21 ส.ค. 2022 เวลา 06:18 • ธุรกิจ
เปิดศึกแย่งโชห่วย 4 แสนร้าน บิ๊กซี-โลตัส-แม็คโครไล่บี้ “ถูกดี” ค่ายตะวันแดง
ยักษ์ค้าปลีกเปิดศึกรอบใหม่ หวังแย่งเค้กก้อนโต ส่งร้านค้าปลีกโมเดลใหม่ดึงร้านโชห่วย 4 แสนร้านค้าเป็นพันธมิตร “บิ๊กซี” ประกาศเร่งเครื่อง ส่ง “ร้านนี้โดนใจ” ไล่บี้ต้นตำรับ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ของค่ายทีดี ตะวันแดง ที่ทิ้งห่างคู่แข่งแทบไม่เห็นฝุ่น ลั่นสิ้นปีนี้มีเฉียดหมื่นแห่ง ขณะที่ “โลตัส” ซุ่มเงียบทดลองโมเดล “ร้านนี้ขายดี” เปิดแล้วเบาะ ๆ 1,000 สาขา “แม็คโคร” ไม่ยอมตกขบวน ส่ง “บัดดี้ มาร์ท” ร่วมวง เดินสายบุกต่างจังหวัดสัมมนาโรดโชว์หาพาร์ตเนอร์
ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา การรุกคืบเข้ามาของค้าปลีกสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรด ทั้งคอนวีเนี่ยนสโตร์ หรือร้านสะดวกซื้อ และไฮเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยโมเดลที่หลากหลายไปในทุกพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัด
ส่งผลกระทบกับร้านค้าปลีกรายย่อย หรือโชห่วยอย่างหนัก มีจำนวนไม่น้อยที่ทยอยล้มหายตายจากไป เพราะไม่สามารถต้านทานการแข่งขันและเงินทุนที่หนากว่าได้ และถือเป็นธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลงรอวันตาย
แต่วันนี้ดูเหมือนว่า หลังจาก “ทีดี ตะวันแดง” ได้เปิดมิติใหม่ให้กับร้านชำร้านโชห่วย ด้วยการพัฒนาโมเดลเพื่อสนับสนุนร้านโชห่วยในชุมชน ในคอนเซ็ปต์ โลว์คอสต์ คอนวีเนี่ยนสโตร์ ภายใต้ชื่อ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ที่เข้าไปช่วยซัพพอร์ตในเรื่องการตกแต่ง วางระบบ การจัดวางสินค้า จัดโปรโมชั่น ติดตั้งกล้องวงจรปิด ระบบคิดเงินอัตโนมัติ (POS) การส่งสินค้าให้เข้าร้าน ฯลฯ
เพื่อยกระดับและสร้างภาพลักษณ์ให้ทันสมัยมากขึ้น กลายเป็นตัวจุดประกายสำคัญที่ทำให้ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่คาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 4 แสนราย กลับมาอยู่ในความสนใจและเป็นเป้าหมายสำคัญของบรรดาค้าปลีกรายใหญ่ที่ต้องการจะดึงร้านค้าเหล่านี้มาเป็นคู่ค้า
ชิงร้านชำโชห่วย 4 แสนร้านค้า
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าส่ง-ค้าปลีกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ทั้ง โลตัส บิ๊กซี รวมทั้งแม็คโคร หันมาให้ความสำคัญกับร้านค้าปลีกรายย่อยมากขึ้น สะท้อนจากความเคลื่อนไหวของค้าปลีกรายใหญ่ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่ทุกค่ายที่มีการตั้งทีมงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบ และได้มีการพัฒนาโมเดลของตัวเองขึ้นมา เพื่อสนับสนุนและดึงร้านชำ ร้านโชห่วยมาเป็นเครือข่าย
จากเดิมที่ทุกค่ายเน้นการขายสินค้าให้กับกลุ่มร้านค้ารายย่อยด้วยการแบบขายยกลังยกกล่องในลักษณะขายส่งเป็นหลัก รวมทั้งใช้สาขาที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่เป็นศูนย์กลางในการติดต่อ การประสานงาน และสนับสนุนร้านค้าที่สนใจ บางรายมีการดึงสถาบันการเงินเข้ามาช่วยซัพพอร์ตเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับร้านค้าที่สนใจด้วย เพื่อให้การตัดสินใจและการเปิดร้านทำได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น
ตอนนี้แต่ละค่าย ทั้งค้าปลีกรายใหญ่ และถูกดีฯ ที่เป็นผู้ปลุกตลาดนี้ ต่างแข่งและเร่งขยายเครือข่ายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง สังเกตุได้จากภาพการเปิดร้านโมเดลใหม่ของค้าปลีกแต่ละค่ายที่มีให้เห็นหนาตามากขึ้นในชุมชน หรือบริเวณทางแยกใหญ่เล็กในต่างจังหวัด ที่จะมีร้านค้าปลีกที่ดูทันสมัยมากขึ้น และมีป้ายชื่อร้านที่ใช้สีต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์มากขึ้น เช่นร้านถูกดีฯ ป้ายสีแดง ร้านโดนใจ ป้ายสีส้ม เป็นต้น จากเดิมที่เป็นร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม
“อาจจะกล่าวได้ว่า นี่เป็นน่านน้ำใหม่ที่ทุกค่ายต้องการจะเข้ามาและเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้ในระยะยาว และอีกด้านหนึ่ง หากค้าปลีกรายนั้น ๆ มีร้านค้าในเครือข่ายมากเท่าไหร่ก็จะทำให้มีอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์มากขึ้นตามไปด้วย และคาดว่าในอนาคตช่องทางใหม่นี้ จะเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าเฮาส์แบรนด์ประเภทต่าง ๆ ของแต่ละค่ายลงไปในชุมชนระดับตำบล หมู่บ้าน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันพืช น้ำตาล น้ำปลา เสื้อผ้า ของใช้ต่าง ๆ ฯลฯ”
“ถูกดี” เปิด 5 พันแห่งนำโด่ง
นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ผู้บริหารร้านถูกดี มีมาตรฐาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการร้านถูกดีฯ และเปิดไปแล้วประมาณ 5,000 ร้านค้า ถึงสิ้นปี 2565 คาดว่าจะมีสาขาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 8,000 ร้านค้า ซึ่งตั้งเป้าพยายามจะเปิดเพิ่มให้ได้เดือนละประมาณ 2,000 ร้านค้า
โดยวางเป้าหมายให้ร้านถูกดีฯ เป็นร้านสะดวกซื้อที่สามารถเข้าถึงชุมชนที่ลึกที่สุดในระดับหมู่บ้าน นอกจากการเปิดผู้ประกอบการโชห่วยในการเข้าร่วมโครงการแล้วยังจะเปิดรับผู้สนใจหรือนักลงทุนทั่วไปด้วย และในปี 2566 ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนร้านถูกดีฯ เป็น 20,000 ร้าน และเพิ่มเป็น 30,000 ร้าน ในปี 2567
นายเสถียรย้ำว่า นอกจากการซัพพอร์ตร้านค้าปลีกรายย่อยในแง่ของการบริหารการจัดการ เทคโนโลยี กิจกรรมทางการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย ในระยะถัดไปบริษัทยังจะมีบริการใหม่ ๆ เข้ามาเสริม การให้สินเชื่อรายย่อย การรับชำระค่าบริการต่าง ๆ การรับ-ส่งพัสดุ จ่ายยา ฯลฯ เพื่อให้ร้านถูกดีฯเป็น point of everything
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า ร้านค้าปลีกเครือข่ายของ “ถูกดี มีมาตรฐาน” (4 ส.ค.) เปิดกระจายอยู่ในทุกภาคทั่วประเทศ และที่มีสาขามากที่สุด อาทิ นครราชสีมา ประมาณ 300 ร้านค้า ศรีสะเกษ 210 ร้านค้า บุรีรัมย์ 195 ร้านค้า ขอนแก่น 190 ร้านค้า สกลนคร 180 ร้านค้า ร้อยเอ็ด 176 ร้านค้า และเชียงใหม่ 160 ร้านค้า เป็นต้น
“บิ๊กซี-โดนใจ” เร่งสปีดเจาะชุมชม
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า หลังจากที่ได้มีการทดลองโครงการร้านค้าโดนใจ มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของร้านค้าแบบดั้งเดิมได้ปรับปรุงร้านค้าของตนให้ทันสมัย และยังคงความเป็นเจ้าของร้านค้าของตนไว้โดยผ่านความร่วมมือกับบริษัท จากนี้ไปร้านค้าโดนใจจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ บิ๊กซี ให้ความสำคัญมากขึ้น โดยจะเร่งขยายเครือข่ายร้านค้าโดนใจไปยังระดับชุมชนให้มากขึ้น
ขณะนี้มีร้านค้าที่สนใจและทยอยเข้าร่วมโครงการร้านค้าโดนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เปิดไปแล้วประมาณ 780 แห่ง ในหลายจังหวัด อาทิ นครพนม อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สระบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี สงขลา ชลบุรี พัทยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นำโมเดลนี้ไปทดลองเปิดในเวียดนาม ในชื่อของ Gia Tot เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ร้านค้าโดนใจ ได้จัดโปรโมชั่น ด้วยการขยายเวลาการลดเงินประกันให้สูงสุด 50% ออกไปถึงสิ้นปีนี้ จากเดิมที่จัดโปรโมชั่นให้พาร์ตเนอร์เฉพาะ 1,000 สาขาแรกที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ร้านไซซ์ XS ปกติ 100,000 บาท ลดเหลือ 50,000 บาท ขณะที่ไซซ์ S ปกติ 200,000 บาท ลดเหลือ 100,000 บาท ส่วนร้านไซซ์ M ปกติ 300,000 บาท เหลือ 200,000 บาท และร้านไซซ์ L 400,000 บาท เหลือ 300,000 บาท
โลตัสซุ่มปูพรม “ร้านนี้ขายดี”
นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โมเดล ร้านนี้ขายดี ยังเป็นการทดลองอยู่ สำหรับเป้าหมายหลักของโมเดลนี้คือ ช่วยผู้ที่ต้องการทำธุรกิจค้าปลีกรายย่อยให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างถูกต้องและมีกำไร ด้วยการนำความเชี่ยวชาญด้านการทำร้านค้าปลีกของบริษัทเข้าไปช่วย
ในขณะเดียวกันบริษัทเล็งเห็นว่ายังมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ซื้อไปเพื่อจำหน่ายต่อ โลตัสจึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลาง อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้วางเป้าหมายให้โมเดลนี้เป็นตัวสร้างรายได้ เพราะหากมองอีกด้าน บริษัทไม่ได้ประโยชน์มากนักและเป็นการดึงลูกค้าปลายน้ำจากสาขาของเราไปด้วย
“ส่วนปรากฏการณ์ที่ผู้ค้าปลีกหลายรายต่างมีโมเดลธุรกิจแบบเดียวกันนี้ เชื่อว่าเป็นเทรนด์ทางธุรกิจที่ทำตาม ๆ กัน” ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ระบุ
แหล่งข่าวจากโลตัสเปิดเผยในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันสามารถขยายเครือข่าย ร้านขายดี ได้มากกว่า 1,000 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด อาทิ อ.จันดี และ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช, อ.บ้านบึง และ อ.บางละมุง (พัทยาใต้) จ.ชลบุรี, อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา, อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี, จ.นครราชสีมา จ.พิษณุโลก, อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี, เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ, จ. พะเยา, อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี, อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี, จ.กาญจนบุรี, จ.นครปฐม และ จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น
แม็คโครส่ง “บัดดี้มาร์ท” ร่วมวง
ผู้สื่อข่าวรายงาน ล่าสุด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ที่ได้กระโดดลงมาเล่นในตลาดนี้ด้วย โดยได้เปิดร้านค้าปลีกในชื่อ “บัดดี้มาร์ท” (Buddy mart) ที่เป็นการเปิดให้ร้านโชห่วย มินิมาร์ท ที่มีร้านอยู่แล้ว รวมถึงผู้สนใจและต้องการจะเปิดร้านค้าเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์หรือคู่ค้า
หลังจากมีการนำโมเดลนี้ไปเปิดโชว์ในงาน ตลาดนัดโชห่วย ที่อิมแพ็ค เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว สยามแม็คโครได้เริ่มทยอยเดินสายจัดงานสัมมนา เพื่อให้ความรู้และโรดโชว์ ร้านค้าปลีกโมเดลใหม่นี้หลาย ๆ จังหวัด ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ จ.นครราชสีมา
เบื้องต้นร้านค้าที่จะเปิดร้านค้าโมเดลนี้ มีค่าใช้จ่ายเป็นเงินลงทุนตกแต่งร้านเริ่มต้น 100,000-200,000 บาท เงินค้ำประกัน 200,000 บาท สัญญา 3 ปี โดยร้านบัดดี้มาร์ท มี 3 ขนาด คือ น้อยกว่า 50 ตร.ม. สินค้าประมาณ 1,600 รายการ, 51-100 ตร.ม. สินค้า 2,200 รายการ และมากกว่า 100 ตร.ม. มีสินค้า 3,000 รายการ
ปัจจุบัน สยามแม็คโคร ได้เริ่มทยอยเปิดร้านคู่ค้า บัดดี้มาร์ท ไปแล้วจำนวนหนึ่ง อาทิ นวมินทร์ 139 นวลจันทร์ บึงกุ่ม กรุงเทพฯ, อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, ซอยรางโพ บางบอน กรุงเทพฯ, วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม, ตลาดเอที คลอง 8 ธัญบุรี ปทุมธานี, อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี, อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา, อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นต้น
โฆษณา