16 ส.ค. 2022 เวลา 00:20 • หนังสือ
ยังพาวนเวียนอยู่แถวเยอรมนี สมัยสงครามโลกอยู่ค่ะ 😆
เล่มนี้สมศักดิ์ศรีกับที่เป็นวรรณกรรมที่ทำให้ผู้เขียนได้รับรางวัลโนเบลในปี 1999 (หลังตีพิมพ์แล้ว 40 ปี) ตัวเองโดนคุณกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ป้ายเรื่องนี้จากหนังสือของเค้า "จดหมายถึงเพื่อน" (เล่มนี้ดีมากค่ะ เดี๋ยวคราวหน้าเอามาเล่าให้อ่าน)
The Tin Drum/กลองสังกะสี ผลงานของ กึนเทอร์ กราสส์ แปลโดย อรัญญา โรเซนเบิร์ก พรหมนอก/นฤมล ง้าวสุวรรณ/ผุสดี ศรีเขียว
เล่าถึงชีวิตของออสคาร์ มัทเซราท ชายคนแคระที่หยุดการเติบโตของร่างกายเท่ากับเด็กอายุ 3 ขวบ หลังจากที่ได้รับ "กลองสังกะสี" เป็นของขวัญวันเกิดจากแม่ ออสคาร์มีกลองเป็นเพื่อนมาตลอด และเสียงของเค้าสามารถทำให้กระจกและแก้วแตกได้อย่างง่ายดาย ชีวิตวัยเด็กของเค้าเติบโตมากับแม่ และพ่อชาวเยอรมัน 1 คน และพ่อชาวโปแลนด์อีก 1 คน
ออสคาร์ผ่านร้อนหนาวมาอย่างโชกโชนกับการมีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 และสุดท้ายเค้าก็ได้ตัดสินใจเติบโตด้วยความสูงที่เพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย พร้อมกับกระดูกหน้าอกที่ยื่นออกมาและมีโหนกที่หลัง
ผู้เขียนเป็นนักเล่าเรื่องและนักบรรยายตัวยง มีทั้งฉากหนักและฉากตลกปนเศร้าผสมกัน การให้สัญลักษณ์ของกลองสังกะสี ที่เปรียบเหมือนเป็นการเรียกร้องความสนใจและการต่อต้าน รวมไปถึงการมีโหนกงอกขึ้นมาทีหลัง ที่เปรียบเสมือนรอยร้าวที่สงครามได้ทิ้งไว้กับออสคาร์ และทุกคน
แต่ละตอนผู้เขียนเล่าถึงเรื่องราว ความสัมพันธ์ของคนที่ออสคาร์รู้จัก โดยมีฉากหลังเชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์ของสงครามได้อย่างแนบเนียน ส่วนตัวประทับใจตอนที่ออสคาร์ แม่ และพ่อ 2 คน เจอชาวประมงดึงซากหัวม้าที่อยู่ในทะเล แล้วดึงปลาไหลออกมาทีละตัวจากซากหัวม้านั้น บรรยายได้เห็นภาพมาก
เป็นอีกเล่มที่ตัวเองใช้เวลาอ่านนานพอสมควร ทั้งความหนาของหนังสือ และความหนักของเนื้อหา แต่พออ่านจบก็รู้สึกว่า ไม่เสียดายเวลาที่ใช้ไปกับเรื่องนี้เลย ยิ่งพอได้อ่านประวัติของผู้เขียนแล้ว ก็เข้าใจในความหนักของเนื้อหาได้ ถือว่าเป็นวรรณกรรมสัญชาติเยอรมันที่แท้จริงค่ะ
"ผมจะเริ่มเล่าเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ที่ย้อนเวลาไปอีกนาน ด้วยผมเห็นว่า หากผู้ใดไม่มีความอดทนพอที่จะระลึกถึงอดีตก่อนที่ตนจะอุบัติขึ้นมาเป็นมนุษย์ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ครึ่งชีวิตของสมัยปู่ย่าตายายได้แล้ว เขาผู้นั้นก็ไม่สมควรที่จะเล่าเรื่องราวชีวิตของตน"
ปล. เรื่องนี้มีเป็นหนังด้วย หนังทำได้ดีมาก เก็บรายละเอียดของหนังสือได้เยอะพอสมควรเลย แต่ก็ยังเก็บตามหนังสือได้ไม่หมดอยู่ดีค่ะ 😊
เล่มนี้ ยืมมาจากห้องสมุด eco-library ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ค่ะ ❤
โฆษณา