20 ส.ค. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
ไขข้อสงสัย ทำไมต้องมีวันยุงโลก? เมื่อ "ยุง" แมลงตัวร้ายเป็นพาหะนำโรคที่อันตรายถึงชีวิต!
1
“ยุง” แมลงตัวยุ่งแสนน่ารำคาญอันดับต้นๆ ของผู้คนทั่วโลก ด้วยนิสัยที่ชอบมาบินเสียงดังหึ่งๆ ข้างหู กัดก็เจ็บคันก็คัน พร้อมทิ้งรอยแดงไว้ให้ดูต่างหน้า เท่านี้ยังไม่พอเห็นตัวจิ๋วๆ แบบนี้ แต่จริงๆ แล้วร้ายกาจกว่าที่คิด เพราะเป็นพาหะนำโรคที่อาจอันตรายถึงชีวิต
2
เหมือนกับคำกล่าวไว้ว่า… “ยุงร้ายกว่าเสือ”
แล้วรู้หรือไม่ว่าวันที่ 20 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันยุงโลก”
1
ทั้งๆ ที่มนุษย์รู้ว่ายุงเป็นภัยร้ายใกล้ตัวและน่ารำคาญมากแค่ไหน แล้วทำไมถึงต้องตั้งวันให้ยุงโดยเฉพาะ!? ในบทความนี้เราจะพาทุกคนมาร่วมค้นหาคำตอบและไขข้อสงสัยไปพร้อมกัน!
1
20 สิงหาคมของทุกปี คือ “วันยุงโลก”
1
แม้ยุงจะมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร แต่วันยุงโลก (World Mosquito Day) ก็ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อยกย่องความดีความชอบของยุงแต่อย่างใด เพราะวันยุงโลกมีจุดประสงค์เพื่อระลึกถึง “โรนัลด์ รอสส์” (Ronald Ross) แพทย์ทหารชาวอังกฤษที่เคยทำงานที่ประเทศอินเดีย โดยในปี 1897 เขาค้นพบปรสิตมาลาเรียในยุง และพิสูจน์ได้ว่ายุงเป็นพาหะนำโรคมาลาเรียมาสู่คน
1
แน่นอนว่าย้อนไป 100 กว่าปีที่ผ่านมา มนุษย์ยังไม่มีนวัตกรรมหรือองค์ความรู้เทียบเท่าปัจจุบัน รวมถึงยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย การค้นพบในครั้งนี้จึงนำไปสู่การปฏิวัติทางความรู้ มาตรฐานการวิจัย และแนวทางการป้องกันโรคมาลาเรียครั้งใหญ่ของโลก ทำให้ในปี 1902 โรนัลด์ รอสส์ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์
1
รู้เท่าทันเรื่องยุ่งๆ ของยุงตัวร้าย
1
อย่างที่เราทุกคนรู้กันดีว่ายุงเป็นสัตว์รบกวนที่สร้างความรำคาญ และยังเป็นพาหะนำโรคร้ายหลายชนิด ที่อาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ โรคชิคุนกุนยา และโรคเท้าช้าง
1
สำหรับมาลาเรียนับเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่สร้างความกังวลให้ทั่วโลกมายาวนาน มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค โดยสามารถพบได้ตามบ้านเรือน ป่า หรือภูเขา ถ้าผู้ป่วยได้รับเชื้อมา แต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยในแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกกว่า 300 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุไม่ถึง 5 ปี และมีผู้เสียชีวิตจากมาลาเรียประมาณ 600,000 คนต่อปี
1
กระทรวงสาธารณสุขได้เผยว่า สถานการณ์มาลาเรียในไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในปี 2021 มีผู้ติดเชื้อประมาณ 500 ราย เมื่อเทียบกับปี 2000 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึง 150,000 ราย แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ จำเป็นต้องเฝ้าระวังกันต่อไป เพื่อไม่ให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นและเป็นเขตปลอดมาลาเรียในที่สุด
1
และนับว่าเป็นข่าวดีของทุกคนทั่วโลก เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรอง “วัคซีนต้านมาลาเรีย” ตัวแรกของโลก หลังจากวิจัยและพัฒนามายาวนานกว่า 30 ปี แม้ว่าวัคซีนดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพเพียง 30% เท่านั้น แต่ก็นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนทั้งหมด 4 โดส ให้เด็กอายุ 5 เดือนขึ้นไป ในพื้นที่เสี่ยงปานกลางถึงเสี่ยงสูง
1
ส่วนสถานการณ์ไข้เลือดออกก็ยังคงน่ากังวล เพราะเป็นโรคที่ระบาดตลอดทั้งปี เป็นแล้วก็เป็นซ้ำได้อีก แถมอันตรายขึ้นด้วย ยิ่งช่วงหน้าฝนแบบนี้ ยิ่งทำให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น โดยกรมควบคุมโรคเผยสถิติว่าในปี 2022 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 18 พฤษภาคม 2022 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน 1,952 ราย เสียชีวิต 2 ราย แม้อาการของโรคจะไม่รุนแรงมาก แต่ถ้าเป็นแล้วต้องเฝ้าระวังและรับการรักษาทันที เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้
1
ความร้ายกาจของเจ้ายุงตัวร้ายยังไม่หมด เพราะยุงไม่ได้เป็นพาหะนำโรคให้คนเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นพาหะนำโรคให้สัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น สุนัข แมว ม้า กระต่าย ฯลฯ
1
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ที่เป็นการแก้ปัญหาต้นทางที่ดีที่สุด เพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโตและป้องกันโรคร้ายที่มียุงเป็นพาหะกัน!
1
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society #WorldMosquitoDay
โฆษณา