18 ส.ค. 2022 เวลา 04:39 • ไลฟ์สไตล์
เลือกคู่ตามทฤษฎี แบบนี้ก็มีด้วยเหรอ?
หลังจากห่างหายจากการเขียนบทความไปนานมากๆ วันนี้ก็ชวนมาเข้าประเด็นอ่อนไหวหัวใจกันเลยค่ะ นั่นคือประเด็นที่เกี่ยวกับความรักนั่นเอง
ช่วงนี้ใครหลายคนอาจกำลังมีความรักอยู่ หรือกำลังคุยๆกับใครบางคนเพื่อเรียนรู้ที่จะตกลงปลงใจคบกัน แต่การจะเลือกคนหนึ่งคนมาเป็นคู่ของเรานั้นก็ไม่ได้ง่ายเลย จึงเกิดปรากฏการณ์ อยากเป็นแฟนแต่ได้แค่เพื่อนคุย หรือ น้ำยาล้างจานต้องซันไลต์ น้ำยาล้างใจต้องโซจู
วันนี้อู๋จึงอยากชวนลูกเพจทุกคนมาเรียนรู้ทฤษฎีแห่งการเลือกคู่ด้วยกัน เผื่อจะเป็นประโยชน์และเข้าใจเหตุผลต่างๆมากขึ้น ส่วนใครหัวใจพองฟูชอบตัวเองเวลาได้อยู่กับเธอ ก็ลองมาอ่านเล่นๆนะคะ ว่าทฤษฎีหรือแนวคิดเหล่านี้ มีตรงกับเหตุผลในการเลือกคู่ แฟน คู่สามีภรรยาของเรากันมั้ย?
ทฤษฎีการเลือกคู่ครองทางจิตวิทยานั้น มีผู้อธิบายในเชิงทฤษฎีค่อนข้างหลากหลาย แต่ในบทความนี้จะขอเขียนถึง 2 ทฤษฎีคือ
1. ทฤษฎีความคล้ายคลึง (Homogamy Theory)
กล่าวว่าการเลือกคู่ครองนั้น คนเรามีแนวโน้มที่จะเลือกคนที่มีความคล้ายคลึงกันกับตัวเองหรือมีความเหมือนที่ใกล้กัน โดยแบ่งออกเป็น
•ความคล้ายคลึงเกี่ยวกับบุคคล (Personal Homogamy)
•และความคล้ายคลึงเกี่ยวกับสังคมที่อยู่
ความคล้ายเกี่ยวกับบุคคล (Personal Homogamy) เช่น
-ความคล้ายทางกายภาพ (Physical Traits)
ได้แก่ น้ำหนัก ส่วนสูง ความสวยงาม และ สุขภาพ
-ความคล้ายทางสติปัญญา (Intellectual Ability)
พูดง่ายๆก็คือคนเราจะเลือกคนที่ระดับการศึกษาเท่าเทียมกันกับตัวเอง หรือมีความรู้ระดับเดียวกันนั่นเอง
-ความคล้ายทางทัศนคติ (Attitudes)
ความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆที่ตรงกัน เช่น ศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ ความคิดเรื่องการแต่งงาน การมีลูก เป็นต้น
-ความคล้ายทางบุคลิกภาพและอารมณ์ (Temperament and Personality Characteristics) ระหว่างคู่ของตัวเอง ทั้งความมั่นคงทางอารมณ์และบุคลิกภาพ
2.ทฤษฎีความต้องการที่ตรงกันข้าม (Complimentary needs Theory)
ทฤษฎีนี้ขัดแย้งกับทฤษฎีแรก โดยมีความเชื่อว่าคนเราจะเลือกคู่ครอง แฟน หรือแต่งงานกับคนที่มีคุณสมบัติที่น่าจะสนองความต้องการที่จำเป็นสำหรับตัวเองได้ และคนที่จะสนองความต้องการที่ดีที่สุดต้องมีคุณสมบัติที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวเองเป็น
เช่น คนที่มีนิสัยชอบการเอาชนะผู้อื่น จะเลือกแต่งงานกับคนที่ยอมคล้อยตามและมีความอดทน หรือ คนที่เอาใจใครไม่เป็นมีความต้องการที่จะแต่งงานกับคนที่ชอบดูแล เอาใจใส่คนอื่น เป็นต้น
ทั้งนี้ หากเรามีวุฒิภาวะอย่างเพียงพอ มีความเป็นตัวของตัวเองและเข้าใจตัวเองดี รู้ว่าตนเองเป็นคนอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไรและมีเป้าหมายในชีวิตอย่างไร ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เราก็มีแนวโน้มที่จะสามารถเลือกคู่ที่มีความเหมาะสมกับเราและชีวิตคู่ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
ที่มา :
นายจีรวัฒน์ ภู่เจริญ. 2554. การใช้ชีวิตคู่กับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร
กมลา แสงสีทอง.(2525). แนวคิดเกี่ยวกับการเลือกคู่ครอง. วารสารสังคมวิทยา มานุษยวิทยา
ศาสตราจารย์ พญ.อุมาพร ตรังคสมบัติ. 2545. จิตวิทยาชีวิตคู่และการบำบัดคู่สมรส. ศูนย์วิจัยและพัฒนาครอบครัว
เรียบเรียงโดย
#นักจิตอูยอน #Talkativepsychologist
#จิตวิทยา
โฆษณา