13 ส.ค. 2022 เวลา 14:55 • ความคิดเห็น
นายกรัฐมนตรี 8 ปี....
ประเด็นร้อนทางการเมือง
ก่อนวันที่ 23 สิงหาคม 2565
@@@@@@@@@@@@
วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โดชา จะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 นี้หรือไม่.....
กำลังเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในหลากหลายภาคส่วนของสังคม ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายนักวิชาการ ฝ่ายนักกฎหมาย และผู้คนทั่วไปที่ฝักใฝ่ในเรื่องการเมืองการปกครอง
เท่าที่ได้รับฟังมาจนถึงขณะนี้ มีข้อสรุปที่แตกต่างกันสุดขั้วเลยทีเดียว
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าหากถือเอาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่
อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า รัฐธรรมนูญกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้ชัดเจนก็จริง แต่จะนับระยะเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งมาก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
การวิพากษ์ถกเถียงกันด้วย “จริต” ในทางการเมืองนั้นเป็นกรณีที่พอจะยอมรับได้ แต่ในมุมมองทางกฎหมายนั้น ควรที่จะยึดถือหลักการทางกฎหมายเป็นสำคัญ จะเอา “จริต” ในทางการเมืองเข้ามาปะปนด้วยเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะการเสนอความเห็นทางกฎหมายของบรรดานักวิชาการและนักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนในสังคม
หลายท่านเป็นนักวิชาการที่เป็นครูบาอาจารย์สอนกฎหมายอยู่ในมหาวิทยาลัย การแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ควรตั้งอยู่บน “หลักการ” ในเรื่องกฎหมายอย่างแท้จริง มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปใหญ่โต
กลายเป็นการยัดเยียดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องให้แก่เยาวชนคนรุ่นหลัง ก่อให้เกดปัญหาทางสังคมขึ้นในอนาคตทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา
ความจริงแล้วประเด็นเรื่องการตีความบทบัญญัติของกฎหมายนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องถกเถียงอะไรกันมากมาย เพราะมันมีหลักการที่นักกฎหมายทั่วโลกเขายึดถือกันเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่คิดตะแบงให้เกิดปัญหา เรื่องมันก็จะยุติลงได้ไม่ยากนัก
“ประเด็นพิพาท” ที่โต้แย้งกันอยู่ในเวลานี้ก็คือ วาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์นั้นต้องนับย้อนไปตั้งแต่วันที่ดำรงตำแหน่งครั้งแรกด้วยหรือไม่.....
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นเอาไว้ ก็ต้องนับย้อนหลังไปด้วย เพราะได้ชื่อว่าเป็นตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เหมือนกัน
แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า โดยหลักกฎหมายทั่วไป การบังคับใช้กฎหมายจะให้มีผลย้อนหลังไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของ “หลักนิติธรรม” (Rule of Law) ซึ่งเป็นหลักสำคัญอย่างยิ่งในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบ common law หรือ civil law ก็ตาม
หลักการที่ว่า “กฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง” (Non-retroactivity Application of Law) เป็นหลักการที่ยอมรับกันมาตั้งแต่ยุคโรมัน กระทั่งปัจจุบันก็ยังคงเป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
Marcus Tullius Cicero นักปราชชาวกรีกได้อธิบายถึงความสำคัญของหลักการข้อนี้เอาไว้ว่า...ปัจเจกชนควรได้รับหลักประกันโดยกฎหมายในอันที่จะคาดหวังว่ารัฐจะไม่แทรกแซงลิดรอนสิทธิของตนในภายภาคหน้า....
ในทัศนะของ Cicero หลักประกันของกฎหมายต่อปัจเจกชนนั้น เป็นกฎธรรมชาติและเป็นจารีตประเพณีที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำรงไว้ซึ่งความสงบสุขในสังคมมนุษย์
พูดง่ายๆก็คือถ้าเมื่อใดปัจเจกชนไม่ไว้วางใจในหลักประกันของกฎหมาย สังคมจะวุ่นวายเพราะไม่มีใครเคารพเชื่อถือในกฎหมายอีกต่อไป
หลักประกันของกฎหมายที่ Cicero กล่าวถึงนี้ก็คือว่า ปัจเจกชนต้องการหลักประกันที่ว่า การใดที่เขาได้กระทำไปแล้วโดยถูกต้องตามกฎหมายในอดีต รัฐจะบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อเอาผิดเขาย้อนหลังไม่ได้....
หลักการดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่นักเรียนกฎหมายทุกคนเข้าใจกันเป็นอย่างดี
Nullum Crimen Sine Lege, Nulla Poena Sine Lege
ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ย่อมไม่มีความผิด ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ย่อมไม่มีโทษ
หลักการที่ว่านี้มีบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในประมวลกฎหมายอาญาของไทย มาตรา 2 ...บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้ กระทําการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทํานั้นบัญญัติ เป็นความผิดและกําหนดโทษไว้และโทษที่จะลงแก่ ผู้กระทําความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
หลักการในเรื่องกฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลังนี้ เป็นหลักที่ศาลไทยยึดถือและนำมาใช้เป็นเวลายาวนานพอสมควร ศาลฎีกาของไทยเคยมีคำพิพากษา “คว่ำ” กฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรร่างออกมาใช้บังคับมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2489
ณ เวลานั้นเป็นช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาผู้แทนราษฎรของไทยในขณะนั้นได้อนุมัติร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเรียกว่า “พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 มีบทบัญญัติให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเป็นอาชญากรสงราม
มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานอาชญากรสงครามหลายคนและในที่สุดศาลฏีกาในขณะนั้นก็มีคำพิพากษาที่ 1/2489 ยกฟ้องจำเลยทั้งหมดด้วยเหตุผลว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้เนื่องจากมีบทบัญญัติให้ลงโทษผู้กระทำความผิดก่อนที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็คงไม่แตกต่างอะไรกันมากนัก การจะนำวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีผลบังคบใช้มารวมกับวาระการดำรงตำแหน่งหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน
ใครจะยื่นเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไรหรือไม่ยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงจะไม่แตกต่างไปจากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในอดีต ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1/2489 อย่างแน่นอน
@@@@@@@@@@@@@@@
ปรึกษาปัญหากฎหมาย โทร.0860400091
โฆษณา