Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Epizte (เอพพิซเต้)
•
ติดตาม
17 ส.ค. 2022 เวลา 09:41 • อาหาร
Obchoei Original Homemade ที่เสิร์ฟความเป็นตัวตนผ่านขนมโฮมเมดและ สไตล์การตกแต่งร้าน
คำว่า "แปลก" อาจจะเป็นเพราะว่าที่ที่เราอยู่มันไม่เหมาะกับเรา สังคมแวดล้อมไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร ถึงแม้ว่าภาษาที่ใช้สื่อสารจะเป็นภาษาเดียวกันแต่เขาก็ไม่เข้าใจอยู่ดี มันจะดีกว่าไหมถ้าเราลองก้าวออกมาจากตรงนั้นเพื่อตามหาที่ที่ใช่สำหรับความแปลกที่คนรอบข้างต่างไม่เข้าใจ
เอพพิซเต้ จะพามารู้จักกับคู่รักชาวอีสานที่หลงใหลในความต๊ะต๋อนยอนของเชียงใหม่กับ คุณต้าร์ และ คุณโอลีฟ เจ้าของร้าน อบเชย Obchoei Original Homemade ที่เสิร์ฟความเป็นตัวตนผ่านขนมโฮมเมดและ สไตล์การตกแต่งร้านที่มีกลิ่นอายความเป็นอบเชย
บ้านข้างวัดชุมชนที่รวบรวมความสวยงามของงานคราฟต์และของโฮมเมดไว้มากมายและหนึ่งในนั้นก็คือร้านอบเชย แต่กว่าจะมาเป็นร้านอบเชยขนมหวานสายสุขภาพอย่างทุกวันนี้ เราคงต้องย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของคุณต้าร์และคุณโอลีฟ
“ย้อนไปตอนที่เป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยพาเรามาทัศนศึกษาดูงานที่เชียงใหม่แล้วเรารู้สึกชอบ พอตอนฝึกงานโลอีฟจึงเลือกที่จะมาฝึกงานที่เชียงใหม่ และเริ่มทำงานที่เชียงใหม่ เรารู้สึกว่ามาอยู่ที่นี่แล้วเรารู้สึกสบายใจเหมือนได้อยู่บ้าน เรามาแล้วเราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้รู้สึกอบอุ่นเหมือนว่าเรากลมกลืนไปคนเชียงใหม่ ถ้าเราอยู่ที่บ้านแล้วทำอะไรที่เป็นงานทำมือใช้ของดีขายราคาสูง ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์
คนเขาจะไม่ค่อยเข้าใจมันจะดูขัดและถูกมองว่าแปลก ไม่ใช่ว่าที่บ้านที่เราอยู่ไม่ดี แต่เหมือนเมื่อสมัยก่อนการรับรู้เข้าใจอะไรแบบนี้ค่อนข้างจำกัดอยู่ในวงแคบเฉพาะที่ แต่ปัจจุบันนี้ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป สื่อโซเชี่ยลอินเทอร์เน็ตทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและกว้างขวางขึ้น จึงทำให้คนเขาเข้าใจเปิดกว้างในเรื่องแบบนี้เพิ่มมากขึ้น”
●
การได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนงานคราฟต์
สถานที่อาจจะไม่แค่สถานที่อีกต่อไปหากคนที่อยู่ตรงนั้นกลายมาเป็น Community เดียวกัน คุณต้าร์บอกว่า ก่อนที่เราจะมาอยู่ที่บ้านข้างวัดเราสองคนเคยทำร้านไอศกรีมโฮมเมดแถวมหาวิทยาลัย จังหวัดเลย ที่นี่พอมาเชียงใหม่ก็มาทำงานในร้านอาหารที่มีทั้งครัวเบเกอรี่และ บาร์เครื่องดื่ม
แต่โอลีฟทำอยู่โซนบาร์เครื่องดื่ม จนวันหนึ่งทำไปซักพักเริ่มรู้สึกคิดถึงการทำขนมของตัวเองในเมื่อก่อน ด้วยความกลัวที่จะลืม โอลีฟจึงเริ่มทำขนมแล้วให้พี่ต้าร์เอาไปขายให้น้องๆ พนักงานที่ออฟฟิศ และเริ่มทำมาขายที่หลังมอชอตอนช่วงเย็นหลังเลิกงานด้วย พอทำขนมไปซักพักตลาดเช้าวันอาทิตย์บ้านข้างวัด moming market (ขายพวกของทำมือ งานคราฟต์ ขนมอาหารโฮมเมด)เปิดรับสมัครร้านค้าเพิ่มเราก็เลยสมัครมาขายเพราะงานเราก็หยุดทุกวันอาทิตย์อยู่แล้วทำขนมมาขายดีกว่าได้หารายได้เพิ่มด้วย ทำมาได้ประมาณ 1-2 ปี เราก็เริ่มรู้จักกัน
เพราะตลาดเราก็ต้องช่วยเหลือกันและกัน พ่อค้าแม่ค้าขายของให้กัน พอเราขายขนมที่ตลาดเช้าไปได้สักพัก พี่ที่บ้านข้างวัดเลยชักชวนให้เข้ามาอยู่ด้วยกันทำร้านในชุมชนบ้านข้างวัด โดยมีพื้นที่ว่างตรงนี้เราสนใจไหม จากวันนั้นก็เลยได้เกิดเป็นร้านอบเชยในชุมชนงานคราฟต์ ณ บ้านข้างวัดขึ้น
●
อบเชยที่สื่อถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริง
เชื่อว่าเรารู้จักอบเชยในนามของเครื่องเทศที่ให้กลิ่นหอม แต่อบเชยสำหรับคุณต้าร์กับคุณโอลีฟมันมีอะไรมากกว่านั้น คุณต้าร์เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่เราถูกคัดเลือกให้เข้ามาขายของที่บ้านข้างวัดในวันอาทิตย์ เราก็คิดว่าร้านเรามันควรต้องมีชื่อ แต่ว่าจะเป็นชื่ออะไรดีละ ส่วนตัวโอลีฟอยากได้คำสั้นๆ จำง่าย และเป็นคำไทยๆ แต่ก็ไม่ไทยจนอ่านยากเกินไป เราก็คิดกันไว้หลายชื่อมากแล้วมาสะดุดที่ชื่อ “อบเชย” เพราะว่าอบเชยเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง
ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Cinnamon ต่างชาติก็เข้าใจ คนไทยก็รู้จัก อบเชยสามารถนำตัวเองไปผสมอยู่ในทั้ง อาหาร ขนมเครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งในยา คือไปอยู่ได้หมดแต่มันขึ้นอยู่ที่ว่าเราต้องใส่ให้พอดี แล้วจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมันที่ถูกสร้างขึ้น แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นการอบแบบเชยๆ เหมือนเป็นการเล่นคำพอเราฟังแล้วมันเท่ดี คำพูดพอแตกออกมามันก็เหมาะกับเรา เพราะว่าเราเป็นคนเชยๆ อุปกรณ์ที่ใช้ทำขนมส่วนมากก็ใช้ของที่มีอยู่ในบ้าน นำมาพลิกแพลงใช้ทำได้ ลดการซื้ออุปกรณ์ใหม่
อบเชย สื่อถึงเจตนารมณ์ของเรา เพราะเมื่อตอนที่มาเชียงใหม่ในครั้งแรกๆ แล้วได้ไปร้านขนมเกิดความประทับใจ แต่พอกลับมาอีกครั้งร้านเหล่านั้นได้ขยับขยายและเติบโตขึ้น กลิ่นอายบรรยากาศความเป็นโฮมเมดได้ลดลง สำหรับเราการที่ได้ไปร้านขนมไม่ใช่แค่เพราะรสชาติหน้าตาของขนมแค่อย่างเดียว
แต่เพราะความหลงเสน่ห์ของเรื่องราว กระบวนการทำ ข้าวของ ผู้คน หรือแม้กระทั่งกลิ่นอายความอบอุ่นภายในร้าน มันคือความเป็นโฮมเมดที่รู้สึกดีมากๆ ก็เลยพูดกันว่าถ้าสมมติในอนาคตเราทำกันเองเราก็อยากจะทำโฮมเมดจริงๆ เราจะใช้สองมือเราทำให้ได้มากที่สุด
●
เค้กแคร์รอตและบานอฟฟี่ที่ติดใจ
อย่าจำกัดขีดความสามารถของตัวเองเพียงเพราะความรู้ที่เรามี จินตนาการนั้นขับเคลื่อนความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ อย่างคุณต้าร์กับคุณโอลีฟบอกว่า “เราทั้งสองคนเรียนศิลปะมาไม่ได้เรียนการทำอาหารเราก็เลยใช้จินตนาการในการรังสรรค์เมนูต่างๆ” แต่ละเมนูจะเกิดจากความชอบ เราต้องถามตัวเองก่อนว่า
ชอบกินแบบไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อย่างเค้กแครอตของที่ร้านมันจะมีส่วนผสมบางอย่างที่เราไม่เลือกใส่ลงไปเพราะว่าเราไม่ชอบ เหมือนเราชอบสัมผัสแบบไหนอยากกินอะไรเราก็ทำแบบนั้นไป แต่ด้วยความโฮมเมดของเรา เราตั้งใจเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีทำด้วยสองมือของเราเป็นหลัก ขนมปังที่ร้านทำก็จะเป็นขนมปังนวดมือและใช้ยีสต์ธรรมที่เราเลี้ยงเองเนื้อขนมปังจึงมีความหนักเนื้อแน่น เราจะชอบทำขนมที่ไม่ตามกระแส
ชอบไปเดินตลาดแล้วได้วัตถุดิบสดใหม่ตามฤดูกาลมาแล้วค่อยมาคิดเมนูขนมที่จะทำทีหลังและเกิดเป็นเมนูพิเศษในวันนั้นๆ เหมือนกับในลูกค้ามีตัวเลือกในการกินขนม อย่างเริ่มต้นเมื่อก่อนร้านเราจะมีครัวซองค์ มีพวกชูครีมแต่ตอนนี้ไปร้านไหนก็สามารถหาทานได้แล้ว เราจึงไม่ได้ทำบ่อยเหมือนเมื่อก่อน ส่วนเค้กแครอทและบานอฟฟี่มันเป็นความเรีบยง่ายแต่มีความพิเศษซ่อนอยู่ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อลูกค้ามาเยือนอบเชย จึงกลายเป็นซิกเนเจอร์ของที่ร้านไปแล้ว
●
วัตถุดิบ Local สามารถนำมาทำเป็น Bakery ได้
ขึ้นว่าขนมโฮมเมดก็ต้องทำมาจากมือแต่ถ้าจะเพิ่มความพิเศษเข้าไปก็จะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ “วัตถุดิบหลักก็มาจากตลาด พวกของออร์แกนิก .อาจจะมีใช้ผลไม้นำเข้าบ้างเล็กน้อยและ วัตถุดิบจากที่ขอนแก่นที่พ่อแม่ปลูกไว้ เหมือนกับว่าเราอยู่ไกลกันแต่เราก็อยากให้เขามีส่วนร่วมกับเรา อย่างเช่น ถั่ว ถ้าขายที่นู้นก็จะเป็นถั่วลิสง แต่ถ้าเราเอามาขายที่นี่เราก็จะเอาแปรรูปเป็นเนยถั่วขายให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ พอพวกเขารู้ว่ามันขายได้เขาก็มีความสุข เหมือนกับว่าวัตถุดิบ local ของเขาสามารถทำเป็น bakery ได้ ”
●
มิตรภาพจากลูกค้าที่เราเจอ
ด้วยความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของร้านอบเชยทั้งในเรื่องขนมและไลฟ์สไตล์ทำให้คุณต้าร์และคุณโอลีฟได้พบปะผู้คนมากมาย คุณโอลีฟพูดว่า สิ่งนี้คือความสุขที่ประทับใจอย่างเราเคยไปร้านนี้เพราะเราชอบในสไตล์ของเขา แล้ววันหนึ่งเขาเข้ามาหาเรามาเป็นลูกค้าเรา.หรือเดินผ่านมาเจอร้าน แล้วได้พูดคุยกันได้รู้จักกันแลกเปลี่ยนทัศนคติในความชอบที่เหมือนๆกันมันอิ่มเอมใจมากๆเมื่อได้พูดคุยกับคนที่ไทป์เดียวกัน
●
คาเรคเตอร์ต้องมี เราต้องหาจุดยืนของตัวเอง
คุณต้าร์บอกว่าการทำร้านเราต้องมีจุดยืน เราต้องมีความเป็นเรา เรารับฟังเสียงรอบข้าง แต่สุดท้ายมันกลายเป็นศิลปะของตัวเอง เวลาที่เราทำร้าน โอลีฟคิดว่าโอลีฟกำลังทำงานศิลปะเราไม่ใช่นักทำขนม ไม่ใช่เชฟ ศิลปินที่ทำงานศิลปะเขาจะมีลายเส้นเป็นของตัวเองจะเปลี่ยนเขายังไงก็เปลี่ยนเขาไม่ได้ ผมว่าตรงนี้แหละที่เป็นตัวตนของอบเชย ยึดอยู่ในการทำงานแบบศิลปะ
ทั้งการตกแต่งร้าน ตกแต่งขนม เราอยากพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ลดการใช้อุปกรณ์ทุ่นแรง ได้เห็นกระบวนการของการทำขนมไปทีละขั้น ส่วนตัวเราเราพึ่งพอใจและมีความสุขที่ค่อยๆได้เห็นทุกองค์ประกอบประกอบกันกลายเป็นขนมขึ้นมา ก่อนเสริฟ์ถึงเพื่อนพี่น้องลูกค้าที่น่ารักของอบเชยเรา
สุดท้ายนี้คุณต้าร์และคุณโอลีฟได้ฝากข้อคิดดีๆ ให้เราชาวเอพพิซเต้ว่า อันไหนที่แล้วมีความสุขก็ทำอันนั้น ถ้าทำอะไรที่ไม่ใช่ความสุขของตัวเองมันจะรู้สึกว่ามันเสียเวลาในการใช้ชีวิต ถ้าพอจะรู้ตัวว่าตัวเองชอบอะไรหรืออยากทำอะไร ผมว่ารีบเริ่มทำ ไม่ต้องรอให้พร้อม
ผมว่าคำว่าพร้อมไม่อยู่จริง ถ้าเรารอไปเรื่อยๆ เราอาจจะเลิกชอบไปแล้วก็ได้ ไฟจะหมดก่อน สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการหมดไฟนี่แหละ สำหรับใครที่เลือกสายทางโฮมเมด งานทำมือ อย่างคิดว่ามันสบายเราต้องมีใจรัก ผมว่างานฝีมือเราต้องใส่ใจรักจริงๆ ถึงจะทำมันได้บางทีมีความยากความลำบาก ถ้าใจไม่รักจริงๆ อาจจะทำไม่ได้นะ
อย่าด้อยค่าตัวเองเพราะคำพูดของคนอื่น ถ้ารู้สึกว่าที่ที่กำลังอยู่มันไม่ใช่เราหรือมันกำลังลดค่าความเป็นเราก็ถอยออกมา เอพพิซเต้เชื่อว่าเราทุกคนสามารถมีความสุขกับสิ่งที่คนอื่นมองว่าแปลกได้
ขอบคุณเรื่องราวดีๆ จาก คุณต้าร์และ คุณโอลีฟ เจ้าของร้าน อบเชย Obchoei Original Homemade
สามารถติดตามอบเชย Obchoei Original Homemade:
https://www.facebook.com/ObchoeiOriginalHomemade
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย