Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
รู้เรื่องสัตว์ๆ
•
ติดตาม
15 ส.ค. 2022 เวลา 01:08 • สิ่งแวดล้อม
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 43 | ปลานกแก้วกับปะการังและหาดทราย
เมื่อพูดถึงทะเลภาพความสวยงามที่ติดตาใครหลาย ๆ คนก็คงไม่พ้นภาพหาดทรายสวย ๆ หรือไม่ก็ภาพความสวยงามใต้น้ำของแนวปะการังและสัตว์ทะเลต่าง ๆ
แต่รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังความสวยงามนั้นส่วนหนึ่งมาจากปลาสีสันสดใสที่มีชื่อเหมือนนกชนิดนี้ที่ชื่อว่า ‘ปลานกแก้ว’ นั่นเอง
vector parrotfish @brgfx from freepix
ปลานกแก้ว (Parrotfish) อาศัยอยู่ตามแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่นของโลก โดยทั่วโลกพบประมาณ 95 ชนิด ส่วนในน่านน้ำไทยพบประมาณ 24 ชนิดทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน
ชื่อปลานกแก้วมีที่มาจากการที่มีฟันแหลมคมรูปร่างคล้ายจะงอยของปากนกแก้ว โดยจะงอยปากสามารถยืดหดได้ ลำตัวมีเกล็ดขนาดใหญ่ ครีบหางกลมมนหรือตัดตรง มีขนาดโตเต็มที่มีประมาณ 30-70 เซนติเมตร กินฟองน้ำ ปะการัง หรือสาหร่ายเป็นอาหารโดยมักพบรวมฝูงกันขณะหาอาหาร
ปลานกแก้วมีฟันแหลมคมและรูปร่างคล้ายจะงอยของนกแก้ว https://aquainfo.org/scarus-quoyi-quoyi-parrotfish/
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนนี้ได้หยิบยกเรื่องชองปลานกแก้วมาเล่าให้ฟัง ก็เพราะเมื่อสัปดาห์ก่อนเป็นอีกครั้งที่ชื่อของปลานกแก้วได้กลายมาเป็นประเด็นในสังคม
จากข่าวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาตินั่งเรือไปจับปลานกแก้วขึ้นมาและสิ่งที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือชายต่างชาติคนดังกล่าวได้ให้เหตุผลว่าเค้าเห็นมีปลานกแก้วขายตามตลาดทั่วไปจึงคิดว่าสามารถจับได้?!!
ทั้งที่ในความเป็นจริงปลานกแก้วที่ถูกจับมาทุกตัวแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการจับจากการประมงที่ผิดกฎหมาย เพราะปลานกแก้วมีถิ่นอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และแนวปะการังเกือบทั้งหมดในประเทศไทยล้วนอยู่ในพื้นที่ ๆ มีกฎหมายคุ้มครอง
อย่างไรก็ตาม ปลานกแก้วนั้นไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครองจึงคาดว่าโทษของชายคนดังกล่าวคงไม่หนักนัก และเมื่อลองดูรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองก็พบว่าแม้ประเทศไทยจะมีปลามากกว่า 2,000 ชนิด แต่มีปลาที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแค่ 14 ชนิดเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นปลาน้ำจืด
ซึ่งไม่ว่าสุดท้ายแล้วค่าปรับของการจับปลานกแก้วจะเป็นเท่าไหร่ หรือปลานกแก้วที่ถูกจับไปขายตามตลาดปลาจะถูกตีราคากิโลกรัมละเท่าไหร่ ก็คงไม่สามารถเทียบกับราคาค่าแรงที่ปลานกแก้วได้สร้างประโยชน์ในฐานะผู้สร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศแนวปะการังได้
แนวปะการังกับปลานกแก้ว
https://aquainfo.org/scarus-quoyi-quoyi-parrotfish/
ปะการังเป็นทรัพยากรทางทะเลที่มีความสวยงาม แต่ละปีแนวปะการังได้สร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจได้มากมายจากนักดำน้ำที่อยากเข้าไปสัมผัสความสวยงามนี้
แต่นอกจากความสวยงามแล้ว แนวปะการังเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของสัตว์ทะเลนับร้อยชนิดมาอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งสัตว์มีกระดูกสันหลังและไม่มีกระดูกสันหลัง
ซึ่งการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดระบบนิเวศแนวปะการังซึ่งสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศในท้องทะเล เช่น ปลาบางชนิดใช้แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยแต่บางชนิดก็ใช้แนวปะการังเป็นแหล่งหาอาหารและหลบภัย ส่วนมนุษย์เองนอกจากได้ชมความสวยงานและแล้วแนวปะการังยังเป็นแหล่งอาหารและแหล่งทำการประมงที่สำคัญของมนุษย์อีกด้วย
แต่ก็คงมีหลายคนที่คิดว่าปะการังเป็นเพียงหินสวย ๆ ที่ไม่มีชีวิตแต่ความจริงแล้วปะการังเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่มีหินปูนเป็นโครงร่างแข็งที่เปรียบเสมือนกระดูก
หินปูนที่ว่านี้เป็นส่วนที่รองรับเนื้อเยื่อตัวปะการัง ซึ่งมีรูปทรงเป็นทรงกระบอกเล็กๆ และที่ปลายกระบอกจะมีหนวดที่คอยโบกสะพัดเพื่อจับอาหารที่เป็นแพลงก์ตอนในน้ำ
แล้วปะการังกินอะไร? อยู่รอดได้อย่างไร?
คำตอบก็คือ ปะการังดำรงชีพด้วยสารอาหารที่สาหร่ายสร้างขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปเรียกสาหร่ายเหล่านี้ว่า Zooxanthellae เป็นสาหร่ายเซลล์เดียวที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเนื้อเยื่อของตัวปะการัง โดยปะการังและสาหร่ายอยู่ร่วมกันแบบมีประโยชน์ร่วมกัน
ส่วนสาหร่ายก็ได้ประโยชน์จากปะการังที่ให้ที่อยู่อาศัยและอาหาร โดยสาหร่ายจะนำเอาของเสียจากปะการังเช่น ก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่เกิดขึ้นจากขบวนการหายใจของปะการัง และของเสียจากกากอาหารที่ย่อยแล้ว นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารต่อไป
ที่เล่ามายาวยืดก็ดูเหมือนปะการังกับสาหร่ายก็ดูจะมีชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวแล้วนะ แล้วปลานกแก้วเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ เรื่องก็มีอยู่ว่าอาหารโปรดของปลานกแก้วก็คือสาหร่ายนั่นเอง และพฤติกรรมการกินและการขับถ่ายของปลานกแก้วได้มีส่วนในการสร้างสมดุลให้กับแนวปะการัง ดังนี้
กินสาหร่ายเข้าไปและถ่ายออกมาเป็นเม็ดทราย
แม้ว่าสาหร่ายจะช่วยสร้างอาหารให้กับปะการังแต่หากมีสาหร่ายจำนวนมากเกินไปก็อาจจะส่งผลต่อความสมบูรณ์และการเติบโตของแนวปะการังได้ ดังนั้นปลานกแก้วจึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาและสร้างสมดุลให้กับแนวปะการังโดยการกินและกำจัดสาหร่ายขนาดใหญ่ (macroalgae) เพื่อไม่ให้สาหร่ายเหล่านี้มาปกคลุมแนวปะการังมากเกินไป
ในแต่ละวันปลานกแก้วใช้เวลา 90% ในการหาสาหร่ายกินตามแนวปะการัง และเพราะความพิเศษของปากและฟันที่ไม่เหมือนใครทำให้ปลานกแก้วสามารถกำจัดสาหร่ายจากแนวปะการังได้จำนวนมาก
โดยฟันของปลานกแก้วมีการเรียงตัวแน่นตลอดสันกราม แถมจงอยปากที่แข็งแรงและมีรูปร่างคล้ายปากนกแก้วแถมยังมีปลายที่แหลมทำให้สามารถชอนไชไปตามแง่งของปะการังได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
และสำหรับปลาปลานกแก้วบางชนิด เช่นโดยเฉพาะเจ้าปลานกแก้วหัวโหนก (Bolbometopon muricatum) ที่มีฟันชนิดพิเศษในคอหอยหรือที่เรียกว่า pharyngeal teeth ซึ่งทำหน้าที่บดสาหร่ายปะการังหรือสาหร่ายหินปูนปะการัง (Coralline algae)
ก่อนจะย่อยจะขับถ่ายเอาเศษปะการังออกมาเป็นทรายและกระจายทั่วตามแนวปะการัง ซึ่งในแต่ละปีปลานกแก้วหัวโหนกหนึ่งตัวสามารถผลิตทรายได้มากถึง 200 ปอนด์หรือเกือบหนึ่งร้อยกิโลกรัมเลยทีเดียว
นอกจากการเป็นนักกำจัดสาหร่ายและนักผลิตเม็ดทรายแล้วปลานกแก้วยังเป็นนักแต่งกิ่งปะการังอีกด้วยโดยแนวปะการังที่มีรูปทรงตามธรรมชาติที่สวยงามหลากหลายนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของเจ้าปลานกแก้วนะ
เพราะขณะที่ปลานกแก้วว่ายไปจัดการกับสาหร่ายนั้น ในบางจุดที่สาหร่ายยังเป็นเส้นสั้น ๆ อาจเกิดการกระทบกระแทกแนวปะการังได้ ทำให้ปะการังเปลี่ยนรูปทรงไป โดยเฉพาะจุดที่มีสาหร่ายอุดมสมบูรณ์และปลานกแก้วเข้าไปหากินบ่อย ๆ รูปทรงก็ยิ่งมีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงหลากหลายแบบ
ทั้งหมดของตอนนี้ ก็ได้เล่าถึงปลานกแก้วกับความอยู่รอดของแนวปะการังไปแล้ว ดังนั้น หากปลานกแก้วหายไปปะการังก็อาจจะเสื่อมโทรมลง เม็ดทรายก็อาจจะน้อยลง
เสี่ยงต่อการสูญเสียแนวปะการังซึ่งทำให้ที่ตามธรรมชาติทั้งการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหลบภัยให้กับสัตว์นานาชนิดตั้งแต่ช่วงวัยอ่อนจนถึงตัวเต็มวัย เป็นแหล่งอาหารและแหล่งทำการประมง เป็นแนวป้องกันชายฝั่งจากการกัดเซาะของคลื่นและและกระแสน้ำ เป็นแหล่งของสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญทางด้านเภสัช และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตาม ต่อให้สาธยายความสำคัญของปลานกแก้วมากแค่ไหน แต่หากการสร้างความตระหนักต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนยังไม่มากพอ กล่าวคือใช้ประโยชน์เท่าที่จำเป็น และสามารถฟื้นคืนสภาพตามธรรมชาติได้ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง
ก็คงจะมีเหตุการณ์ให้ต้องพูดถึงความสำคัญของปลานกแก้วไม่ก็พืชหรือสัตว์ตัวนู้นตัวนี้ ยามที่เราเห็นเค้าอยู่ในตลาดและถูกตีมูลค่าเป็นกิโลกรัมซึ่งต่ำกว่าคุณค่าที่เค้าสามารถทำได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ในที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ
อ้างอิง
●
https://animals.mom.com/coraleating-starfish-7633.html
●
https://km.dmcr.go.th/c_272
●
https://km.dmcr.go.th/c_3/d_793
●
https://km.dmcr.go.th/c_3/d_922
●
https://sciplanet.org/content/8392
●
https://th.wikipedia.org/wiki/วงศ์ปลานกแก้ว
●
https://www.facebook.com/2696005620415571/posts/3594525820563542/
●
https://mgronline.com/travel/detail/9650000077102
●
https://www.nature.org/content/dam/tnc/nature/en/documents/TNC-Caribbean-CMBP-ParrotfishMagazine.pdf
●
http://www.verdantplanet.org/protect/protectedanimal.php
วิทยาศาสตร์
สิ่งแวดล้อม
การศึกษา
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย