14 ส.ค. 2022 เวลา 08:08 • การศึกษา
ส่งมอบรถยนต์คืนไฟแนนซ์แล้ว ต้องจ่ายค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาดหรือไม่
เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ หลายๆคนที่เช่าซื้อรถยนต์มาแล้ว ผ่อนไม่ไหว เนื่องจากปัญหาหลายๆอย่าง เช่น ต้องออกจากงาน ขาดรายได้ ผ่อนไม่ไหว จึงนำรถไปคืนผู้ให้เช่าซื้อ หรือไฟแนนซ์ เพราะคิดว่าทุกอย่างจะจบ โดยที่ไม่ทราบว่า ไฟแนนซ์จะมาฟ้องเรียกเงินค่าขาดราคาเมื่อนำไปขายทอดตลาด
ค่าขาดราคา หรือเงินส่วนต่างนั้น เกิดขึ้นเมื่อนำรถไปขายทอดตลาดแล้วยังขาดทุนอยู่ จากราคาเต็มของรถ เช่น ราคารถ 400,000 บาท ผู้เช่าซื้อผ่อนไปแล้ว 100,000 บาท ผ่อนไม่ไหว จึงนำรถไปคืน คงเหลือยอด 300,000 บาท ไฟแนนซ์นำรถไปขายทอดตลาดได้ 200,000 บาท ส่วนอีก 100,000 บาท ไฟแนนซ์อาจจะมาเรียกให้ผู้เช่าซื้อชำระเงิน หรือฟ้องร้องให้ชำระเงินค่าขาดราคาตรงนี้
ซึ่งในเรื่องนี้ เมื่อมีการนำรถไปคืนไฟแนนซ์ ในสภาพเรียบร้อย ใช้งานได้ดี กรณีจึงถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 6407/2562)
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ คือจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อได้นำรถไปคืนไฟแนนซ์ในสภาพเรียบร้อย ใช้งานได้ดี แล้วถูกไฟแนนซ์ฟ้อง ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 อาจบอกเลิกสัญญาโดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 ที่ให้สิทธิผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้
โดยผู้เช่าซื้อจะต้องคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของ พร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..."
ป.ล. แม้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาจะออกมาในแนวนี้ แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ยื่นคำให้การต่อสู้คดีเมื่อไฟแนนซ์ฟ้องมา ศาลก็จะพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว
โฆษณา