Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
19 ส.ค. 2022 เวลา 12:19 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Extraordinary Attorney Woo: วิถีการทำงานหนักของชาวเกาหลีใต้
ไม่ต้องแปลกใจที่สัปดาห์นี้ Bnomics ได้ยกซีรีส์เรื่องนี้มาเล่าอีกแล้ว เพราะทุกๆ ตอนของซีรีส์เรื่องนี้เต็มไปด้วยประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่น่าสนใจมากมายเพิ่มเข้ามาอยู่เรื่อยๆ
1
สัปดาห์นี้เป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์นี้แล้ว Bnomics ก็เลยอยากเลือกประเด็นที่ซีรีส์แฝงไว้ให้เราเห็นตลอดทั้งเรื่องและได้เน้นย้ำให้เราเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงท้าย นั่นคือวิถีการทำงานหนักของชาวเกาหลีใต้
[Spoiler alert! เปิดเผยเนื้อหาช่วงท้ายของซีรีส์ ใครยังไม่ดูขอให้กดแชร์ไว้ก่อนแล้วกลับมาอ่านทีหลัง]
ตั้งแต่ตอนต้นของซีรีส์ เราได้เห็นภาพการทำงานของเหล่าทนายที่ทุ่มเททำงานล่วงเวลา กินอาหารง่ายๆ บนโต๊ะทำงานอยู่เสมอๆ
โดยเฉพาะทนายจองมยองซอก ซึ่งเป็นทนายอาวุโส ในสายตาของผู้ร่วมงานและลูกความ เขาคือ ทนายที่ทุ่มเทและน่าชื่นชมเป็นอย่างมาก แต่แล้วใน EP 13 - 14 ก็ได้เปิดเผยให้เราเห็นว่าสิ่งที่เขาต้องแลกมากับหน้าที่การงานที่ดี คือ ชีวิตแต่งงานที่ล้มเหลว และสุขภาพที่แย่เข้าขั้นวิกฤติ
📌 วัฒนธรรมการทำงานหนักของชาวเกาหลีใต้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับทนายจองมยองซอก เป็นเหตุการณ์ที่ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ต้องเผชิญ กว่า 1 ใน 6 ของพนักงานในเกาหลีใต้ ทำงานหนักมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD
สำหรับชั่วโมงการทำงานโดยรวมทั้งปี พบว่าในปี 2019 ชาวเกาหลีใต้ทำงาน 1,967 ชั่วโมงต่อปี มากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ถึง 241 ชั่วโมง
ถ้าโดยปกติเวลาพูดถึงประเทศที่ทำงานหนักเรามักจะนึกภาพชาวญี่ปุ่น แต่ความจริงแล้วคนญี่ปุ่นก็ยังทำงานน้อยกว่าชาวเกาหลีใต้ถึง 323 ชั่วโมงต่อปี
การทำงานหลายชั่วโมงต่อวัน คือ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติในเกาหลีใต้ในทุกช่วงอายุไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ส่วนหนึ่งก็มาจากค่านิยมของคนรุ่นก่อนๆ ที่ให้ค่ากับการทำงานหนักๆ ตั้งแต่ในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
จนกลายมาเป็นบรรทัดฐานของสังคมที่ต้องทำงานหนัก ทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่กลับก่อนแม้ว่างานจะเสร็จแล้วแต่ต้องอยู่รอเพื่อนร่วมงานด้วย
ประกอบกับการทำงานของเกาหลีใต้จะยึดมั่นในระบอบอาวุโส ลูกน้องต้องปรับตัวตามหัวหน้าและทำตัวให้หัวหน้าพอใจ เพื่อที่จะไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานในอนาคต เมื่อหัวหน้าที่มีความอาวุโสสุดเป็นคนทำงานดึกๆ ลูกน้องที่อยากแสดงให้หัวหน้าเห็นว่าตนเองทำงานหนักจึงอยู่ทำงานดึกไปด้วย ทำให้ภาพการทำงานล่วงเวลาจนดึกดื่นเป็นภาพที่ปกติในเกาหลีใต้
นอกจากนี้การทำงานหนักในเกาหลีใต้ หลายครั้งก็เกิดขึ้นจากความต้องการหารายได้เยอะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพนักงานที่ได้รับค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำ ก็จะยิ่งมีแนวโน้มทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมงมากขึ้น
ในคู่แต่งงานที่ทำงานกันทั้งสองคน ก็มีแนวโน้มที่จะทำงานหนักมากขึ้นหากคู่สมรสอีกคนมีรายได้ต่ำกว่า แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการทำงานหนักขึ้น เพื่อหารายได้มาให้เพียงพอกับการใช้จ่ายของครอบครัวในแต่ละเดือน
📌 อย่าทุ่มเทกับงาน จนละเลยพาร์ทอื่นในชีวิต
งานวิจัยหลายๆ ชิ้น ได้ชี้ให้เห็นถึงผลเสียจากการทำงานหนักของพนักงานในเกาหลีใต้ หลักๆ เลย คือโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุในการทำงานเพิ้มขึ้น และส่งผลทางลบโดยตรงต่อสุขภาพของพนักงาน รวมถึงลดผลิตภาพในการทำงาน เนื่องจากเกิดความเครียด ความเหนื่อยล้าสะสมจนเกินไป
เกาหลีใต้ มีอัตราการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บในที่ทำงานสูงเป็นอันดับสามในกลุ่มประเทศ OECD และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ถึง 2 เท่า
ในผู้ที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 30% ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเบาหวาน และมีโอกาสมากขึ้นกว่า 50% ที่จะเป็นโรคซึมเศร้า
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานานๆ มักจะทำให้เกิดความเครียด ความเหนื่อยล้าสะสม จนทำให้มีไลฟ์สไตล์การดูแลสุขภาพที่ไม่ค่อยจะดีนัก
จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน และมีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป (อย่างในเรื่อง ทนายจองมยองซอกมักจะกินอาหารไม่เป็นเวลา และกินอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำ จนในที่สุดเขาตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 3 แล้ว)
📌 ลดชั่วโมงการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ในที่สุดปัญหาวัฒนธรรมการทำงานหนักในเกาหลีใต้ ก็ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ เมื่อปี 2018 ได้มีนโยบายปฏิรูปการทำงาน
โดยพยายามลดชั่วโมงการทำงานสูงสุดรวมการทำงานล่วงเวลาแล้วจาก 68 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ให้เหลือไม่เกิน 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนชั่วโมงการทำงานปกติให้อยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
มีเพียงคนที่ทำงานในภาคคมนาคมและสาธารณสุขเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นจากข้อกฎหมายนี้ แต่พนักงานในภาคส่วนที่ได้รับการยกเว้น ก็จะต้องได้รับเวลาพักผ่อน 11 ชั่วโมงต่อวัน
หลังจากนโยบายนี้ถูกบังคับใช้ สัดส่วนของคนที่ทำงานเกิน 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ลดลงกว่า 26% สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และลดลง 11% สำหรับบริษัทขนาดเล็ก
อย่างไรก็ตาม ยังคงจำเป็นต้องมีอีกหลายมาตรการ เพื่อช่วยสนับสนุนนโยบายดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จได้ดีขึ้นกว่านี้ เช่น
●
การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายให้กับบางกลุ่มที่ไม่จำเป็น
●
เปลี่ยนค่านิยมจากการเชิดชูการทำงานหนักๆ เป็นการเชิดชูผลงานการทำงานที่มีประสิทธิภาพแทน
●
เพิ่มค่าจ้างต่อชั่วโมงให้สูงขึ้น และปรับปรุงระบบเงินบำนาญ/สวัสดิการ เพื่อไม่ให้แรงงานที่มีรายได้น้อยต้องพยายามขวนขวายทำงานหนักมากขึ้นถึงจะพอมีรายได้มากพอซื้อสิ่งที่จำเป็นได้
เมื่อชั่วโมงการทำงานลดลง บรรยากาศความตึงเครียดในที่ทำงานก็จะผ่อนคลายลง อย่าลืมว่าบรรยากาศในการทำงานที่ดี ไม่เพียงแต่จะดึงดูดให้คนที่มีความสามารถอยากเข้ามาทำงาน แต่ยังช่วยให้การทำงานยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากลดโอกาสที่จะมีคนออกจากตลาดแรงงานไปก่อนวัยอันควร แล้วยังช่วยแก้ปัญหาสังคมสูงวัยที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ
แต่แทนที่ด้วยผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงและยังสามารถใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาวมากกว่า
สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากจะทิ้งข้อคิดการทำงานเล็กๆ น้อยๆ ไว้ให้แก่ทุกคนว่า
จงทำงานเพื่อใช้ชีวิต แต่อย่าใช้ทั้งชีวิตเพื่อทำงาน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
●
http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20210309000162
●
https://www.oecd-ilibrary.org/docserver/0e828066-en.pdf?expires=1660711698&id=id&accname=guest&checksum=D76BDE97458A0BE1DC7B65A4AD22297F
เครดิตภาพ : AStory และ KT Studio Genie via Netflix
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER
ซีรีส์เกาหลี
การทำงาน
ความสุขในการทำงาน
5 บันทึก
10
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economic Edutainment
5
10
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย