15 ส.ค. 2022 เวลา 01:07 • ความคิดเห็น
ได้คุยกับน้องๆ วัยยี่สิบกว่าๆ ที่เพิ่งจบหรือกำลังจะจบจากมหาวิทยาลัยหลายคน พบว่าแต่ละคนมีความเครียดสูงมากในหลายมิติ
คนที่เรียนเก่งและฐานะทางบ้านดี บอกว่าความเครียดในชีวิตมีอยู่สองแบบใหญ่ๆ แบบหนึ่งก็คือการต้อง 'ไล่กวด' คนอื่นๆ ให้ทัน เช่นเพื่อนได้งานในบริษัทใหญ่ๆ (ที่จริงเริ่มตั้งแต่เพื่อนได้ไปฝึกงานในบริษัทดีๆ แล้ว) ก็ต้องพยายามทำให้พอๆ กันหรือเหนือกว่าเพื่อนด้วย คนที่เป็นระดับครีมๆ เหล่านี้อาจไม่มีปัญหาเรื่องการหางานทำเท่าไหร่ แต่กลับต้องเคี่ยวเข็ญตัวเองอย่างหนัก เพื่อให้เดินหน้าไปตาม 'เป้าหมาย' (หรือจะเรียกว่า 'แบบแผน') ได้ตามที่ตั้งใจเอาไว้ให้ได้ครบถ้วน
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นอกจากจะมีอาการ FOMO หรือกลัวถูกทิ้งแล้ว ยังผสมเข้าไปกับอาการ Perfectionism หรือต้องการทำให้ชีวิตของตัวเองสมบูรณ์แบบทุกอย่างด้วย ซึ่งหลายคนบอกว่ารู้เลยว่าเกิดจากโซเชียลมีเดีย ที่ทุกคนหันแต่ด้านสำเร็จใส่กัน
น้องอีกคนหนึ่งบอกว่า สภาวะแบบนี้ สุดท้ายแล้วทำให้เกิดผลลัพธ์สองแบบ
แบบหนึ่งคือคนก้มหน้างุดๆ ทำงานหนัก (work hard) เพื่อจะให้บรรลุผลลัพธ์ที่ว่า แต่อีกด้านหนึ่ง คนรุ่นใหม่ก็จะเกิดอาการ 'โกรธ' มากๆ ด้วย เพราะการพยายามไม่ให้ missed out นั้น มันต้องแลกมาด้วย 'ราคา' ที่แพงมากๆ และที่สำคัญก็คือ มันมีหลายด้าน หลายมิติมากเหลือเกินที่จะต้องไล่ตามให้ทัน ไม่ได้มีแค่ไม่กี่ด้านเหมือนสมัยก่อน เช่น นอกจากจะต้องเรียนให้เก่งแล้ว ยังต้องมีสำนึกทางการเมือง สำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม สำนึกเชิงสังคม สำนึกทางเพศ ฯลฯ ที่ไม่ 'บ้ง' ด้วย
แต่ที่น่าสนใจเข้าไปอีกก็คือ มีหลายคนบอกว่า สภาวะ Perfectionism หรืออยากสมบูรณ์แบบทุกอย่างนี้ มันไม่ได้มาพร้อมอาการเชิดๆ บอกว่าฉันเก่ง แต่มันมาพร้อมความรู้สึกว่า - นี่กูดีพอหรือยัง (วะ) ซึ่งก็คืออาการของ Imposter Syndrome นั่นเอง คือรู้สึกว่าทำอะไรก็ยังดีไม่พอ เก่งไม่พออยู่เสมอ ซึ่งไม่ใช่อาการเดียวกับความอยากรู้อยากฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ แต่มันคือความทุกข์ทรมานที่ทำอย่างไรก็ไม่สามารถเติมเต็มความรู้สึกในการเดินไปหาผลลัพธ์ได้เสียที
ในด้านที่สองก็คือ ต่อให้ไม่มีปัญหาเรื่องการทำงาน การเรียน และฐานะทางเศรษฐกิจ (เพราะที่บ้านฐานะดี) แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาความไม่เข้าใจของที่บ้านอยู่ดี และเป็นความไม่เข้าใจกันที่ 'หนัก' กว่าสมัยก่อนด้วย
สมัยก่อน ประเด็นใหญ่ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างรุ่นมักจะเป็นเรื่องที่มีใจกลางปัญหาอยู่ตรงเพศ คือผู้คนอาจถูกผู้ใหญ่บังคับให้แต่งงานเพื่อฐานะหรือเพื่อความเหมาะสม หรือมีม่านประเพณีมากั้น ไม่ให้รักชอบคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา หรือห้ามเรื่องการรักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องเพศทั้งนั้น
แต่ในปัจจุบัน ความ 'เข้ากันไม่ได้' ของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อนหน้า ไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว (ที่จริงเรื่องเพศประเภทบังคับแต่งงานนี้อาจจะแทบไม่มีแล้วด้วยซ้ำ) แต่กลับกลายเป็นเรื่อง Ideology หรือสภาวะอุดมคติในการมองโลกและสังคมที่ต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง
คนรุ่นใหม่ที่ได้คุยด้วย บอกว่าแม้จะตั้งใจเรียน อยากทำงานดีๆ มีเงินเดือนเยอะๆ แต่พวกเขาไม่ได้มี 'เป้าหมายทางสังคม' แบบเดียวกับคนรุ่นก่อน คือเงินเดือนดีก็ดีนั่นแหละ แต่สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการด้วย ก็คือการ 'เปลี่ยนแปลงสังคม'
คนหนึ่งยกตัวอย่างว่า ถึงที่บ้านจะรวย นามสกุลดัง ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน และอาจได้มรดกก้อนใหญ่ แต่ก็ยังอยากให้สังคมนี้มีกลไกเกลี่ยให้ผู้คนเท่าเทียมกัน เช่นกลไกอย่างภาษีมรดก แต่เมื่อหยิบเรื่องนี้มาคุยกับพ่อแม่หรือญาติๆ ก็เป็นอันว่าจะต้องถูกตำหนิ ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ลึกซึ้งกว่านั้นเลย
ปัญหาของคนรุ่นใหม่จึงซับซ้อนเอามากๆ นี่แค่คนที่เป็นระดับครีม ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ก็ยังเผชิญกับอะไรๆ หลายอย่างที่ทั้ง 'ใหญ่โต' และ 'ซ้อนทับ' กันอยู่มากขนาดนี้
ลองคิดถึงคนที่ไม่ได้มีโอกาสในชีวิตมากเท่าดู นึกถึงม็อบดินแดง นึกถึงคนที่ต้องเป็นหนี้การศึกษา คนที่ชีวิตติดลบ คนที่เรียนไม่เก่ง คนที่ถูกสังคมและผู้ใหญ่บังคับให้ต้องทำอะไรที่ขัดแย้งกับตัวเองมากๆ และทั้งหมดนี้วางตัวอยู่บนสถานการณ์เรื่อง 'โรคระบาด' และ 'สิ่งแวดล้อม' ที่หนักหนาสาหัสในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับมนุษยชาติ - แล้วเราก็อาจพอเข้าใจได้ว่า คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญกับอะไรอยู่
แล้วคนรุ่นที่มีมากพอแล้ว สั่งสมทั้งโภคทรัพย์ ประสบการณ์ การท่องเที่ยวเดินทาง และผ่านชีวิตแสนดียุค 80s - 90s กันมาแล้ว คิดว่าจะ 'ใจกว้าง' มากพอยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องการได้ไหม
นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะหากยังอยากนั่งบัลลังก์ตั่งทองแล้วกดข่มคนอื่นซุกเอาไว้ใต้ตั่งนั่นไม่ให้มีสิทธิมีเสียงในการบอกเล่าปัญหา สุดท้ายตั่งก็อาจถูกพลิกคว่ำลงมาได้ทุกเมื่อ
.
คนที่สบายๆ อยู่เพราะมีอายุ ประสบการณ์​ และสะสมต้นทุนเอาไว้มากพอสมควรแล้ว จะเข้าใจได้ไหมว่า ตอนนี้คนรุ่นใหม่มีชีวิตที่ 'หนัก' มากเพียงใด
.
ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ต้องรีบทำความเข้าใจเสียแต่บัดนี้ ก่อนจะไม่มีอะไรเหลือให้ทำความเข้าใจอีกต่อไป
โฆษณา