19 ส.ค. 2022 เวลา 09:44 • การตลาด
แรงสั่นสะเทือนจากควบคุมราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้
ปรากฏการณ์การรวมตัวของผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 รายใหญ่ของประเทศ นำโดยอันดับ 1 มาม่า ตามมาด้วย 4 ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ ไวไว, ยำยำ, นิสชิน และซื่อสัตย์ นำทีมเข้ายื่นหนังสือต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขออนุมัติปรับราคาอีกซองละ 2 บาท มในวันที่ 16 สิงหาคม 65 ที่ผ่านมา
เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย เพราะผู้นำอันดับรองลงมาจากเจ้าตลาดก็หวังจะใช้ช่วงเวลานี้ในการแย่งชิงตลาด หากอันดับหนึ่งปรับราคาขึ้น หลังจากนั้นค่อยปรับราคาขึ้นตาม แต่ในครั้งนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าทุกรายล้วนมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจริงๆ ไม่สามารถแบกรับภาระต่อไปได้แล้ว มิเช่นนั้นการรวมตัวจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
1
หากพิจารณาจากข้อมูลในตลาด จากการปรับราคาสูงขึ้นของข้าวสาลีที่นำมาทำเป็นเส้นหมี่ ที่ส่งผลมาจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ราคาน้ำมันปาล์มที่ใช้ทอดก็ปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาร่วม 50% แค่เพียง 2 รายการก็ทำเอาผู้ผลิตกระอักเลือดแล้ว ไหนจะต้องรับภาระจากค่าขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก มองมุมไหนก็ไม่เห็นว่าผู้ผลิตจะยืนระยะได้นานไปกว่านี้
Source: Tradologie
เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นรายการสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้มีรายได้น้อย การที่รัฐบาลควบคุมไว้ก็คือการลดความเดือดร้อนของประชาชน สินค้าในกลุ่มนี้จะไม่เหมือนอาหารสด เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ นมสด ฯลฯ แม้จะปรับขึ้นก็มีปรับลง แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปรับขึ้นแล้วไม่มีปรับลง จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างเข้มงวด
“ยุคใหม่ฯ” เป็นคนทำตลาดคนหนึ่ง ไม่เเห็นด้วยกับการบิดเบือนกลไกการตลาด ทั้งเรื่องการทำให้ราคาเกินจริงทั้งกดราคาไว้ เพราะผลกระทบที่ตามมาจะเกิดการสะท้อนกลับอย่างรุนแรง อีกเหตุผลหนึ่งก็คือประเทศไทยเราเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ที่มีกฎเกณฑ์ไม่มีการแทรกแซงกลไกการค้าและการตลาด
1
แต่แรงสั่นสะเทือนที่มากกว่านั้นก็คือ คนไทยอาจจะพบว่าสินค้าไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย หากต้องการซื้อจริงๆอาจจะต้องซื้อเกินกว่าราคาที่กำหนด หรืออาจจะเกินกว่าราคาที่ขอเพิ่มขึ้นมาอีก 2 บาท/ซอง ยิ่งส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของจริง
ที่มา https://edugentutor.com/content/?ctid=MjAxMjAwMDk=
คำนวณคร่าวๆต้นทุน 6 บาทขอเพิ่มมา 2 บาท คิดเป็นสัดส่วน 33.33% แต่หากถูกควบคุมมากมีโอกาสที่ราคาขายจริงอาจจะสูงขึ้นถึง 3-4 บาท/ซอง สัดส่วนเกิน 50% เมื่อนำมาเฉลี่ยรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าข้าวผัดกระเพราขึ้นมาจานละ 10 บาท หรือ 20% เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่หลักหน่วยแน่นอน
มีโอกาสสูงมากที่อัตราเงินเฟ้อที่จะมากกว่าที่รัฐคาดว่าจะควบคุมไว้ได้ ด้วยการบังคับไม่ให้ปรับราคาขาย แต่ผลกระทบไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะได้เกิดปรากฏการณ์สินค้าทดแทน จากบะหมี่ที่ทำมาจากแป้งสาลี ก็เปลี่ยนมาเป็นการบริโภคเส้นหมี่ที่ทำมาจากแป้งชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะแป้งข้าวเจ้าและแป้งมัน ที่เป็นส่วนผสมหลักของการทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่และวุ้นเส้น
ส่งผลให้แป้งข้าวเจ้าเกิดความต้องการพุ่งขึ้นสูงในต่างประเทศด้วย และความต้องการแป้งมันในประเทศก็มีความต้องการสูงขึ้น เกิดผลกระทบต่อการเตรียมการผลิต ที่ผู้ผลิตแม้ว่าอยากจะขายเพิ่มขึ้นก็จริงแต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากวัตถุดิบจากผลผลิตทางการเกษตร นอกจากจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลแล้วยังต้องมีการวางแผนการผลิตล่วงหน้าไว้ด้วย
ที่มา Google Sites 20 เมนูเอาใจเด็กเส้น" - SI-AM THAI SAD
การผลิตที่เกินกว่าการวางแผนไว้ อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ผู้ผลิตต้องการ เพราะจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นจากการเร่งทำการผลิต เช่น เพิ่มแรงงาน สั่งซื้อวัตถุดิบเพิ่มและวัตถุดิบปรับราคา เนื่องจากเห็นว่ามีความต้องการมากขึ้น มีโอกาสที่รัฐบาลจะเข้ามาควบคุมราคาขายด้วย
สุดท้ายกลายเป็นว่าการควบคุมราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ส่งผลกระทบเป็นแบบโดมิโน (Domino Effect) ที่อาจจะเกินกว่าที่รัฐบาลจะสามารถควบคุมได้ เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงอาจจะไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการเข้าแทรกแซงกลไกการตลาดแล้ว
ทางที่ดีกว่าคือทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องเข้าไปจัดการในระบบ Supply Chain ทั้งกระบวนการ ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถลดต้นทุนลงได้ มากกว่าที่จะไปควบคุมราคาขายที่ไปบิดเบือนกลไกการตลาด เพราะกลไกการตลาดคือกฎสัจจะธรรมของโลกใบนี้ เหมือนกับกฎแห่งแรงโน้มถ่วงหรือกฎแห่งกรรม ที่ใครๆก็ไม่สามารถมาบิดเบือนได้โดยที่ไม่ส่งผลกระทบได้
Credit: Freepik
Instagram: Modernization Marketing (ยุคใหม่การตลาดของไทย)
Face Book Page: Modernization Marketing
YouTube Channel: Modernization marketing (ยุคใหม่การตลาดของไทย)
โฆษณา