20 ส.ค. 2022 เวลา 06:37 • การตลาด
“หมี่เต๋อ” กับบะหมี่ “สีม่วงทอง”
ที่ขายเพียงปีละ 1 วัน
การตลาดในยุคนี้ “การมีลูกค้าเป็นจำนวนมาก” อาจไม่ใช่สิ่งรับประกันว่าจะสามารถอยู่ได้แบบตลอดรอดฝั่ง เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย และมีความจงรักภัคดีต่อแบรนด์น้อยลง ดังนั้นทุกแบรนด์จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะเปลี่ยน “ลูกค้า” เป็น “แฟนคลับ” และเปลี่ยนจาก “แฟนคลับ” เป็น “สาวก” ผ่านความผูกพันจนกลายเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ
กระบวนการสร้างให้เกิดแฟนคลับ และ สาวก นั้นต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนหลายด้าน เช่น ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องมีช่องทางการสื่อสารที่ถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญต้องมี Message ที่ใช้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เหมือนกับที่ “หมี่เต๋อ” ร้านบะหมี่เล็กๆ ทำมาทุกปี
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน​วิทยาลัย​ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1852 จนถึงปีนี้ก็มาอายุครบ 170 ปีแล้ว
สัญลักษณ์​ที่สำคัญของโรงเรีย​นนี้ที่ทุกคนจดจำมี 3 อย่างคือ สีม่วง-ทอง, หอธรรม และดอกชงโค
ทุกปีเด็กมัธยมศึกษา​ชั้นปีที่ 6 จะได้ทำกิจกรรมที่สำคัญมากที่สุดของการเป็นนักเรียนในสถาบันแห่งนี้ คือ การจัดงานวันเกิดโรงเรียน ซึ่งงานฉลองครบรอบ 170 ปีในปีนี้ จัดขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม โดยใช้ชื่อว่า "เก็บความทรงจำดีๆ 170 ปีที่ ก.ท พร้อมส่งต่อความสุข” ซึ่งพบว่าปีนี้มีคนสนใจมางานเป็นจำนวนมาก จนบัตรไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางคนยอมลงทุนมาต่อคิวรอตั้งแต่ตีห้า เพื่อหาซื้อบัตรเข้าไปชมคอนเสิร์ต
งานวันเกิดโรงเรียนนี้มีความหมายกับเด็กนักเรียนชั้นม.6 มากๆ เหมือนเป็นประเพณีที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น
งานนี้เด็กทุกคนจะเป็นคนคิดธีมของงานเอง ดีลสปอนเซอร์​เอง เชิญแขกรับเชิญ​เอง ทำโฆษณา​เอง ออกแบบของที่ระลึก​วางจำหน่ายเอง เรียกว่าบริหารจัดการกำไร ขาดทุนเองเหมือนบริษัทจำลอง​ทั้งหมด
เด็กคนไหนที่มีแฟน หรือกำลังจีบสาวมาเป็นแฟน หากใครพามาเดินงานนี้จะถือเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
ส่วน "หมี่เต๋อ" เป็นร้าน "บะหมี่ซาเล้ง" เล็กๆ ที่มาขายอยู่ที่หน้าโรงเรียนมาตั้งแต่ปี 2517 หรือ 46 ปีแล้ว
เด็กคริสเตียนจะรู้ดีว่าร้านอาหารคู่บุญของเด็กคริสเตียนจะมีบะหมี่เต๋อ, โตเกียวลุงเพชร และลูกชิ้นปิ้ง ซึ่งขายมายาวนานพอๆ กัน
ไม่รู้ว่า เต๋อ คือชื่อจริงๆ หรือไม่ แต่เด็กคริสเตรียนเรียก “เต๋อ” กันมาหลายสิบปี เพราะสมัยหนุ่มๆ เต๋อไว้หนวดและใส่หมวกสานจนเหมือนนักร้องดัง “เต๋อ” เรวัต​ พุทธินันทน์ แถมรถซาเล้งก็ไม่มีชื่อร้าน เด็กคริสเตียนก็เลยเรียกหมี่เต๋อกันมารุ่นต่อรุ่น
จากร้านซาเล้งที่ขายชามละ 8 บาท และต้องนั่งยองๆ กิน ปัจจุบันนี้​หมี่เต๋อขยายกิจการมาเป็นร้านบะหมี่ในอาคารพาณิชย์​อยู่ไม่ไกลจากรั้วโรงเรียน และมีการสาขาไปที่อื่นๆ แต่เต๋อยังคงอยู่ประจำที่ร้านนี้ เพราะมีศิษย์เก่าที่ชอบกลับมานั่งคุยกับเต๋อเสมอ
ทุกวันนี้ลูกค้าของหมี่เต๋อเกินกว่า 70% ยังคงเป็นเด็กนักเรียน, ผู้ปกครอง, ครู, บุคลากร​ของโรงเรียน และศิษย์เก่า​ที่หมุนเวียนกันมากินบะหมี่กันอย่างไม่ขาดสาย
หนึ่งในเมนูที่ขายดีของหมี่เต๋อ คือ “สองกษัตริย์”​ ที่มีเส้นเป็นบะหมี่เหลืองและหมี่หยกใส่ปนกันมา
ซึ่งใน 1 ปีจะมีวันเดียวที่เมนู 2 กษัตริย์​จะเปลี่ยนจากเส้น “สีเขียว-เหลือง” เป็นสี “ม่วง-เหลือง” ซึ่งคล้ายกับสีของโรงเรียนคือ “ม่วงทอง” ซึ่งก็คือวันนี้
วันนี้เต๋อต้องอธิบายลูกค้าทั่วไปหลายคนว่าทำไมบะหมี่ในชามถึงมีสีม่วงผสมมากับสีเหลือง เพราะลูกค้าทั่วไปไม่เคยเห็น และไม่เข้าใจ
เต๋อตั้งใจทำบะหมี่เส้นสีม่วงเขึ้นมา ก็เพื่ออยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองงานวันเกิดโรงเรียน และขอบคุณนักเรียน ผู้ปกครองและศิษย์เก่า​ที่ทำให้เต๋อมีทุกวันนี้
เส้นสีม่วงนี้ เต๋อเริ่มทดลองทำด้วยการเอาสีของดอกอัญชัน​มาผสมให้กลายเป็นสีม่วงอ่อนๆ
​บะหมี่สีม่วงนี้ คือการคิด และลงมือทำแบบง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนของเจ้าของร้านบะหมี่เล็กๆ ร้านหนึ่ง โดยชายวัย 66 ปีที่เริ่มต้นเป็นลูกจ้างซาเล้งขายบะหมี่ตั้งแต่อายุ 14 ปี แต่ในเชิงการตลาดวิธีสื่อสารกลับกลุ่มเป้าหมายของเต๋อนี้ เรียกว่า Emotional Marketing ที่เน้นสร้างอารมณ์ ความรู้สึก ความผูกพันธ์กับ “แฟนคลับ” และ “สาวก” โดยตรง
การเลือกใช้ Message ที่ถูกที่ถูกเวลา จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถสร้าง Brand Loyalty หรือความภักดีต่อแบรนด์ ซึ่งแม้แต่ร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆอย่างหมี่เต๋อก็สามารถทำได้ ขอแค่เพียงเข้าใจ Insight ของกลุ่มเป้าหมายเป็นพอ..
#bcc170anniv
#BCC
#เด็กคริสเตียน
#กรุงเทพคริสเตียน
#หมี่เต๋อ
#BrandAgeOnline
#Marketing
โฆษณา