21 ส.ค. 2022 เวลา 07:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ภาษีอะไรบ้าง ที่นักลงทุนหุ้นต้องรู้ และต้องจ่าย ?
เป็นที่สงสัยกันมาก ว่าถ้าหากเป็นนักลงทุนในหุ้น จะต้องเสียภาษีไหม มีภาษีอะไรเกี่ยวข้องและต้องจ่ายบ้าง
ถ้าหากแจกแจงเป็นรายประเภทภาษีที่นักลงทุนจะต้องเสียนั้น มีดังนี้
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นี้ คือการนำรายได้จากการขายหุ้น ในส่วนที่เป็น “กำไร” จากการขายหุ้นมารวมคำนวณภาษีเงินได้ตอนครึ่งปี และสิ้นปี
โดยเมื่อนักลงทุนมีกำไรจาการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะต้องเสียภาษี ทั้งแบบบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล แล้วแต่ผู้ลงทุนจะอยู่ในสภานะใด
1) บุคคลธรรมดา สำหรับบุคคลธรมดานั้น กำไรจากการขายหุ้น ยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องเป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
ส่วนกรณีมีการขายหุ้นหรือโอนหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ ถ้าผู้ลงทุนอยู่ในประเทศไทยมากกว่าหรือเท่ากับ 180 วันในปีภาษีนั้น
จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีก้าวหน้า และต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณตอนสิ้นปีด้วย
2) นิติบุคคล หรือบุคคลที่อยู่ในรูปแบบบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน เมื่อได้กำไรจากการขาย จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเหมือนอย่างบุคคลธรรมดา
จะต้องนำกำไรไปรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหุ้นในตลาดหักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
กรณีที่นักลงทุนมีการซื้อขายจะต้องมีค่าธรรมเนียมเกิดขึ้น ซึ่งค่าธรรมเนียมจะแตกต่างกันไปตามที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการนั้นเรียกเก็บ
โดยค่าธรรมเนียมนี้จะถูกบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปอีก 7% จะมีผลทำให้นักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นต้องเสียค่าธรรมเนียมมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง
3. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเงินปันผล
ในกรณีที่นักลงทุนถือหุ้นจนมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผล จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% ซึ่งจะแยกตามประเภท ดังนี้
1
1) บุคคลธรรมดา เงินปันผลที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% แต่จะได้รับการยกเว้นภาษี หากได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ทั้งนี้ ผู้ได้รับเงินปันผลสามารถเลือกได้ว่าจะให้หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบ (ใช้สิทธิ Final tax) หรือจะนำมารวมเป็นเงินได้คำนวณภาษีบุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี
แล้วใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล เพื่อขอคืนเงินภาษีที่จ่ายไปคืน (กรณีถ้าภาษีที่ถูกหักไประหว่างปี มากกว่าภาษีที่ต้องชำระจริง ณ สิ้นปี)
2) นิติบุคคล เงินปันผลนิติบุคคลได้รับ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เช่นกัน แต่อาจจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ถ้าเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด ดังนี้
- เป็นเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
- ผู้ได้รับเงินปันผลเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ถือหุ้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อน และ 3 เดือนหลังจากวันที่ได้รับเงินปันผล
- ผู้ได้รับเงินปันผลได้ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง
โดยถือหุ้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อน และ 3 เดือนหลังวันที่ได้รับเงินปันผล และบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้ได้รับเงิน (ไม่ถือหุ้นไขว้กัน)
4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction tax) คือภาษีที่เก็บจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งเดิมที กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า หากมีการขายหุ้น 1 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ
1
แต่ภาษีขายหุ้นนี้ยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องเก็บมาเป็นระยะเวลา 30 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ถึงปัจจุบัน)
1
และสำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะนี้เองที่ยังคงอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่มีผลบังคับใช้
1
ซึ่งในแนวทางการปฏิบัติ บริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการจะเป็นผู้จัดเก็บภาษีขายหุ้นนี้ไว้ แล้วนำส่งให้กรมสรรพากรแทนผู้ขายหุ้นเอง
เมื่อรู้แล้วว่ามีภาษีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับหุ้น นักลงทุนก็คงพอจะประมาณการภาษีที่ต้องจ่ายได้และเป็นแนวทางในการวางแผนการเงินได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ส่วนการจะจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะทางกระทรวงการคลังยังต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย ซึ่งจะใช้เวลานานอีกเท่าไร ก็ยังไม่อาจทราบได้ค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา