Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
แค่เล่าให้ฟัง
•
ติดตาม
15 ส.ค. 2022 เวลา 12:23 • ไลฟ์สไตล์
The Hematologist 🩸🩸🩸🩸🩸
1)
“เราตั้งใจไว้แล้วว่าอยากเรียนต่อสาขาอายุรกรรมหลังใช้ทุนครบสามปี ที่ชอบสาขานี้เพราะมันมีคำอธิบาย มีเหตุมีผล อย่างพวก pathophysiology อะไรแบบนั้นมันมีความแน่นอนของมัน ตอนนั้นก็คิดถึงสาขาย่อยที่จะเรียนต่อของอายุรกรรม มีคิดไว้อยู่หลายอย่างเลย แต่ทุกอันก็จะเน้น pathophysiology เป็นหลักและต้องเป็นสาขาที่ไม่ emergency มากนัก เราไม่ชอบอะไรที่ต้องรีบตัดสินใจ ชอบการมีเวลาให้คิดอย่างรอบคอบก่อนในการวางแผนการรักษา
ตอนแรกเราไม่ตั้งใจจะกลับไปเรียนเร็วขนาดนั้น แต่ลองสมัครเพราะสาขาฮีมาโตฯ ก็เป็นหนึ่งในสาขาที่เราสนใจตั้งแต่แรกและเป็นสาขาขาดแคลนที่ใช้ทุนแค่ปีเดียวก็สามารถสมัครได้ ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ไปเรียนเลยเพราะเรายังอายุน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ที่ไปสมัครแถมไม่มีทุนด้วย แต่โชคดีที่ปีนั้นมีคนขอสละสิทธิ์พอดีเราเลยได้รับเลือก ตอนนั้นไม่มีเวลาเตรียมตัวเลย สัมภาษณ์ทุกอย่างทางโทรศัพท์หมด อาจารย์เจอหน้าเราครั้งแรกก็วันเปิดเทอมเลย
เราดีใจมากที่จะได้เรียนต่อสาขาที่ชอบ แต่ก็รู้สึกผิดกับเพื่อนที่สัญญาว่าจะไปใช้ทุนปีสองด้วยกัน ตอนนั้นเราตัดสินใจยากมากเพราะถ้าหมอหายไปหนึ่งคน หมอที่เหลืออยู่ก็ต้องลำบากมากขึ้น ทุกวันนี้ยังขอบคุณเพื่อนอยู่เลยที่เชียร์ให้เรามาเรียนต่อ บอกว่าโอกาสมาแล้วให้รีบคว้าเอาไว้ ถ้าตอนนั้นเพื่อนขอให้เราอยู่ต่อก่อน เราก็จะอยู่ต่อ ไม่ไปเรียนปีนั้นแน่ๆ”
2)
“เราชอบดูสไลด์ตั้งแต่ตอนอยู่ชั้นคลินิกแล้ว เหมือนเราได้อยู่กับตัวเอง ไม่ต้องยุ่งกับใคร มีแค่เรากับสิ่งที่เรากำลังมองหาว่าคนไข้เป็นอะไร ห้องกล้องมันเป็นห้องที่สงบอ่ะ ยิ่งตอนมาเรียนต่อยิ่งรู้สึกว่าห้องกล้องเหมือน comfort zone ของเราเลย เป็นห้องที่เวลาเราเหนื่อยหรือเครียด เราจะเดินมาที่ห้องนี้ เอางานมาทำ มาดูสไลด์ แล้วทุกอย่างมันจะค่อยๆ ดีขึ้น หรืออย่างวันเสาร์อาทิตย์บางทีก็มานั่งเล่นอยู่ในห้องกล้องนี่ล่ะ
คนไม่ค่อยรู้ว่าเราเป็นคนใจร้อนมากและจริงจังกับการทำงานมาก เราเคยป่วยหนักเพราะเราดูคนไข้แบบไม่พักเลย แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราเลือก เราสบายใจที่จะทำแบบนั้น ไม่มีอะไรที่จะชนะการดูแลคนไข้ได้ ยิ่งถ้าคนไข้ของเราอาการไม่ดี เราก็จะหาสาเหตุ จะหาความรู้อ่านไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอคำตอบที่เราต้องการในการเอามาใช้รักษา
ถ้ามีใครทำอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นกับคนไข้ของเรา เราก็จะ feedback เขาไปตรงๆ ไม่รู้ว่ามีใครเคยโกรธเราที่เราพูดแบบนั้นไปหรือเปล่า แต่พอ feedback แล้วเราจะไม่พูดอะไรต่อลับหลัง ไม่เก็บมาคิด ยังสามารถทำงานกับเขาได้ปกตินะ อีกอย่างคือเราเป็นคนไม่ค่อย compromised เวลามีเรื่องไม่ถูกต้อง แต่คนอื่นก็จะไม่ค่อยรู้เพราะต่อให้เราไม่พอใจมาก เราก็ยังมี limit ว่าสิ่งที่เราแสดงออกมามันได้ถึงแค่ไหนต่อให้ข้างในจะร้อนมากๆ ก็ตาม ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของห้องกล้องคือมันทำให้เรานิ่งและเย็นลงได้”
3)
“พอมาเรียนฮีมาโตฯ เราก็สนใจเรื่อง hematologic malignancy เราคิดว่ามันเป็นมะเร็งที่รักษาให้หายได้อ่ะ สมัยเรียนชั้นคลินิกตอนปี 4 เราเคยเจอคนไข้เด็กที่เป็น AML มานอนโรงพยาบาลด้วย febrile neutropenia แล้วเรากลับมาเจอเด็กคนนี้อีกครั้งตอนเราเป็น Extern แล้ว เราเห็นว่าเขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ กลับไปเรียนได้ มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากเลยนะ
เพราะฉะนั้นเราหวังว่าคนไข้ของเราทุกคนจะ complete remission ได้แบบนั้น แต่พอมาทำงานจริงเราก็พบว่ามันไม่ได้หายหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์นะ มันจะมีประมาณสามสิบเปอร์เซ็นต์ที่ไม่หาย แต่มันก็มีการศึกษาใหม่ๆ ตัวยาใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา เราคิดว่ามันยังมีความหวังอยู่ที่จะดีกว่านี้ได้ เราชอบความท้าทายอยู่แล้ว ที่สำคัญเราไม่ใช่คนที่จะยอมแพ้กับอะไรง่ายๆ ด้วย
เวลาดูแลคนไข้มะเร็งหนึ่งราย แค่คำว่ามะเร็งมันก็หนักกับเขามากพอแล้ว เราเลยจะให้เวลากับเขาเยอะมากโดยเฉพาะช่วงแรกที่เราต้องให้ข้อมูลการรักษา เราจะบอกแนวทางการรักษาตั้งแต่ต้นจนจบให้เขาฟัง บอกผลแทรกซ้อนทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้เขาร่วมตัดสินใจ และพอเราพูดจบเราจะเปิดโอกาสให้เขาถามในทุกสิ่งที่เขาสงสัย เพราะพอมันเริ่มการรักษาไปแล้วมันถอยไม่ได้ และระหว่างการรักษามันไม่ได้สุขสบายเลยนะ แถมมีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนได้อีก เขาควรจะได้เข้าใจว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับเขาบ้าง
สิ่งหนึ่งที่คิดว่าฮีมาโตฯ ต่างจากอายุรกรรมสาขาอื่นๆ คือความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก เพราะเราต้องดูแลเขาตั้งแต่วันแรกที่เขาถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง หลายครั้งที่เราต้องดูแลไปจนถึงญาติหรือคนใกล้ชิดของคนไข้ บางรายเราดูแลเขาไปจนถึงช่วง end of life การรักษาบางครั้งเป็นเดือน บางครั้งเป็นปี แต่เพราะแบบนั้นเราเลยจำข้อมูลทั้งหมดของคนไข้ได้ ไม่ว่าจะตัวโรค ตัวยาที่ให้อยู่ การรักษาปัจจุบันไปถึงขั้นไหนแล้ว ขอแค่บอกชื่อคนไข้มาก็พอ เพราะเราใช้เวลากับคนไข้มากจริงๆ”
4)
“ด้วยความที่เป็นคนแบบนี้ เวลาคนไข้คนหนึ่งเดินมาหาเรา เราจะเห็นภาพการรักษาของเขาไปจนจบแล้วอ่ะ เราจะมีแผนการที่ชัดเจนในการดูแลคนไข้แต่ละคน และหวังว่าทุกอย่างมันจะออกมาดีที่สุด แต่มันก็มีข้อเสียคือเวลาที่อะไรมันผิดไปจากแผนก็จะทำให้เรารู้สึกไม่ดีทันที เช่น เวลาคนไข้มีรอยโรคใหม่ขึ้นมาหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา ถ้าเป็นคนไข้ที่มาหาเราหลายครั้งแล้ว เขาจะจับความรู้สึกจากเราได้เลยว่าวันนี้เขาดีหรือว่าไม่ดี
เราไม่เคยเข้าใจคำว่า sympathy สมัยที่เรียนชั้นคลินิกเลยนะ แต่พอมาทำงานสาขานี้เราเกิดความรู้สึกนี้บ่อยมากๆ ตอนที่เรารู้ตัวว่าเราเกินคำว่า empathy ไปเป็น sympathy แล้วคือวันที่เราร้องไห้ต่อหน้าญาติคนไข้แล้วญาติต้องเป็นคนมาปลอบเราว่าเราทำดีที่สุดแล้ว
หลังจากนั้นเราก็พยายามคุมความรู้สึกตัวเองมากขึ้น ครั้งนั้นเลยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว แต่จนวันนี้ทุกครั้งที่คนไข้ของเราดื้อต่อยาหรือรักษาต่อไม่ไหวแล้วเราก็ยังเสียใจอยู่ตลอดนะ ด้วยความที่มันเป็นการรักษาที่ยาวนาน เราเลยมองคนไข้และญาติคนไข้เหมือนญาติของเราเอง แต่จะเป็นความเสียใจในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น ไม่โทษตัวเองจนเกินไป อย่างตัวเองสมัยก่อนจะมานั่งคิดซ้ำๆ ว่าเราพลาดอะไรไป ถ้าเราตัดสินใจเลือกอีกทางในสักจังหวะใดจังหวะหนึ่งคนไข้จะดีกว่านี้ได้หรือเปล่า”
5)
“ถ้าได้เจอคนที่เป็นเหมือนเรา เราอยากบอกว่าทุกอย่างเกิดจากความคาดหวังของตัวเราเอง มันเป็นความผิดหวังที่เกิดจากตัวเอง นี่ยังไม่รวมความคาดหวังของตัวเองที่ไปใส่กับคนอื่นด้วยนะ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องดีเลย อยากจะบอกว่าปล่อยวางเถอะ ถ้ามันได้คำตอบแล้วว่าถึงย้อนเวลากลับไปเราก็คงทำเหมือนเดิม เราเต็มที่แล้วนะ เราไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่อะไร เราตัดสินใจถูกต้องอย่างรอบคอบแล้ว บางสิ่งเราก็ควบคุมไม่ได้ ก็ต้องปล่อยมันผ่านไป อันนี้คือสิ่งที่พยายามบอกตัวเองมาตลอด
เราไม่คิดว่าคนแบบไหนถึงเหมาะหรือไม่เหมาะกับสาขาอะไร สำหรับเราการเลือกเรียนต่อควรขึ้นกับความชอบของคนๆ นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเราชอบมันหรือเปล่า เพราะความชอบมันจะทำให้เรามีความสุขทั้งตอนเรียนและตอนทำงาน ต่อให้เราเหนื่อยหรืองานหนักแค่ไหน เราก็ยังจะมีความสุขอยู่ดี เราเลยคิดว่าถ้าชอบก็ไปลุยเลย ความเก่งมันพัฒนาได้จริงๆ แต่ความสุขที่อยู่กับมันอ่ะ ถ้าไม่มีตั้งแต่แรกมันจะกลายเป็นว่าต้องทน ทนไปตลอดชีวิตเลยนะ เราคิดว่ามันก็อยู่ไม่ได้หรอก
เรามองว่าการมาเรียนแพทย์ประจำบ้านคือการมาพัฒนาตัวเองอ่ะ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งมาแต่แรก ขอแค่เริ่มจากชอบสาขาที่จะมาเรียนและพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อย่างตัวเรากล้าพูดเลยว่าต่อให้เหนื่อยแค่ไหนก็ไม่มีสักวินาทีเดียวที่เราคิดเรื่องลาออก เพราะเราชอบฮีมาโตฯ มากจริงๆ ขอบคุณโอกาสที่ทำให้เราได้มาเรียนสิ่งที่ชอบ จนจบมาทำงานได้ปีกว่าแล้วก็ยังคิดอย่างนั้นอยู่เลย”
เพื่อนที่เรียนจิตเวชหนึ่งคนมาขอสัมภาษณ์เรา เพราะอยากรู้จักว่าอายุรกรรมโรคเลือด คืออะไร เป็นยังไง เพื่อนส่งบทความมาให้ เลยอยากลองแชร์ดู
“ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร เรารู้แค่ว่าตอนนี้เราเพื่ออะไรพอ”
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย