27 ส.ค. 2022 เวลา 13:30 • ประวัติศาสตร์
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 : ยุคเฟื่องฟูของบัลเล่ต์ในฐานะเครื่องมือการเข้าสังคม
เมื่อบัลเล่ต์เป็นทั้งสิ่งบ่งบอกสถานะทางสังคม และความพริ้วไหวในการเต้นก็เป็นปัจจัยชี้ชะตาความก้าวหน้าในยุคของสุริยกษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส
หากกล่าวถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส หลายคนคงนึกไปถึงยุครุ่งเรืองของกษัตริย์ฝรั่งเศส สามทหารเสือ หน้ากากเหล็ก ฝาแฝดลึกลับ ไปจนถึงฉายา “สุริยกษัตริย์” แต่เชื่อหรือไม่ว่าฉายานี้กลับได้มาจากการเต้นบัลเล่ต์!
เพจ เขาคนนั้นในวันวาน จะพาทุกท่านไปสำรวจบทบาทของบัลเล่ต์ในราชสำนักยุคนั้นที่ไม่ได้เป็นเพียงการเต้นหรือการแสดง แต่เป็นสิ่งบ่งบอกชาติตระกูล ชนชั้น และสถานะทางสังคมกันเลยทีเดียว
บัลเล่ต์เริ่มเข้ามาในราชสำนักตอนไหน เป็นเครื่องชี้สถานะทางสังคมได้อย่างไร ทำไมพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึงชื่นชอบบัลเล่ต์ขนาดนั้น เรามาสำรวจไปพร้อมกันเลยค่ะ
บัลเล่ต์ในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ย้อนไปศตวรรษที่ 15 ในช่วงอิตาเลียนเรเนซองส์ บัลเล่ต์มีบทบาทในฐานะการแสดงในงานฉลองมงคลสมรสของชนชั้นสูง เป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมและความร่ำรวย เป็นวิชาศิลปะภาคบังคับที่ชนชั้นสูงจะต้องเรียนรู้เพื่อการเข้าสังคม ถึงขั้นต้องว่าจ้างอาจารย์สอนเต้นมาสอนลูกหลานในตระกูล ซึ่งในยุคนั้นมักว่าจ้างอาจารย์ชาวอิตาเลียนไปสอนในครอบครัวชนชั้นสูงและราชสำนักประเทศข้างเคียง
บัลเล่ต์คงอยู่เรื่อยมาในฐานะศิลปะวิชาบังคับที่ตระกูลชนชั้นสูงต้องเรียนมาจนถึงช่วงศตวรรษที่ 17 ที่ประเทศฝรั่งเศส รัชทายาทแห่งฝรั่งเศสหลุยส์-ดิเยอดอนเน (หรือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในเวลาต่อมา) ก็ได้รับอิทธิพลด้านศิลปะการแสดงและบัลเล่ต์ดังกล่าว และเริ่มเรียนกับอาจารย์คนแรกที่เป็นชาวอิตาเลียนนามว่า ฌ็อง-บาติสต์ ลุว์ลี มาตั้งแต่เด็ก
บุคคลสำคัญที่ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หลงใหลในบัลเล่ต์มี 2 คน คือ พระมารดาของพระองค์ สมเด็จพระราชินีแอนน์ และพระคาร์ดินัลมาซาแร็ง (ซึ่งเป็นชาวอิตาเลียน) ซึ่งทั้งสองเป็นผู้สำเร็จราชการแทน รวมทั้งที่ปรึกษาในช่วงต้นรัชสมัย อันเป็นช่วงเวลาที่บัลลังก์กำลังสั่นคลอนจากการพยายามยึดอำนาจจากเหล่าขุนนาง
ภาพวาดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในชุดบัลเล่ต์แสดงบทบาทเทพอพอลโล่ ที่มา: https://www.rct.uk/collection/913071/louis-xiv-in-the-guise-of-apollo
เนื่องจากบัลเล่ต์เป็นเครื่องมือในการแสดงความร่ำรวยและฐานะทางสังคมมาตั้งแต่ยุคอิตาเลียนเรเนซองส์ บัลเล่ต์จึงถูกนำมาใช้ในช่วงต้นรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ โชว์บารมีกันอย่างอลังการ และได้มีการจัดงานแสดงบัลเล่ต์ภายใต้ชื่อ "Ballet de la nuit" ซึ่งพระองค์ร่วมแสดงเองในบทบาทเทพอพอลโล่ หรือเทพแห่งดวงอาทิตย์ในเทพปกรนัมกรีก งานนี้ถูกจัดครั้งแรกตอนพระชนมายุ 14 พรรษา โดยปรากฎกายมาในชุดสีทองหรูหรา ทำการแสดงกันยาวนานถึง 13 ชั่วโมง ตั้งแต่ตะวันตกดินจนเวลาตะวันขึ้นในอีกวัน
ในพิธีกรรมสร้างบารมีสุดอลังการและอู้ฟู่นี้ นอกจากบทบาทเทพอพอลโลอันโด่งดัง ตั้งแต่เด็กมาจนถึงช่วงวัยรุ่นตอนต้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังเคยเต้นและแสดงเก็บประสบการณ์ในบทต่างๆ รวมถึงบทที่แสดงเป็นตัวละครเพศหญิงก็แสดงมาแล้ว เรียกได้ว่าสัมผัสมาแล้วทุกบทบาทแบบที่ทั้งราชสำนักฝรั่งเศสมีเพียงคนเดียวที่เป็นคู่แข่งได้ ก็คืออาจารย์ลุว์ลีเพียงคนเดียว
ผลพวงจากการแสดงพลังอำนาจในราชสำนักผ่านการแสดงบัลเล่ต์อย่างจริงจังและแทบทุกบทบาทนี้ นอกจากจะทำให้พระองค์ได้รับชื่อ "สุริยกษัตริย์" ตามบทบาทที่แสดงเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์แล้ว ยังเริ่มเป็นยุคเฟื่องฟูของบัลเล่ต์ราชสำนักและศิลปะโกธิคของฝรั่งเศสที่มาแทนที่ศิลปะยุคอิตาเลียนเรเนซองส์ กล่าวได้ว่าทั้งประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของพระองค์ให้ขุนนางยำเกรง และได้ประกาศศักดาให้ทั้งยุโรปรู้ว่าจุดศูนย์กลางศิลปะแห่งใหม่ได้กำเนิดขึ้นแล้วที่ฝรั่งเศส
เต้นพริ้ว สง่า ทรงพลังคนเดียวไม่พอ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังจัดตั้งโรงเรียนเพื่อให้เกิดมาตรฐานในการเรียนเต้นของเหล่าชนชั้นสูงและขุนนางในฝรั่งเศสด้วย โดยตั้งโรงเรียนขึ้นมา 2 แห่ง
ภาพวาดปิแอร์ โบช็อง ที่มา: https://www.acentoballet.com/pierre-beauchamps/
แห่งแรกคือ Académie Royale de Danse ตั้งขึ้นก่อนในปี ค.ศ.1661 ใช้สถานที่เรียนเป็นห้องในลูฟว์ (พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ในปัจจุบัน) โดยมีปิแอร์ โบช็อง หนึ่งในอาจารย์สอนบัลเล่ต์ของพระองค์เป็นผู้ดูแล ซึ่งภายหลังโบช็องถูกเรียกว่าเป็นบิดาแห่งบัลเล่ต์ และเป็นผู้จัดมาตรฐานท่ายืนบัลเล่ต์ห้าแบบอีกด้วย (first through fifth positions)
ภาพวาดฌ็อง-บาติสต์ ลุว์ลี ที่มา:https://www.acentoballet.com/pierre-beauchamps/
โรงเรียนอีกแห่ง คือ Académie Royale de Musique ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1669 ตั้งอยู่ในปารีส โอเปร่า เฮ้าส์ในปัจจุบัน บริหารโดยลุว์ลี อาจารย์ชาวอิตาเลียนคนแรกของพระองค์ โดยนอกจากสอนบัลเล่ต์ให้แก่ชนชั้นสูง ยังเริ่มสอนให้กับนักเต้นและนักดนตรีมืออาชีพด้วย ทำให้บัลเล่ต์เริ่มกระจายสู่สามัญชน สืบทอดเป็นคณะบัลเล่ต์ที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง The ballet of the Paris Opera
และนั่นก็คือเรื่องราวของบัลเล่ต์กับราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แบบสั้นๆพอหอมปากหอมคอ วันนี้เพจ เขาคนนั้นในวันวาน ขอลาไปก่อน หากถูกใจถูกจริต ฝากกดติดตามกันด้วยนะคะ พบกันใหม่โพสต์หน้าค่ะ 😊
โฆษณา