19 ส.ค. 2022 เวลา 10:13 • ศิลปะ & ออกแบบ
Phayanchana: ดีไซน์อักษรไทย สวยไม่แพ้ชาติใดในโลก
ทำความรู้จักกับ พยัญชนะ (Phayanchana) แบรนด์ดีไซน์ที่มีส่วนผสมเป็นเวลาและความมุ่งมั่น กับเบื้องหลังการออกแบบโปสเตอร์ชุดตัวอักษรไทย กรุงเทพมหานคร และสินค้าหลายสไตล์ที่พาให้เรารู้ว่า ตัวอักษรไทย เป็นอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด
10 ปี อาจเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านและเติบโตในชีวิตของใครหลายคน แต่เวลาสิบปีในชีวิตของ ป๊อป-อังกูร อัศววิบูลย์พันธุ์ นั้น เขาใช้มันเพื่อต่อเติมความฝันในงานออกแบบส่วนตัวเล็กๆ ให้ประกอบร่างเป็น พยัญชนะ (Phayanchana) แบรนด์ดีไซน์ผู้เปลี่ยนตัวอักษรไทยให้กลายเป็นสินค้าหลากสไตล์ที่ทุกคนใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
"พยัญชนะ เริ่มต้นจากการเป็นงานนอกเวลาที่มีส่วนผสมเป็นความมุ่งมั่น เวลา และโควิดครับ" ป๊อปเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์พยัญชนะ เขาเป็นดีไซเนอร์อิสระที่ลาออกจากงานประจำมาเปิดบริษัทออกแบบของตัวเอง ควบคู่ไปกับการออกแบบชิ้นงานและดูแลขั้นตอนการผลิตทั้งหมดในแบรนด์พยัญชนะ
แต่ก่อนที่ พยัญชนะ จะกลายมาเป็นแบรนด์ดีไซน์ที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์นี้ ย้อนกลับไป เมื่อสิบปีที่แล้ว ศิลปะแบบคอนทัวร์ หรือ การวาดรูปโดยไม่ยกดินสอจากกระดาษ เป็นสิ่งที่ป๊อปหลงใหล และมักนำมาสร้างสรรค์เป็นรูปต่างๆ ในช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการทำงาน ก่อนที่ลายเส้นเหล่านี้จะพาเขาเดินทางไปไกลมากกว่านั้น
"เราเห็นคนออกแบบตัวอักษรไทยเป็นฟอนต์ แต่ไม่ค่อยมีใครทำเป็นสินค้าเท่าไหร่ เราจึงเริ่มออกแบบดีไซน์ตัวอักษรตั้งแต่ ก-ฮ เราใช้เวลากว่า 4 ปีในการทำงานชุดนี้ ด้วยความที่ไม่ได้มีเวลาวาดทุกวัน บางตัวกว่าจะออกมาเป็นอย่างที่คิดก็ใช้เวลานานเลยทีเดียว เพราะทุกตัวอักษรมีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง
"พอทำไปได้เกือบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ เราก็ลาออกมาเปิดบริษัทออกแบบของตัวเอง ด้วยปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องพับโปรเจกต์ส่วนตัวไว้หลายปี จนเมื่อช่วงโควิดที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์ตอนนั้นทำให้งานของบริษัทน้อยลง เราเลยหยิบงานพยัญชนะไทยกลับมาทำให้เสร็จ เพราะงานนี้ถือเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวของเราที่เราอยากทำมากๆ แต่ยังไม่มีเวลาที่จะทำมัน"
ช่วงเวลา 3 ปีที่ผู้คนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม จึงกลายเป็นช่วงเวลาที่ป๊อปขยับเข้าใกล้ความฝันมากกว่าที่เคย โดยดีไซเนอร์หนุ่มตั้งใจออกแบบพยัญชนะ 44 ตัว ให้กลายเป็นงานกราฟิกที่ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของตัวอักษรแต่ละตัว
ก่อนจะต่อยอดงานออกแบบให้เป็นชิ้นงานที่จับต้องได้ อย่าง เซตโปสการ์ดตัวอักษรไทย โปสเตอร์รูป ส.เสือ จานรองแก้วรูป จ.จาน ที่วางไข่รูป ก.ไก่ และที่แขวนร่มรูป ฏ.ฏัก เพื่อนำไปจัดแสดงภายในงานบางกอกดีไซน์วีค (Bangkok Design Week 2022) นั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้คนได้ทำความรู้จักกับงานดีไซน์ในแบบฉบับของพยัญชนะ
"ส่วนตัวเป็นคนที่ออกแบบอะไรเสร็จแล้ว ชอบเก็บมันไว้สักพักใหญ่ๆ เพื่อดูว่าเวลาผ่านไปเรายังชอบมันอยู่ไหม อย่างเวลาซื้อของ ถ้าเราตัดสินใจเร็ว เราอาจรู้สึกทีหลังว่าไม่น่าซื้อมาเลย แต่ถ้าเราค่อยๆ ตัดสินใจ ผ่านไปหนึ่งเดือนแล้วยังชอบมันอยู่ ก็แปลว่านั่นเป็นสิ่งที่ใช่ เวลาทำงานออกแบบ เราก็ต้องให้เวลาตัวเองตกตะกอนว่า มันคุ้มค่าที่จะทำไหม อย่างที่วางไข่ เราก็ไม่ค่อยเห็นคนไทยใช้กัน มีแต่คนต่างชาติใช้ แต่เราตัดสินใจทำออกมาเพราะไอเดียมันได้" ป๊อปเล่าถึงแนวคิดในการสร้างชิ้นงานภายใต้แบรนด์พยัญชนะ
เขายังเผยอีกว่า "ในชุดอักษรไทยนี้ มีหนึ่งตัวที่ไม่สามารถออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ได้เลย คือ ฑ.นางมณโฑ มันจึงเป็นที่มาของโลโก้แบรนด์พยัญชนะครับ ตอนนั้นแค่คิดสนุกๆ ว่า นางมณโฑมีฤทธิ์เยอะ น่าจะมีพลังช่วยในการขายบ้างล่ะ" เขาหัวเราะเมื่อพูดจบ ราวกับได้เผยความลับให้ทุกคนรู้เสียแล้ว
หลังจากที่ป๊อปเติมแต่งสีสันและเอกลักษณ์ให้กับตัวอักษรไทยทั้ง 44 ตัวแล้ว เขากลับมาพร้อมกับโปรเจกต์ใหม่ที่พาตัวอักษรไทยไปปรับโฉมเปลี่ยนรูปให้กลายเป็น 7 สถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโปรเจกต์พิเศษเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี ที่มีชื่อว่า กรุงเทพมหานคร (Krung Thep Maha Nakhon)
"ภาพชุดกรุงเทพมหานคร เป็นงานที่ทำให้รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว ย้อนกลับไปตอนทำแบรนด์ใหม่ๆ เราเคยสงสัยว่าลูกค้าควรเป็นใคร คนไทยจะสนใจงานเราไหม แต่ด้วยภาพชุดนี้ มันเข้าถึงง่าย เพราะเราผูกพันกับสถานที่ บางคนซื้อไปไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภาพนี้ออกแบบจากตัวอักษร พอมารู้ทีหลังก็ทักมาบอกเรา
"มันเป็นความสนุก เราเริ่มรู้แล้วว่าคนจะชอบงานเราในรูปแบบไหน อีกอย่างโปสการ์ดส่วนใหญ่ที่ขายให้นักท่องเที่ยวมักจะเป็นรูปถ่าย ทำไมเราถึงไม่มีของที่ระลึกที่มากกว่ารูปถ่ายวัดพระแก้วหล่ะ โปสการ์ดกราฟิกก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้คนได้เลือกซื้อครับ"
ป๊อปไม่เพียงค้นพบกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ระหว่างการทำงาน แต่เหล่าลูกค้าก็พาให้เขาค้นพบศักยภาพใหม่ๆ ในผลิตภัณฑ์ของเขาเช่นกัน
"ผมได้กลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติเยอะมาก มีบางคนส่งข้อความมาบอกเราว่า โปสการ์ดของเราช่วยให้เขาจำตัวอักษรได้ดีขึ้น หรืออาจารย์สอนออกแบบหลายคนก็นำงานของเราไปเป็นตัวอย่างในห้องเรียน แต่ที่น่าสนใจมากๆ คือ กลุ่มแม่และเด็ก เขาเอาโปสการ์ดชุดตัวอักษรไทยไปเล่นเป็นการ์ดเกม มันเป็นการใช้ประโยชน์ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน เคยคุยกับอาจารย์ที่เขาแนะนำโปสการ์ดให้กับผู้ปกครอง เขาบอกว่า สีและรูปร่างในงานเราช่วยให้เด็กที่ไม่ค่อยมีสมาธิ จดจำงานได้ง่ายขึ้น
"มันทำให้เราย้อนนึกถึงตัวเอง ตอนเด็กๆ เราเรียนไม่เก่ง จำตัวอักษรไทยไม่ได้เลย แต่เราจำตัวอักษรได้หนึ่งตัว คือ ก.ไก่ ครูก็ถามว่าทำไมเราจำได้แค่ตัวเดียวล่ะ คำตอบของเรา คือ เพราะมันมีจะงอยปากเหมือนไก่ มันทำให้รู้ว่า ปัญหาบางอย่างสามารถแก้ได้ด้วยงานออกแบบง่ายๆ เหมือนกับคนซื้อไอโฟน (Iphone) เพราะระบบปฏิบัติการณ์มันใช้ง่าย พอมันเข้าใจง่าย เราก็สามารถต่อยอดหรือเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้นได้"
แน่นอนว่า การทำงานตลอดสิบปีของป๊อปในฐานะเจ้าของแบรนด์พยัญชนะไม่ได้มีแค่ความสนุกเท่านั้น ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ ดีไซเนอร์หนุ่มได้เรียนรู้ว่า ทุกอย่างอาจไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป
"ความยากของการทำแบรนด์นี้ คือ ถ้าเราทำไม่ได้อย่างที่หวัง เราก็ต้องทิ้งทุกอย่างไป อย่างกระปุกออมสิน ท.ทหาร ที่เคยนำไปโชว์ในงานบางกอกดีไซน์วีค เรายังไม่ทำขาย เพราะโรงงานไม่สามารถทำให้มันตั้งได้ครับ มันต่างจากตอนทำงานในบริษัท เรามีหน้าที่แค่ออกแบบชิ้นงาน โดยมีคนอื่นเป็นคนดูแลด้านการผลิต พอเราต้องทำงานเองทุกภาคส่วน บางครั้งเราต้องยอมรับความเสี่ยงว่า ถ้ามันผลิตจริงไม่ได้ เราก็ต้องหาโรงงานใหม่หรือปรับดีไซน์ใหม่"
เช่นเดียวกับที่เปิดขวดทรง ฃ.ขวด ที่เขาใช้เวลาปรับแก้อยู่นานทีเดียว "ตอนขึ้นรูปด้วยการพิมพ์สามมิติเป็นพลาสติก มันไม่แข็งแรงพอจะทดลองเปิดขวดได้ เราต้องสั่งปริ๊นต์จากเนเธอแลนด์สี่ห้ารอบกว่าจะได้ขนาดที่พอดี พอเราได้แบบแล้ว ดันหาโรงงานที่รับผลิตไม่ได้อีก" เขาเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนพูดต่อว่า "แต่ตอนนี้ผมเจอโรงงานที่ผลิตได้แล้วครับ" แล้วรอยยิ้มและเสียงหัวเราะด้วยความยินดีก็ดังขึ้นทันที เมื่อเขาพูดจบ
ไม่นานมานี้ ผลงานชุดตัวอักษรไทยและกรุงเทพมหานคร ได้รับรางวัลด้านการออกแบบจากงาน Demark Award ประจำปี 2022 อีกด้วย ป๊อปเล่าว่า นี่ถือเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่เขาอยากสอดแทรกเรื่องราววัฒนธรรมไทยให้กับคนไทยและชาวต่างชาติในมุมมองใหม่ๆ ผ่านการออกแบบที่เข้าใจง่าย ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้
"สมัยก่อน ผมเคยเป็นคนที่ไม่ชอบภาษาไทย เรามองว่าภาษาไทยนำมาใช้ดีไซน์ยาก ด้วยสระและวรรณยุกต์ ทำให้มีข้อจำกัดในการออกแบบเยอะ ถ้าทุกคนสังเกตจะเห็นว่า ป้ายในประเทศเราส่วนใหญ่จะใช้เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนหนึ่งก็เพื่อการสื่อสารที่ง่ายขึ้น แต่พอย้อนกลับไปมองประเทศรอบตัว อย่างญี่ปุ่น เรายังเห็นว่าเขาใช้ป้ายเป็นภาษาญี่ปุ่นอยู่หลายที่ ซึ่งจริงๆ ฟอนต์ภาษาไทยเราก็มีค่อนข้างเยอะ แต่ไม่ค่อยมีใครใช้กัน หรือซีรีส์เกาหลีก็มีอิทธิพลให้คนอยากเรียนภาษาเกาหลีมากขึ้น"
ภาษา งานศิลปะ และวัฒนธรรมในต่างประเทศ ทำให้ป๊อปย้อนกลับมามองถึงแวดวงงานออกแบบในประเทศไทยเช่นกัน "ส่วนตัวผมมองว่าถ้าวัฒนธรรมหรือศิลปะในประเทศเราเข้มแข็ง มันจะส่งผลให้เกิดธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น เพราะศิลปะสามารถนำไปสู่ความเจริญทางสังคมและจิตใจได้ เราจะมีพื้นที่และชิ้นงานใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากขึ้น พอคนออกมาแข่งกันสร้างงาน บรรยากาศงานสร้างสรรค์ของบ้านเราน่าจะสนุกยิ่งขึ้น นวัฒกรรมและงานดีไซน์มันต้องมาควบคู่กันครับ"
ในอนาคต ป๊อปหวังว่าผลงานของเขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดประตูให้ผู้คนจากทั่วโลกได้ทำความรู้จักกับตัวอักษรไทย เช่นเดียวกับที่หลายคนสนใจในมวยไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ ปัจจุบัน แบรนด์พยัญชนะยังคงสร้างสรรค์ชิ้นงานจากชุดตัวอักษรไทย โดยเตรียมจะออกผลงานอีก 4 ชุดใหม่ที่จะเปลี่ยนภาพจำที่คุณมีต่ออักษรไทย และทำให้คุณเข้าใจว่า...
ตัวอักษรไทย เป็นอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด
สำหรับใครที่สนใจอ่านเรื่องราวของศิลปินและแบรนด์ดีไซน์ ไปจนถึงแง่มุมต่างๆ ในแวดวงศิลปะใกล้ตัว สามารถติดตามข่าวสารจาก happening ได้ตามช่องทางนี้
โฆษณา