23 ส.ค. 2022 เวลา 02:47 • ข่าวรอบโลก
แบบแผนการทูตของไทย
ประเทศไทยหรือสยามประเทศของเรานั้น ได้ผูกมิตรกับต่างชาติมาแต่ยาวนาน ย้อนกลับไปตั้งแต่ครั้งอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้ส่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส หรือการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทั้ง ๒ ครั้ง ตลอดจนการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ และองค์การสหประชาชาติ
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และผู้แทนฝรั่งเศส ที่มา : chateauversailles.fr
เหตุการณ์สำคัญอีกหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพสำคัญของการทูตไทย ก็คือ ช่วงเวลาหลังจบสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ส่งผลให้ประเทศไทย ไม่ตกอยู่ภายใต้สถานะประเทศผู้แพ้สงคราม จากฝีมือของผู้นำขบวนการเสรีไทยอย่าง นายปรีดี พนมยงค์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อดีตอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เองนำไปสู่ประเด็นสำคัญที่เราจะพูดถึงกันวันนี้ คือ “อะไรคือแบบแผนการทูตของไทย ?” ทำไมต่างชาติถึงมีสำนวนอย่าง “Siamese talk” และ “การทูตไผ่ลู่ลม” (Bamboo Diplomacy) คืออะไร ?
โดยผู้ที่จะมาตอบคำถามเหล่านี้ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดในวงการทูตของไทยจากเวทีเสวนาวิชาการซีรีส์ไทยกับโลกและประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ อดีตเอกอัครราชทูต ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (International Studies Centre: ISC)
รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสมปอง สงวนบรรพ์ อดีตเอกอัครราชทูต และปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการสถาบันโลกคดีศึกษา วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์หรือ “ธัชชา” (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts: TASSHA)
(ซ้าย) คุณสมปอง สงวนบรรพ์ (กลาง) ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ และ (ขวา) รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
รศ.ศุภมิตร บอกว่า การทูตไทยนั้น ไม่มีรูปแบบหรือแบบแผนที่ชัดเจนแน่นอน เพราะการดำเนินนโยบายทางการทูตนั้นจำเป็นที่จะต้องมีพลวัตร มีการเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โดยจะขอเริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะในอดีตก่อนที่ไทยจะเข้าสู่รูปแบบการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ ที่มีการปักหลักเขตแดนชัดเจน ก่อนหน้านั้น เราใช้วิธีการปกครองแบบรัฐมณฑล (Mandala) ตามแนวคิดแบบพระจักรพรรดิราช หรือ รัฐแสงเทียน ที่ผู้ปกครองมีอำนาจแบบเข้มข้น ณ เมืองหลวง และเริ่มอ่อนลงไปตามความใกล้ไกลของแต่ละพื้นที่
ที่มา : ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช
ทว่าการปกครองแบบ Mandala นี้มักจะมีเขตแดนทางอำนาจที่ทับซ้อนกันที่ขึ้นตรงกับเจ้าผู้ปกครองมากกว่าหนึ่งราย แนวนี้ยังคงอยู่มาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ร่วมสมัยอย่างเหตุการณ์สงครามกลางเมืองกัมพูชาที่ไทยและเวียดนามต่างอ้างสิทธิการมีอำนาจเหนือกัมพูชาและต่างสนับสนุนกลุ่มชนชั้นนำในพื้นที่ต่างฝ่ายกัน และการแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศลาว ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ความต้องการเป็นผู้นำในภูมิภาคของไทยนั้นได้นำไปสู่การก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศอย่าง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่จัดตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพฯ นั่นเอง
ดร.อนุสนธิ์ กล่าวว่า สำนวนอย่าง Siamese talk หรือ ลิ้นสยาม ที่ตั้งใจเปรียบขึ้นมาเสียดสีประเทศไทย จากการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่กลับไม่ตกอยู่สถานะผู้แพ้สงครามนั้น ถือเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก เพราะเรื่องวาทศิลป์กับการทูตเป็นของคู่กัน การทูตของไทยนั้นก็ยึดถือหลักการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ (National Interest) ไม่ต่างไปจากรัฐอื่น ๆ ในโลกใบนี้
ดร.อนุสนธิ์ ก็เห็นไม่ต่างจาก ดร.ศุภมิตร ว่า การจะกล่าวว่า แบบแผนการทูตของไทย คือสิ่งใดนั้นเป็นเรื่องยาก แต่การทูตของไทยนั้นก็มีลักษณะเฉพาะตัว (Characteristic) ซึ่งหลายท่านมักนิยามสิ่งนี้ว่าคือ “การทูตแบบไผ่ลู่ลม”
หากอ้างอิงจากงานเขียนของ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตสาขาวิชารัฐศาสตร์ เรื่อง Thai Politics และบทสัมภาษณ์ของ ดร.เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากหนังสือ Thai Diplomacy ซึ่งทั้งสองท่านเห็นตรงกันว่าการทูตแบบไผ่ลู่ลมของไทยนั้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเป็นแนว
การทูตที่มีความยืดหยุ่น (Flexibility) และมองบริบทของโลกไปตามความเป็นจริง ไม่ยึดติดกับแนวคิดแบบอุดมคตินิยม (Idealism)
ด้านอาจารย์สมปอง กล่าวเสริมว่า การทูตแบบไผ่ลู่ลมของไทยนั้น เราไม่ได้ลู่ตามลมเสมอไป บางครั้งเราอยู่นิ่งต้านกระแสลม และมีหลายครั้งเราไม่ได้เพียงแค่ลู่ไปตามลม หากแต่มองเห็นว่าลมจะพัดไปทางทิศใด อีกทั้งเรานั้นยังโอนไปในทิศทางนั้น ๆ ก่อนที่กระแสลมจะมาถึงเสียด้วยซ้ำ
หนังสือ Thai Politics : Selected Aspects of Development and Change โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ที่มา : ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
หนังสือ Thai Diplomacy in conversation with Tej Bunnag ที่มา : ISC
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายท่านอาจมีคำถามในใจว่า ประเทศไทยดำเนินนโยบายทางการทูตแบบโลเลไม่แน่นอน หรือ ไร้กระดูกสันหลังอย่านั้นหรือ ? คำตอบก็คือ “ไม่” นโยบายทางการทูตของไทยนั้นมีกระดูกสันหลังอย่างแน่นอน
กระดูกสันหลังนั้นไม่เพียงแต่เป็นโครงสร้างที่แข็งแรง ที่ทำหน้าที่ปกป้องไขสันหลังและเส้นประสาทยังเชื่อมต่อกับกะโหลกศีรษะ แต่กระดูกสันหลังนั้นก็เป็นหนึ่งในโครงสร้างของร่างกายที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก สามารถโน้มเอียงไปข้างหน้าหรือข้างหลังได้เช่นเดียวกันกับต้นไผ่
หากกระดูกสันหลังมีหน้าที่ปกป้องกะโหลกศีรษะซึ่งถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ทุกการตัดสินใจว่าจะดำเนินนโยบายทางการทูตลู่ไปตามลม หรือยืนหยัดท้าทายลมนั้น ก็ต้องยึดถือหลักผลประโยชน์แห่งชาติมาเป็นอันดับแรกเสมอ เพราะนั้นคือหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของนักการทูตทุกคน
ปัจจุบันนี้ การทูต หรือ การระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องที่จำกัดอยู่ในเฉพาะแวดวงนักการทูตอีกต่อไป เพราะการทูตนั้นเป็นเรื่องของทุกคน และภาคประชาสังคมเองก็สามารถขับเคลื่อนนโยบายทางการทูตได้ จนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “การทูตภาคประชาชน” (Public Diplomacy)
หนึ่งในปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับแนวคิดเรื่องการทูตภาคประชาชนก็คือ “พันธมิตรชานม” (Milk Tea Alliance) ที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนกระบวนการด้านประชาธิปไตย โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มประชาสังคมที่เริ่มต้นในไทย ไต้หวัน และฮ่องกง ซึ่งพันธมิตรชานมนั้นเกิดขึ้นจากการรวมตัวผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์
กระทรวงการต่างประเทศเองก็มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายการทูตภาคประชาชนโดยตรง เพราะกระทรวงการประเทศเชื่อว่าการทูตภาคประชาชนคือหนึ่งในรากฐานที่สำคัญสุดสำหรับการสร้างมิตรภาพที่ดีระหว่างประเทศไทยและนานาชาติ ซึ่งหน่วยงานหลักก็คือกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency: TICA) ผ่านโครงการ “อาสาสมัครเพื่อนไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ในทุกระดับระหว่างไทยและมิตรประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ที่มา : บทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยนางสาวยาใจ บุนนาค นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กรมสารนิเทศ
หากท่านสนใจอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย ผมขอแนะนำให้ท่านรับชมรายการ Spokesman Live!!! ตอน ‘อาสาสมัครเพื่อนไทย’ ทูตแห่งการพัฒนาในภาคประชาชน ได้ที่ https://youtu.be/cx8JO3Ug-B8 โดยท่านจะได้รับทราบเรื่องราวและประสบการณ์ดี ๆ จากอาสาสมัครเพื่อนไทยที่ได้เดินทางปฏิบัติหน้าที่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
หากท่านผู้อ่านยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องแบบแผนการทูตไทย และต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมท่านสามารถเข้าไปรับฟังเทปบันทึกการเสวนาวิชาการครั้งนี้ได้ที่ https://fb.watch/dXQ9sgSKrI/ และแน่นอนว่า อย่าลืมกดติดตามเพจ Blockdit ของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อที่จะไม่พลาดทุกเรื่องของการทูตไทย ไม่ว่าจะเป็น เบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง พร้อมเกร็ดความรู้ที่น่าทึ่ง และประสบการณ์ที่หาซื้อหรือหาอ่านไม่ได้จากที่ใด ที่ผมและเพื่อนๆ จะเก็บตกมานำเสนอเป็นระยะ ๆ ครับ
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา