18 ส.ค. 2022 เวลา 05:47
#ข่าวความยั่งยืน เมื่อคำมั่นสัญญาของบริษัทอาหารในการดูแลสภาพภูมิอากาศเผชิญหน้ากับเกษตรกรผู้มาเหนือเมฆ
ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่บางแห่งในสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำมั่นว่าจะนำแนวทางการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศมาใช้ แต่เกษตรบางรายกล่าวว่าพวกเขายังไม่ได้รับแรงจูงใจที่มากพอ
บนหอคอยสังเกตการณ์ภายในบ้านของ Ray Gaesser เกษตรกรวัย 69 ปี ซึ่งอยู่กลางทุ่งกว้าง ในเมืองคอร์นนิ่ง รัฐไอโอวา เขาทอดสายตาไกลไปทั่วฟาร์ม ด้วยความหวังว่า ราคาธัญพืชที่สูงขึ้นและความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นของผู้คนทั่วโลกจะแปรเปลี่ยนมาเป็นรายได้ที่มากขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งเขาก็หวั่นใจว่า ราคาเชื้อเพลิง ปุ๋ย และของใช้จำเป็นอื่น ๆ ที่สูงขึ้น จะทำให้ผลกำไรของเขาลดลง
ขณะที่บริษัทอาหารขนาดใหญ่ เช่น PepsiCo, Cargill, Walmart และ General Mills กำลังพยายามโน้มน้าวให้เกษตรกรอย่าง Gaesser นำเทคนิคการทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศไปใช้ โดยให้สิ่งจูงใจทางการเงินและโครงการต่าง ๆ เพราะพวกเขาได้ร่วมกันให้คำมั่นว่า พื้นที่อย่างน้อย 70 ล้านเอเคอร์ หรือประมาณ 18% ของพื้นที่ทางการเกษตรของประเทศ ต้องหันมาทำการเกษตรกรรมด้วยเทคนิคการเกษตรวิถีใหม่ (Regenerative Agriculture) ภายในปี 2573
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรหลายรายยังคงมีข้อกังขาต่อการเปลี่ยนมาทำเกษตรวิถีใหม่ตามการโน้มน้าวของบริษัท เนื่องจากพวกเขามองว่า สิ่งจูงใจที่บริษัทเสนอมานั้นไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการเข้าร่วมโครงการยังมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างซับซ้อน
อาทิ การเข้าร่วมโครงการอยู่ภายใต้ข้อตกลงที่เกษตรกรต้องร่วมแบ่งปันต้นทุนในการรับประกันการลดลงของผลผลิตที่ซับซ้อน และสัญญาที่บริษัทจะจ่ายค่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บในดินก็กินระยะเวลาหลายปี ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระยะนำร่องและเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเป้าหมายโดยรวมที่บริษัทได้ให้คำมั่นเอาไว้
แม้ Gaesser จะสนับสนุนวิธีการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และยังทดลองทำเกษตรอีกหลายรูปแบบกับลูกชายของเขาในฟาร์มขนาด 5,400 เอเคอร์ แต่เขาไม่เชื่อว่าเกษตรกรควรเป็นผู้จ่ายเงินในการเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรที่ดำเนินมาตลอดหลายทศวรรษ เพราะเขามองว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีทั้งมูลค่าและโอกาสตลอดห่วงโซ่อาหาร ซึ่งคำถามสำคัญคือ มันจะคุ้มค่าหรือไม่หากเขาเปลี่ยนมาทำเกษตรวิถีใหม่ และลูกค้ายินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับอาหารที่มาจากการทำเกษตรวิถีใหม่หรือไม่
Hannah Birgé นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านอาหารและน้ำจาก The Nature Conservancy กล่าวว่า ระบบการทำเกษตรกรรมในปัจจุบันไม่ยืดหยุ่นพอที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงยังเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดและแนวทางการทำการเกษตรที่เกษตรกรดำเนินมาตลอดหลายทศวรรษ นอกจากนี้ ยังมีคำถามสำคัญคือ ใครควรเป็นผู้แบกรับต้นทุนในการเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หรือภาครัฐ
Debbie Reed กรรมการบริหารของ Ecosystem Services Market Consortium กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่ยินดีที่จะสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนมาสู่การทำเกษตรวิถีใหม่ แต่ยังไม่มีบริษัทใดที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ หรือต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้เกษตรกรเข้าใจว่าหากพวกเขาไม่เลือกที่จะปรับตัวตอนนี้ เขาอาจไม่สามารถทำการเกษตรต่อไปได้อีก
โฆษณา