17 ส.ค. 2022 เวลา 14:31 • หนังสือ
‘เราทุกคนล้วนเป็นอัจฉริยะ แต่ถ้าจะตัดสินความเก่งของปลาโดยให้มันปีนต้นไม้แล้วละก็ ปลาตัวนั้นย่อมปักใจเชื่อว่ามันคงโง่ตลอดชีวิต’ ประโยคชวนคิดนี้มักจะถูกกล่าวอ้างว่าเป็นคำพูดจากปากนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) แต่ทั้งหมดกลับเป็นการจับต้นชนปลายที่สืบหาแหล่งที่มาที่ไปไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานหรือบันทึกใดยืนยันว่าไอน์สไตน์เคยพูดไว้จริงๆ แม้จะเป็นเรื่องเข้าใจผิด
แต่ความน่าสนใจซึ่งไม่อาจมองข้ามไป อยู่ตรงที่ใจความสำคัญของประโยคยังทำหน้าที่สื่อความหมายเป็นข้อคิดได้อย่างคมคาย และเปิดโอกาสให้ตั้งคำถามถึงการรับรู้ศักยภาพของแต่ละคน ระหว่างความสามารถที่มีอยู่ภายในตนกับสิ่งที่แสดงออกมาแล้วถูกตัดสินจากคนอื่น คงเป็นเรื่องน่าเสียใจและน่าเสียดายมาก หากปลาตัวนั้นติดหล่มความคิด หลงเชื่อว่าตัวเองไม่เก่งเพราะปีนต้นไม่เป็น ทั้งๆ ที่มันเชี่ยวชาญการว่ายน้ำมากที่สุด และอาจจะแหวกว่ายได้เก่งกว่าปลาตัวอื่นๆ ด้วยซ้ำ แต่การว่ายน้ำเก่งของมันกลายเป็นสิ่งไร้ความหมายทันที
เมื่อปลาให้ความสำคัญกับเงื่อนไขที่คนอื่นตั้งเป็นเกณฑ์ไว้ ซึ่งผิดพลาดและคลาดเคลื่อน โดยไม่ได้ทำความเข้าใจธรรมชาติของตัวเอง ทำให้ไม่สนใจและมองไม่เห็นคุณค่าของความสามารถที่ตัวเองถนัด เช่นเดียวกันกับชีวิตจริงในปัจจุบัน คนจำนวนหนึ่งกำลังติดหล่มเหมือนปลาตัวนั้น นำมาสู่คำถามสำหรับหาทางแก้ไขปัญหาว่า จะทำอย่างไรให้คนมองเห็นความถนัด ความสามารถ และศักยภาพที่มีอยู่ในตัว เพื่อต่อยอดหรือพัฒนาไปสู่ความเชี่ยวชาญต่อไปได้
โดยปราศจากความคิดบั่นทอนตัวเองว่าไม่เก่งอะไรสักอย่าง หนึ่งในแนวคิดจิตวิทยาที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนและครบถ้วน คือ Self-Efficacy Theory เป็นทฤษฎีว่าด้วยการรับรู้สมรรถภาพและศักยภาพที่มีอยู่ภายในตัวเอง ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกปี 1986 ในหนังสือ Social Foundations of Thought and Action: A Social Cognitive Theory โดย อัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura) นักจิตวิทยาสังคมชาวแคนาดา-อเมริกัน แบนดูราอธิบายว่า perceived self-efficacy (นิยมเรียกอย่างกระชับว่า self-efficacy)
คือการรับรู้ได้ถึงความสามารถของตนเอง ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเพื่อการลงมือทำบางสิ่งอย่างต่อเนื่องโดยต้องอาศัยความถนัดหรือความสามารถเฉพาะตัวจนบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ระดับการรับรู้ความสามารถที่ตัวเองมีจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่คอยกำหนดระดับพฤติกรรมหรือการกระทำสรุปได้ว่า ยิ่งรับรู้ความสามารถของตนเอง ก็จะยิ่งดึงความสามารถที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ทำงานหรือใช้ดำเนินชีวิตได้เต็มศักยภาพ ต่อให้คนสองคนมีความสามารถเรื่องเดียวกันในระดับพอๆกัน
ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่จะใช้ประโยชน์จากความสามารถของตนได้เท่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครรับรู้ความสามารถได้มากกว่า คนนั้นย่อมทำได้ดีกว่า ในทางจิตวิทยา self-efficacy เป็นกระบวนการหนึ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้และพัฒนาตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา เพราะเป็นรากฐานที่ทำให้เกิด self-esteem หรือความภาคภูมิใจและนับถือตนเองว่าเป็นคนมีความสามารถ
ซึ่ง self-efficacy พัฒนามาจากปัจจัย 4 ด้าน วันนี้เราได้นำปัจจัยทั้ง 4 ด้านมาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่าน ทำความเข้าใจ ลองค่อยๆฝึกทำตามดู แล้วคุณจะพบความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง คนอื่นทำได้ คุณก็ทำได้เช่นกัน
อ้างอิงจากบทความ
พลังของ Self-Efficacy หากเชื่อมั่นว่าตัวเองเก่งและมีความสามารถ ย่อมทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ
โดย
ตนุภัทร โลหะพงศธร ณัฐมน สุนทรมีเสถียร
โฆษณา