20 ส.ค. 2022 เวลา 04:09 • การตลาด
รู้จัก “Seeding” การตลาดหน้าม้า ที่หลายแบรนด์ใช้ แต่ไม่กล้าบอก..
รู้หรือไม่ว่า 90% ของผู้บริโภค มีการอ่านรีวิว ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า
และ 86% จะรู้สึกลังเลในการตัดสินใจซื้อสินค้า ถ้าหากว่าสินค้าดังกล่าว มีรีวิวจากผู้ใช้ในแง่ลบ..
สะท้อนให้เห็นว่า ในปัจจุบัน “เสียงของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์” นั้นสำคัญอย่างมาก เพราะมีความเกี่ยวพันกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ และการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคแบบตรง ๆ
1
จึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมแบรนด์ควรใส่ใจกับฟีดแบ็กสินค้าของตัวเองบนโลกออนไลน์ให้มากขึ้น
เพราะถ้าหากฟีดแบ็กของสินค้า หรือแบรนด์ ออกมาไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะถูกตัดออกจากตัวเลือกของลูกค้าทันที
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องยากในการทำให้ความคิดเห็นของทุกคนไปในทางเดียวกัน เพราะล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่แบรนด์ควบคุมไม่ได้
แต่ในโลกของการตลาด มีหนึ่งกลยุทธ์ที่จะช่วยให้การพูดถึงแบรนด์ออกมาดีได้ แถมยังดูเป็นธรรมชาติอีกด้วย..
กลยุทธ์นี้ เรียกว่า การทำ “Seeding” หรือการทำตลาดผ่านการใช้ “หน้าม้า” เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าตามโซเชียลมีเดีย, Blog หรือช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ให้ความสนใจ
ซึ่งหลักการของการทำ Seeding ก็คือ การส่งหน้าม้าที่ว่า
- ไปตั้งข้อสงสัย
- ตอบคอมเมนต์
- เขียน Blog
- สร้างกระทู้
ที่จะทำให้แบรนด์มีแนวโน้มจะได้รับรีวิวที่ดี “โดยทำอย่างไรก็ได้ให้เนียน และเป็นธรรมชาติที่สุด”
ข้อดีของกลยุทธ์ Seeding ก็คือ แบรนด์สามารถควบคุมงบประมาณได้ง่าย และสามารถนำมาพลิกแพลงได้หลายสถานการณ์ ทั้งยังใช้ได้ตั้งแต่แบรนด์เล็กไปจนถึงแบรนด์ใหญ่
 
โดยแบรนด์ใหญ่ ๆ มักหยิบการทำ Seeding มาใช้ตอนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือจัดงานอิเวนต์ใหญ่ ๆ
เช่น อาจจะมีการว่าจ้างหน้าม้าจำนวนมาก ให้มาเข้าร่วมงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
หรือแบรนด์ขนาดเล็กที่เงินทุนยังไม่หนามาก อาจจะมีการใช้หน้าม้าเพียงไม่กี่คนเข้าไปสร้างกระทู้แล้วพูดถึงคุณสมบัติของสินค้า ตามคอมมิวนิตีที่กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์อยู่
แล้วให้หน้าม้าอีกคน มาตอบกระทู้ด้วยเนื้อหาที่ทำให้แบรนด์ดูดี ก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้การทำ Seeding ควบคุมงบประมาณได้ง่าย เพราะว่า “หน้าม้า” จะเป็นใครก็ได้ และมีกี่คนก็ได้
ตั้งแต่ยูสเซอร์ทั่วไป, นาโนอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีผู้ติดตามหลักพันคน ไปจนถึงระดับ KOL ที่มีอิมแพ็กค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ แบรนด์ยังไม่ต้องใส่งบประมาณสูง ๆ ไปกับคุณภาพของคอนเทนต์ในการทำ Seeding อีกด้วย
เพราะในบางครั้งถ้าคุณภาพของคอนเทนต์ “ดีเกินไป” อย่างรูปสวยเกินกว่าจะเป็นคอนเทนต์จากผู้ใช้ทางบ้าน ก็อาจจะทำให้ “ไม่เนียน” ได้นั่นเอง..
ซึ่งถ้าหากการทำ Seeding ของแบรนด์ประสบความสำเร็จ
Seeding เหล่านั้น จะทำหน้าที่ไม่ต่างจาก “เมล็ดพันธุ์” ที่จะเติบโตและเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับแบรนด์ในอนาคต
พูดให้เห็นภาพคือ แบรนด์ A และแบรนด์ B ขายสินค้าชนิดเดียวกัน
แบรนด์ A มีการทำ Seeding เอาไว้ตามแหล่งข้อมูลที่ลูกค้าเจอได้ง่าย
เช่น มีการตั้งกระทู้ในคอมมิวนิตี หรือมีการไปคอมเมนต์ถึงข้อดีของสินค้า เอาไว้ตามกลุ่มบน Facebook
กลับกัน แบรนด์ B เลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย
ท้ายที่สุด ในตอนที่ลูกค้าหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจซื้อสินค้า ลูกค้าจะรับรู้ถึงแบรนด์ A มากกว่า และรู้สึกมั่นใจในสินค้าของแบรนด์ A มากกว่า จากรีวิวเชิงบวกที่ได้รับมา
จึงทำให้แบรนด์ A มีโอกาสขายได้มากกว่านั่นเอง..
อย่างไรก็ตาม แม้การทำ Seeding จะดูง่ายและใช้งบประมาณไม่เยอะ แต่การทำ Seeding ก็มีข้อเสียที่ร้ายแรงซ่อนอยู่เหมือนกัน
เพราะถ้าหากแบรนด์ถูกจับได้ว่ามีการทำ Seeding เมื่อไร
ก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อแบรนด์ไปได้ง่าย ๆ
จนบางครั้งอาจทำให้รีวิวจากผู้ใช้จริง ๆ โดนมองว่าเป็นการทำ Seeding ไปเลยก็ได้..
ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า “ความเชื่อมั่น” จากผู้บริโภค บอกได้เลยว่า การสร้างขึ้นมาว่ายากแล้ว แต่การฟื้นฟูมันกลับมานั้น ยากยิ่งกว่า..
ดังนั้นแล้ว แบรนด์ควรใส่ใจให้มาก ตั้งแต่การเลือก “หน้าม้า” ที่แบรนด์ต้องมั่นใจได้ว่า คนคนนี้จะไม่สร้างชื่อเสียงในแง่ลบตามมาทีหลัง
รวมไปถึง “รูปแบบของคอนเทนต์” ที่ต้องทำให้เนียน และเป็นธรรมชาติที่สุด ซึ่งหมายถึงอาจจะต้องนำเสนอข้อเสียของแบรนด์ตัวเองบ้างในบางครั้ง (แต่ต้องไม่ร้ายแรง)
เช่น “บุฟเฟต์ร้านลับเปิดใหม่ อร่อยมากแต่คนเยอะไปนิด”
“สกินแคร์แบรนด์นี้ใช้ดีจริง แต่หาซื้อยากไปหน่อย”
สุดท้ายนี้ ถึงแม้การทำ Seeding จะดูโหดร้าย และไม่แฟร์กับผู้บริโภคไปสักหน่อย
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำ Seeding เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ชอบหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าจริง ๆ
อีกทั้ง ยังเป็นเรื่องยากมาก ที่จะมีผู้ใช้ทางบ้านเข้าไปรีวิวสินค้าให้แบรนด์จริง ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์ใหม่ ๆ ที่สินค้าดีจริง แต่งบประมาณอาจจะยังไม่พอทุ่มงบโฆษณา หรือทำโปรโมชันดึงดูดลูกค้า
ดังนั้น การจ้างคนมาเป็นหน้าม้า หรือการทำ “Seeding” จึงอาจเป็นทางเลือกเดียวของหลายแบรนด์ ที่จะทำให้พวกเขาสามารถมีที่ยืน ในวันที่การแข่งขันสูงขึ้น และการทำแคมเปญการตลาด ใช้งบมากขึ้นทุกวัน..
โฆษณา