15 ส.ค. 2022 เวลา 03:38 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Data Tax เมื่อข้อมูลมีมูลค่าเหมือนสินทรัพย์ แล้วต่อไปจะโดนเก็บภาษีไหม?
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกนี้มีการเก็บภาษีข้อมูล (Data Tax)
ในยุคที่ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple, Google หรือ Facebook พยายามรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้เพื่อนำไปใช้สร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจให้ได้มากที่สุด จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมีการจัดเก็บภาษีข้อมูล?”
การจัดเก็บภาษีข้อมูลจะมีส่วนช่วยให้เกิดการควบคุมการเก็บข้อมูลผู้ใช้ให้น้อยลงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฏหมายปกป้องความเป็นส่วนตัว เช่น GDPR ของยุโรป และ PDPA ของไทย
ซึ่งสารคดี The Social Dilemma บน Netflix ได้มีการนำเสนอข้อมูลและเสนอทางเลือกวิธีการจัดเก็บภาษีข้อมูลนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
อย่างไรก็ดีในแต่ละประเทศก็ยังมีมุมมองต่อการเก็บ Data Tax แตกต่างกันออกไปและเริ่มมีความพยายามที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง
แน่นอนว่าการจัดเก็บ Data Tax ย่อมมีผลกระทบที่ทุกฝ่ายจะต้องนำไปพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจว่า แนวคิดนี้จะสามารถนำมาใช้จริงได้แค่ไหนไปดูกัน
ทำไมจึงมีความต้องการจัดเก็บภาษีข้อมูล
สาเหตุหลักคือหลาย ๆ แพลตฟอร์มมีการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้จำนวนมาก ผู้ใช้บางคนอาจจะมองว่ามากเกินไป จึงควรจะมีอะไรมาควบคุมการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้ให้ลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็น GDPR ของ EU หรือ PDPA ของประเทศไทยเองที่ระบุว่าข้อมูลส่วนบุคคลควรมีการจัดเก็บให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
ในสารคดี The Social Dilemma บน Netflix มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการที่บริษัทเหล่านี้นำข้อมูลจำนวนมากของผู้ใช้มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในแพลตฟอร์ม ซึ่งในสารคดีนั้นก็แสดงให้เห็นว่ามีอดีตพนักงานของ Google ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า ถ้าเรามีการจัดเก็บภาษีของข้อมูล บริษัทก็จะจัดเก็บข้อมูลแค่เท่าที่จำเป็น หรือเท่าที่จะสร้างกำไรให้กับบริษัทได้
สารคดี Social Dilemma
เราจะเก็บภาษี Data Tax จากอะไร และมีวิธีการอย่างไร
  • ภาษีจาก Data Collection
ลักษณะเดียวกันกับการเก็บภาษีถ่านหินในหลายประเทศ ที่คิดอัตราภาษีต่อปริมาณถ่านหินที่ถูกขุดมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการใช้ถ่านหินซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน ในมุมมองของการจัดเก็บข้อมูลก็คงเป็นการลดปริมาณการจัดเก็บข้อมูลเพื่อเคารพความเป็นส่วนบุคคลของผู้ใช้
ทุกครั้งที่มีการไหลของข้อมูลเข้ามาก็จะคำนวณเม็ดเงินภาษี ความยากอยู่ที่ว่าเราจะตีมูลค่าของข้อมูลที่ไหลเข้ามาได้อย่างไร ข้อมูลที่ไหลมาส่วนไหนที่ควรถูกเก็บภาษีและส่วนไหนได้รับการยกเว้น
  • ภาษีจาก Data Storage
อีกวิธีคือการประเมินภาษีจากปริมาณข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ ไม่ว่าจะอยู่บนคลาวด์หรือบนเครื่อง ตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีการเช่าคลาวด์เพื่อบันทึกข้อมูล ก็จะมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มจากการเช่านั้นตามความจุของคลาวด์ ซึ่งผลที่ตามมาก็จะทำให้บริษัทพยายามลดการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้ลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ นอกจากนี้ผลพลอยได้อีกอย่างก็คือลดการใช้พลังงานสำหรับเครื่อง Server อีกด้วย
แต่ละประเทศมีมุมมองต่อ Data Tax อย่างไร
ทาง EU ได้ถกเถียงมาสักพักหนึ่งแล้วว่าจะเก็บภาษีจาก Digital Transaction ได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น อาจจะเก็บภาษีจากข้อมูลลูกค้าที่ถูกบันทึกระหว่างการเข้าใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด และแต่ละประเทศสมาชิกก็ได้เริ่มหันมาหาวิธีจัดเก็บภาษีของตัวเอง
ฝั่งสหรัฐอเมริกาก็เจอปัญหาเดียวกัน ที่ผ่านมาเคยพยายามจัดเก็บภาษีการโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตแต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ ปัญหาหลักคือการโฆษณานั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ภูมิศาสตร์เดียวซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนในการคำนวณภาษีหรือเกิดการซ้ำซ้อนได้ เพราะแต่ละรัฐก็จะมีนโยบายภาษีที่ต่างกัน ซึ่งก็สามารถมองได้ว่าการเก็บภาษีของข้อมูลก็จะพบปัญหาเดียวกัน
ตัวอย่างโมเดลการคำนวณภาษีการโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต จาก MeCCSA
ในประเทศจีนก็เริ่มมีแนวคิดนี้ โดยทางรัฐบาลมองว่าแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่ถือข้อมูลไว้มากมาย เช่น Alibaba และ Tencent สามารถสร้างรายได้จากข้อมูลเหล่านั้น ผู้ว่าเมืองฉงชิงได้กล่าวเอาไว้ว่าแพลตฟอร์มที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลควรคืนกำไรที่ได้กลับไปยังเจ้าขอข้อมูล 20-30% แต่นี่ก็อาจมองได้ว่าเป็นความพยายามที่รัฐบาลจีนพยายามกุมอำนาจด้าน Data Economy ให้เหนือฝั่งเอกชน
ผลกระทบของการเก็บภาษีข้อมูล
1. ค่าใช้จ่าย
แน่นอนว่าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทที่ให้บริการต่าง ๆ เพิ่มเติมไปจากภาษีรายได้ที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว บริษัทที่มีขนาดเล็กอาจได้รับผลกระทบมากกว่าทำให้ยิ่งเกิดการผูกขาดโดยผู้เล่นรายใหญ่ นอกจากนี้บริษัทอาจผลักภาระไปที่ลูกค้า เช่น ผู้ใช้บริการโฆษณาในแพลตฟอร์ม
2. ผลักภาระไปที่ผู้บริโภค
ผู้ให้บริการอาจจะผลักค่าใช้จ่ายไปที่ผู้ใช้ระบบ ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มค่าบริการ หรือ กำหนดให้ผู้ใช้ต้องส่งข้อมูลการใช้งานขั้นต่ำในการใช้ระบบที่จะมาหักล้างเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นมาได้ ซึ่งดูน่าจะไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้น
3. ชะลอการพัฒนาเทคโนโลยี
การวิเคราะห์ข้อมูลมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะ Artificial Intelligence (AI) ที่ต้องอาศัยข้อมูลในการสอนตัว AI ภาษีข้อมูลจึงเป็นกำแพงที่ทำให้การพัฒนา AI มีราคาสูงขึ้นโดยเฉพาะกับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก บริษัทในประเทศที่มีการใช้ภาษีเหล่านี้ก็อาจเสียเปรียบในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีกับประเทศที่ไม่มีภาษีข้อมูล
บทสรุป
สุดท้ายภาษีข้อมูลก็ยังคงเป็นเรื่องของอนาคตโดยเฉพาะในประเทศไทยที่ยังไม่มีการพูดถึงประเด็นนี้เท่าไหร่ ซึ่งต่อให้มีความต้องการที่จะจัดเก็บ ในทางปฏิบัติก็ยังทำจริงได้ยาก ไม่ต่างกับภาษีคริปโทเคอร์เรนซีที่เป็นประเด็นร้อนในทุกวันนี้
เนื้อหาโดย นนทวิทย์ ชีวเรืองโรจน์
ตรวจทานและปรับปรุงโดย ดวงใจ จิตคงชื่น
โฆษณา