17 ส.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจจีน ส่งสัญญาณชะลอตัวอีกครั้ง
1
ธนาคารกลางของประเทศจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ และ ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
โดยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและดัชนียอดค้าปลีกประจำเดือนกรกฎาคม ออกมาน้อยกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ แสดงให้เห็นถึงสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
📌 ธนาคารกลางของจีน ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย กระตุ้นเศรษฐกิจ
ธนาคารกลางของประเทศจีน ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี ลง 10 basis points สู่ระดับ 2.75% และ ลดอัตราดอกเบี้ย reverse repo rate จาก 2.1 % เหลือ 2.0%
อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในขณะนี้ อยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว
แต่ความต้องการสินเชื่อยังคงลดลงในเดือนกรกฎาคม
โดยยอดสินเชื่อใหม่ทั้งหมดเพิ่มขึ้นช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2017
เนื่องจากบริษัทและครัวเรือนชะลอและยกเลิกการกู้ยืม
📌 นโยบาย Covid Zero ยังคงกระทบภาคบริการและการบริโภคภาคครัวเรือน
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์จากผลสำรวจของ Rueters ที่คาดไว้ว่ายอดค้าปลีกจะเติบโต 5%
และยอดค้าปลีกในเดือนกรกฎาคม ยังเติบโตลดลงจาก 3.1% ในเดือนมิถุนายน
โดยหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลี้ยง เฟอร์นิเจอร์ และการก่อสร้าง เป็นส่วนที่สำคัญในการลดลงครั้งนี้
ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 3.8%
ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการคาดการณ์การเติบโต 4.6%
และน้อยกว่าการเพิ่มขึ้น ในเดือนก่อนหน้าที่ได้มีการขยายตัวที่ 3.9%
1
นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 7 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้น 5.7% จากปีที่แล้ว
ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 6.2% เช่นกัน
ตลาดที่อยู่อาศัย ยังคงอยู่ในสถานการณ์ น่าเป็นห่วง
ตลาดที่อยู่อาศัยในจีนยังคงอยู่ในสภาวะที่ไม่สู้ดีนัก
โดยมีการลงทุนลดลง 6.4% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีและยอดขาย ลดลง 31.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ซึ่งความต้องการที่ลดลงนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อไปยัง ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม ผลผลิตปูนซีเมนต์ ลดลง 7% ในเดือนกรกฎาคมและเหล็กดิบลดลง 6.4%
📌 เด็กจบใหม่เตะฝุ่น สูงสุดเป็นประวัติการณ์
อัตราว่างงานของเยาวชนในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในเดือนกรกฎาคม
เป็นผลมาจากจากวิกฤติโควิด 19
ซึ่งอัตราการว่างงานของเยาวชนในจีนครั้งนี้ เป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด19 และเป็นฤดูกาลแห่งการสำเร็จการศึกษา
ทำให้การแข่งขันในตลาดแรงงานเข้มข้นขึ้น
โดย อัตราการว่างงานที่ได้มีการสำรวจผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี
เพิ่มขึ้นเป็น 19.9% ​​ในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นจาก 19.3% ในเดือนมิถุนายน
ถึงแม้ข้อมูลการว่างงานของเยาวชนที่สูงขึ้น จะเป็นผลมาจากฤดูกาลรับปริญญา
แต่การที่ตัวเลขไต่ระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถเพิ่มความกังวลให้ผู้กำหนดนโยบาย
เนื่องจากตัวเลขการว่างงานของเยาวชนนี้ ทำให้อัตราการว่างงานโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น
โดย ได้มีการคาดว่านักเรียน 10.76 ล้านคนจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน
และประเทศจีนมีเป้าหมายที่จะสร้างงานใหม่11 ล้านตำแหน่งงาน
เพื่อต้องการให้อัตราการว่างงานโดยรวมต่ำกว่า 5.5%
📌 สถานการณ์เศรษฐกิจโลก อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงฉุดการเติบโตของจีน
จากปัญหาด้านวิกฤติค่าครองชีพ ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกต่างรัดเข็มขัด ชะลอการใข้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น ทำให้ประเทศจีนที่เป็นโรงงานของโลก เริ่มได้รับผลกระทบในบางภาคอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมสิ่งทอจากประเทศจีน พบว่า ยอดสั่งสินค้าประเภท กระดุม ซิป และ อุปกรณ์เย็บผ้า ลดลงประมาณ 30% ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม เมื่อเทียบกับความต้องการในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งยอดสั่งซื้อที่ลดลงส่วนใหญ่มาจาก สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป
คุณ Larry Hu หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จาก Macquarie Group Ltd. คาดว่าการส่งออกของจีนจะชะลอตัวลงในอนาคต
ในส่วนของภาคการผลิตเตนท์ และ เฟอร์นิเจอร์ พบว่า คำสั่งซื้อส่งออกลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคมและลูกค้ายุโรปได้ลดการสั่งซื้อลงเหลือเพียงประมาณ 30% ถึง 50% ของความต้องการเมื่อปีที่แล้ว
ยอดคำสั่งซื้อที่ลดลง เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความต้องการของผู้บริโภค ที่กำลังอ่อนแอ
และอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในอนาคต
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER
โฆษณา