16 ส.ค. 2022 เวลา 04:23 • ข่าวรอบโลก
[ข่าวความยั่งยืน] หรือสิทธิในการทำแท้งจะไม่ใช่ประเด็นทางสังคมที่บริษัทให้ความสำคัญ?
ย้อนกลับไปในปี 2516 ศาลสูงสุดสหรัฐมีคำพิพากษาในคดีที่รู้จักกันในชื่อ Roe v. Wade ว่า การยุติการตั้งครรภ์ในช่วงแรกของผู้หญิงเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับว่า คำพิพากษาดังกล่าวคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงในการเลือกทำแท้งได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ศาลสูงสุดสหรัฐมีคำพิพากษาใหม่ที่ล้มล้างคำพิพากษาเดิม ส่งผลกระทบให้แต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกาสามารถออกกฎหมายใหม่ที่สั่งห้ามทำแท้งได้ ซึ่งคาดว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐทั้งหมดจะออกกฎหมายห้ามทำแท้งโดยสิ้นเชิง
2
ที่น่าสนใจก็คือ บริษัทหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เคยออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคม เช่น #BlackLivesMatter หรือสิทธิของ #LGBTIQ กลับเงียบเฉยต่อประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้หญิงชาวสหรัฐฯ นับล้านคนนี้ ไม่ว่าจะเป็น Walmart, Coca-Cola, Delta ซึ่งเคยออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมอื่น ๆ
ขณะที่บางแห่ง แม้จะมีแถลงการณ์สาธารณะเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ก็หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “การทำแท้ง” แต่ใช้คำว่า “สิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพของพนักงาน” แทน ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารของ Disney กล่าวว่า บริษัทมีกระบวนการที่จะช่วยให้พนักงานสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพในราคาไม่แพง ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ หากไม่มีบริการดังกล่าวในภูมิลำเนาของพนักงาน
ขณะที่บริษัทอย่าง Microsoft, Nike, Starbucks, Netflix ประกาศว่า จะช่วยเหลือค่าเดินทางกับพนักงานในการไปทำแท้ง ส่วน Google เองก็มีนโยบายให้พนักงานสามารถโยกย้ายถิ่นฐานได้
สาเหตุที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ มีหรือไม่มีการตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมนั้น ย่อมมีความเชื่อมโยงกับการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานวิจัยของ Journal of Marketing ซึ่งสำรวจบริษัท 149 แห่ง พบว่า แม้ว่าบริษัทที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมสอดคล้องกับคุณค่าที่ลูกค้าเชื่อถือ จะมีผลทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่ก็มีผลทางลบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในตลาดหุ้นด้วย
บริษัทหลายแห่งจึงอาจเตือนพนักงานของตนให้ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นร้อนทางสังคม ตัวอย่างเช่น Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Facebook ที่มีนโยบายช่วยเหลือค่าเดินทางแก่พนักงานในการไปทำแท้ง แต่ก็ประกาศห้ามมิให้พนักงานพูดคุยเกี่ยวกับผลการพิจารณาคดีของศาลสูงสุดสหรัฐข้างต้น ในช่องทางการสื่อสารภายในของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเงียบงันดังกล่าวก็ยังมีบริษัทจำนวนหนึ่งที่ประกาศจุดยืนชัดเจนต่อผลการพิจารณาคดีของศาลสูงสุดสหรัฐในครั้งนี้
Roger Lynch ประธานบริหารของ Conde Nast ซึ่งเป็นผู้ผลิตสื่อระดับโลกอย่าง Vogue, GQ, The New Yorker, Vanity Fair แสดงความเห็นต่อคำพิพากษาดังกล่าวว่า เป็น “การทำลายล้างสิทธิในการสืบพันธุ์” และ “ทำร้ายผู้หญิงนับล้านคน” ขณะที่ Jonah Perettiประธานบริหารของ BuzzFeed ซึ่งเป็นบริษัทสื่อดิจิทัลระดับโลก แสดงความเห็นว่า การกลับคำพิพากษาดังกล่าวเป็น “ความถดถอยและความน่ากลัว” เช่นเดียวกับ Bill Gate ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตผู้บริหารของ Microsoft ก็เห็นว่า เป็น “ความล้มเหลวที่อยุติธรรมและยอมรับไม่ได้”
1
นอกจากนี้ OKCupud บริษัททำแอพพลิเคชันสำหรับหาคู่ ได้ส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้แอพพลิเคชันในสหรัฐฯ ที่มีข้อจำกัดในการทำแท้ง เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่สนับสนุนกฎหมายการทำแท้ง หรือ Jeremy Stoppelman ประธานบริหารของ Yelp บริษัททำแพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจท้องถิ่น ก็กล่าวชัดเจนว่า การเรียกร้องสิทธิในการทำแท้งเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทหรือไม่ หรือลูกค้าบางส่วนจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
โฆษณา