวกันอีก 2 คน แต่ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย
สง่า มะะยุระ ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่ ร.ร.วัด
สัปรสเทศ ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน สง่ามีความรักฝักใฝ่ในวิชาวาดเขียนมาตั้งแต่เล็ก เขาได้ไปเรียนวิชาวาดเขียนกับพระอาจารย์อู๋ วัดมะนาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
พระอาจารย์อู๋นอกจากจะสอนวิชาวาดเขียนให้เด็กน้อยแล้ว ยังได้สอนวิชาลูกคิดให้ด้วย แต่เด็กชายสง่าไม่ค่อยเต็มใจเรียนนัก แต่พระอาจารย์บอกว่ารู้ไว้ดี อาจจะได้ใช้ประโยชน์ในภายภาคหน้า ซึ่งเมื่อสง่ามาประกอบอาชีพค้าขาย จึงทำให้รำลึกถึงพระคุณครู
ต่อมาสง่า ได้รู้จักกับพระปลัดหยุ่น เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง พระปลัดหยุ่นได้พรสง่ามาฝากไว้กับพระอาจารย์ม้วน วัดสุวรรณาราม ในคลองบางกอกน้อย
สง่าได้เรียนวาดเขียนกับครูสะอิ้ง ที่อยู่บ้านข้างวัดวุวรรณาราม เมื่อฝีมือการวาดเขียนของสง่าแก่กล้าขึ้น ครูสะอิ้งจึงพาลูกศิษย์ไปเขียนลายรดน้ำที่วัดพระเชตุพนฯ โดยเขียนหน้าต่างพระวิหาร สง่าต้องประหยัดอดออมในการใช้จ่ายมาก เพราะมีเงินติดตัวที่ยายมอบให้เพียง 50 บาทเท่านั้น
เมื่อสง่า ได้รู้จักกับนายผิน ซึ่งมีร้านรับจ้างเขียนพานแว่นฟ้าและตู้พระมาลัย ที่หลังวัดมหาธาตุ สง่าจึงสมัครเข้าทำงานด้วย นายผินเห็นฝีมือของหนุ่มสุพรรณ ก็รับเข้าทำงานโดยตั้งเงินเดือนให้เดือนละ 25 บาท จึงทำให้สง่าพอจะคลายความกังวลใจเรื่องค่าครองชีพลงได้ แต่กระนั้นเขาก็ยังกำหนดค่าใช้จ่ายของตนไว้ว่า จะใช้จ่ายเงินไม่เกินวันละ 10 สตางค์
วันหนึ่งทางกรมพระสวัสดิ์ ต้องการเขียนโถกระยาคู โดยใช้ผลฟักทองมากลึงให้เหมือนโถ มีฝาปิดพร้อม เป็นงานเร่งด่วน ต้องแล้วเสร็จภายในวันรุ่งขึ้น มิฉะนั้นฟักทองจะเหี่ยว หลวงเจนจิตรยง ซึ่งเป็นผู้รับงานมาเกรงว่าจะไม่ทัน จึงให้สง่ามาช่วยเขียนลาย เร่งทำกันทั้งคืน หลวงเจนพอใจในฝีมือของสง่ามาก จึงชักชวนให้สง่าไปช่วยเขียนลายรดน้ำบานประตูหน้าต่างวัดสุวรรณคีรี ในคลองบางกอกน้อย ซึ่งในที่สุดสง่าก็รับเขียนทั้งหมด เพราะหลวงเจนฯอายุมากแล้ว เขียนไม่ไหว สง่าได้รับค่าจ้างเป็นเงิน 400 บาท ใช้เวลาเขียนอยู่ 5 เดือน
ครั้นเมื่อ สง่า มะะยุระ อายุครบบวช ยายของเขาก็บวชให้ โดยไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสุวรรณาราม บวชอยู่ไม่นานพระสง่าก็ได้ไปเขียนภาพฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพห้องที่ 53 ตอนหนุมานอาสาอมพลับพลา ไมยราพสะกดทัพ นั้นเป็นภาพที่เด่นด้วยการออกแบบ เมื่อเราคิดถึงภาพรามเกียรติ์ที่วัดพระแก้วเมื่อใดภาพนี้จะปรากฎชัดในห้วงคิดทีเดียว
พระ สง่า มะะยุระ บวชได้ 2 พรรษา ก็สึกออกมาตั้งร้านขายเครื่องดื่มอยู่ที่หลังโรงพยาบาลศิริราช โดยมีพ่อของเขามาช่วย ส่วนสง่าไปทำงานที่คณะช่างได้ 2 ปีก็ลาออกไปทำงานที่โรงพิมพ์บุญครอง
สง่า มะะยุระ ได้สมรส กับ อุไรศรี สุวรรณกำจาย เมื่อ 12 มีนาคม 2479 มีบุตรธิดารวมกัน 5 คน สง่าเกิดความรู้สึกขึ้นว่า การมีอาชีพช่างเขียนนี้ เมื่อแก่ตัวลงจะทำอย่างไร พูดง่ายๆ คือไม่มีโอกาสที่จะก้าวหน้า สง่าจึงคิดทำพู่กันขึ้น เพราะเขามีความรู้ด้านนี้อยู่แล้ว เเละเคยทำใช้เอง
ดังนั้นสง่าจึงคิดประดิษฐ์พู่กันให้ทันสมัยมากขึ้น ตอนแรกก็ทำจำนวนน้อยๆ แล้วนำไปขายตามหมู่เพื่อนฝูงที่เป็นช่างเขียนด้วยกันปรากฎว่ามีผลตอบรับมาดี ได้รับความนิยมชมชอบกันมาก ทำให้สง่ามีกำลังใจ ตัดสินใจขยับขยายตั้งโรงงานผลิตพู่กันขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเจริญก้าวหน้ามาจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้
สง่า มะะยุระ ได้รับการยกย่องจากสังคม เมื่อ 30 เมษายน 2486 สง่าได้ทำพู่กันขึ้นชุดหนึ่งมอบให้ จอมพลป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในยุคนั้น ซึ่งจอมพล ป. ได้มอบเงินให้ สง่า จำนวน 400 บาท เพื่อเป็นรางวัลในฐานะที่เป็นคนไทยคนแรกที่มีความคิดสร้างสรรค์สามารถประดิษฐ์พู่กันได้ นอกจากนั้นสง่ายังได้รับการยกย่องจากทางราชการ ให้เป็นคนขยันประจำอำเภอบางกอกน้อย ซึ่งยุคสมัยนั้นมีการส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยทำมาค้าขายเป็นอาชีพ
พ.ศ.2504 สง่า มะะยุระ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มงกุฎไทย ชั้นที่ 5 ชื่อ เบญจมาภรณ์ ทำให้เขามีความปลาบปลื้ม ภาคภูมิใจในเกียรติที่ได้รับในครั้งนี้มาก
เมื่อถึงวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี (พ.ศ.2524) สง่า มะะยุระ ได้รับเชิญจากคณะกรรมการดำเนินงานบูณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้เขาเข้าร่วมเป็นจิตรกรผู้วาดภาพซ่อมแซมภาพฝาผนังพระระเบียงคตวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อ สง่า มะะยุระ เขียนภาพฝาผนังเสร็จเป็นบางส่วนแล้ว เขาก็นำเงินค่าเขียนภาพจำนวนหนึ่ง นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาสัย เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2515
สง่า มะะยุระ สำนึกในพระบารมีของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 จึงเป็นเหตุจูงใจให้เขาลงมือเขียนภาพจิตรกรรมไทยเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามพระลักษณ์ ทำศึกกับทศกัณฐ์ และตอนหนุมานอมพลับพลา หรือตอนไมยราพสะกดทัพ เขาใช้เวลาวาดภาพทั้ง 2 ภาพ เป็นเวลานานถึง 2 ปี
กว่า แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อ 5 มีนาคม 2517
เมื่อลูกๆ ของสง่าเติบใหญ่ ขึ้น ก็ได้รับงานบริหารกิจการพู่กัน ต่อจากพ่อ สง่าจึงมีเวลาว่างมากขึ้น เขาหันมาบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม เช่นรับงานเขียนและออกแบบลายหน้าบันโบสถ์ให้วัดราชบูรณะ วัดสัตหีบ วัดกอไผ่ จ.อยุธยา เป็นต้น โดยที่สง่า มีศรัทธาเขียนให้โดยไม่รับค่าจ้าง ค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
 
สง่า มะะยุระ ชอบช่วยเหลือผู้คนที่ยากไร้ ตกทุกข์ได้ยากอย่างสมำ่เสมอ และมักใช้ชื่อว่า "ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม" เพราะความประสงค์ที่แท้จริงของเขาก็เพื่อต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เท่าที่จะช่วยได้เท่านั้น
จะเป็นด้วยอานิสงส์ผลบุญที่ สง่า มะยุระ ได้สร้างสมมาโดยตลอด สง่า มะยุระ ได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2521 คืนวันที่ 11 กันยายน เขาเข้านอนตามปกติ และหลับไปก็ไม่ตื่นขึ้นมาอีก แพทย์ลงความเห็นว่า สง่า มะยุระ หัวใจวายโดยเฉียบพลัน เป็นการจากไปอย่างสงบ ของ "ราชาพู่กัน" เมืองไทย ผู้มีหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยบุญ
อนึ่ง สง่า มะยุระ ได้สร้างสรรค์ผลงานภาพลายไทย ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา คือเป็นลายที่ซ้อนลายตัวภาพมีลายบรรจุอยู่ มีควาาละเอียด ปรานีต มาก ผู้ชมจะต้องใช้เวลาในการเพ่งพิจภาพ เพื่อพิจารณาว่า ตัวภาพคืออะไร เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะฝีมืออยู่ในระดับสูง
ข้อมูลจาก หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ นายสง่า มะยุระ พศ. 2521
สามารถ จันทร์แจ่ม ; บันทึก
ข้อมูลเพิ่มเติม
โฆษณา