18 ส.ค. 2022 เวลา 11:23 • ไลฟ์สไตล์
ฟรีแลนซ์(บังหน้า)
เมื่อนายจ้างใช้คำว่า "ฟรีแลนซ์" เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างแรงงาน
26
” ประกาศ!! รับสมัครฟรีแลนซ์ Work From Home เข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 1 วัน
เวลาทำงาน 9.00 – 18.00 น. ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน จันทร์ – เสาร์
ตำแหน่ง แอดมินดูแลเพจ ตอบคำถาม ให้ข้อมูลลูกค้าเกี่ยวกับบริการต่าง ๆ ของบริษัท
ค่าจ้าง 15,000 บาท/เดือน “
6
” รับสมัคร พนักงานรายวัน วันละ 600 บาท
หน้าที่ ต้อนรับลูกค้าที่มาใช้บริการในร้าน
เข้าออกงาน 10.00 – 20.00 น. หรือตามเวลาห้างเปิดปิด
ทำงานวัน จันทร์ – ศุกร์ หยุด เสาร์ อาทิตย์
ถ้าทำงานดีมีโอกาสปรับเป็นพนักงานเงินเดือน (ประจำ) “
เมื่อคำว่าฟรีแลนซ์ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง หลายคนก็อาจเคยเจอเหตุการณ์ที่นายจ้างเหมารวมพนักงานรายวัน รายชั่วโมง ลูกจ้างที่รับค่าจ้างตามผลงาน หรือลูกจ้างที่ยังไม่ผ่านการทดลองงานว่าเป็นฟรีแลนซ์ และไม่ให้สิทธิตามกฎหมายที่ลูกจ้างต้องได้รับ เช่น
  • ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างรายวัน
  • ไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างสัญญาจ้างชั่วคราว
  • ไม่จ่ายค่าโอทีให้พนักงานพาร์ทไทม์รายวัน
  • ไม่แจ้งเข้าประกันสังคมให้ลูกจ้างที่ยังไม่ผ่านการทดลองงาน
  • หักเงินในวันลาป่วยของลูกจ้างทดลองงาน
  • และอื่น ๆ
โดยใช้ข้ออ้างว่า “เป็นฟรีแลนซ์ไม่ใช่พนักงานประจำ จะเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายแรงงานได้ยังไง” ซึ่งไม่ผิดไปจากความจริงนักเพราะฟรีแลนซ์ก็ไม่ใช่พนักงานประจำจริง ๆ แต่การอ้างว่า “ลูกจ้าง” เป็น “ฟรีแลนซ์” และไม่ให้สิทธิตามกฎหมายที่ลูกจ้างต้องได้รับก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน
บทความนี้ JusThat จะพาทุกคนไปดำดิ่งกับความเป็นฟรีแลนซ์ในสัญญาจ้างทำของ และความเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน ว่าทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร งานแบบไหนถึงจะเป็นการจ้างทำของ งานแบบไหนคือการจ้างแรงงาน และลูกจ้างต้องได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างไรบ้าง
สิทธิของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลูกจ้างต้องได้รับเงินในวันไหน อย่างไร
ความแตกต่างระหว่าง ฟรีแลนซ์ VS ลูกจ้าง
ทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาจ้างแรงงาน ต่างก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนเหมือนกัน คือ ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ต้องใช้หนี้ให้กัน ถ้าฝ่ายไหนไม่ใช้หนี้ก็ถือว่าฝ่ายนั้นผิดสัญญา
  • ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องทำงานให้ผู้ว่าจ้าง และลูกจ้างก็มีหน้าที่ต้องทำงานให้นายจ้าง
  • ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทนการงานที่ได้ทำให้ และนายจ้างก็มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างตอบแทนการงานที่ลูกจ้างทำให้เช่นกัน
แต่ข้อแตกต่างสำคัญที่แยกระหว่างการเป็นฟรีแลนซ์และลูกจ้างได้ง่ายที่สุด ก็คือ อำนาจบังคับบัญชาของฝ่ายผู้จ้าง
ฟรีแลนซ์ หรือ Freelancer คือ ผู้ที่ทำงานอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับใคร องค์กร หรือหน่วยงานใด ๆ จะทำงานเวลาไหน วันใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับการจัดตารางการทำงาน แต่ต้องทำงานให้เสร็จตามที่ตกลงกัน และส่งมอบงานให้ทันภายในกำหนด เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการทำผิดสัญญา สำหรับการจ้างฟรีแลนซ์จะเป็นการจ้างในรูปแบบของสัญญาจ้างทำของ
ลูกจ้าง หรือ employee คือ ผู้ที่ตกลงทำงานให้นายจ้างและรับค่าจ้าง โดยที่ลูกจ้างต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายจ้าง มีการกำหนดว่าต้องทำงานวันไหน ทำงานเวลาเท่าไหร่ ต้องอยู่ในกฎระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง ว่ากันง่าย ๆ ก็คือ นายจ้างมีอำนาจสั่งให้ทำ หรือไม่ให้ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย การจ้างงานในลักษณะนี้จะเป็นการจ้างในรูปแบบของสัญญาจ้างแรงงาน
เมื่อเกิดเป็นสัญญาจ้างแรงงานแล้ว ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน ไม่ว่านายจ้างจะเรียกลูกจ้างว่าอะไรก็ตาม เช่น พนักงานรายวัน พนักงานประจำ พนักงานรายเดือน พนักงานฟรีแลนซ์ พนักงานชั่วคราว ผู้รับจ้าง พนักงานพาร์ทไทม์ ฯลฯ ลูกจ้างก็คือ “ลูกจ้าง” และต้องได้รับสิทธิต่าง ๆ ของแรงงานตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ทั้งนี้ สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาไม่มีแบบ ไม่ว่าจะตกลงกันปากเปล่า คุยผ่านแชท ตกลงผ่านอีเมล หรือทำเป็นหนังสือสัญญาก็ตาม หากนายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินตามสิทธิที่ลูกจ้างต้องได้รับ ลูกจ้างก็มีสิทธิร้องเรียนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน เพื่อเรียกเงินตามสิทธิของตัวเองได้เช่นกัน
หรือในกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ฟ้องคดีแพ่งต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ และยังสามารถเรียกเงินอื่น ๆ จากการถูกเลิกจ้างได้ด้วย เช่น ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลืออยู่ เป็นต้น
รู้หรือไม่?! ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ จะทำให้เรื่องถึงชั้นศาลได้เร็วขึ้น
JusThat บริการส่งฟ้องด้วยตัวเอง ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเพียงหลักร้อยบาท
1. แอดไลน์ @justhatapp หรือคลิก https://bit.ly/3uUti8X
2. เริ่มต้นทำแบบประเมิน
3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
โฆษณา