21 ส.ค. 2022 เวลา 09:28 • การศึกษา
ทฤษฎีการตกเป็นเหยื่อ ๑ Theories of Victimization
ทฤษฎีมีที่มาในหัวข้อนี้ เกิดขึ้นจากการที่ช่วงนี้เราชอบฟังพอสแคสต์ เกี่ยวกับเรื่องลึกลับ คดีฆาตกรรม การไขคดีความต่างๆ ทำให้สังเกตเห็นว่าเหยื่อในคดีต่างๆ มักจะเป็น เด็ก ผู้หญิง หรือผู้สูงอายุ แล้วอะไรกันที่เป็นสาเหตุให้คนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเหล่านี้
เหยื่ออาชญากรรม มีความหมายว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้ซึ่งได้รับอันตราย แก่ร่างกาย จิตใจ ความเสียหายต่อทรัพย์ หรือได้รับผลกระทบใดๆจากการก่ออาชญากรรม เสียสิทธิจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำการใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น การลักทรัพย์ การถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน การถูกหน่วงเหนี่ยวกักขัน เป็นต้น
โดยนักวิชาการอาชญาวิทยา นามว่า สตีเฟน ชาร์เฟอร์ (Stephen Schafer) ได้ทำการจำแนกประเภทของเหยื่ออาชญากรรมไว้ 7 ประเภท ได้แก่
1) เหยื่อที่จูงใจให้เกิดอาชญากรรม (Precipitative Victims) คือเหยื่อที่กระทำการไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่กลับเป็นการส่งเสริมหรือจูงใจให้อาชญากรลงมือก่อเหตุ เช่น การเดินทางในที่เปลี่ยวเพียงคนเดียว การอยู่บ้านเพียงคนเดียว เหยื่อประเภทนี้อาจถูกกระทำความผิดที่เกี่ยวกับ ทรัพย์ ร่างกาย เพศ หรือชีวิตได้
2) เหยื่อที่กระตุ้นให้เกิดอาชญากรรม (Provocative Victims) คือเหยื่อที่กระทำการบางอย่างให้อาชญากรขัดใจ ซึ่งเป็นการที่เหยื่อเป็นผู้ลงมือกระทำก่อน เช่น การผิดสัญญา การดูหมิ่นเหยียดหยาม การนอกใจ
3) ผู้ตกเป็นเหยื่อของตนเอง (Self – Victimizing Victims) คือเหยื่อที่ตกเป็นเหยื่อโดยตนเอง ซึ่งหรือก็คือการกระทำของคนๆเดียวกัน ที่เป็นทั้งอาชญากรและเหยื่อนั่นเอง
4) เหยื่ออาชญากรรมที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากร (Unrelated Victims) คือ เหยื่อเป็นผู้ที่ได้รับเคราะห์หรือได้รับความเสียหายจากอาชญากรเท่านั้น เหยื่อประเภทนี้อาจเป็นทุกคนในสังคม โดยเฉพาะผู้ที่อ่อนแอหรือผู้ที่ไม่สามารถปกป้องป้องกันตนเองได้
5) เหยื่อการเมือง (Political Victims) คือผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากบุคคลที่เป็นคู่แข่ง โดยอาศัยกฎหมายในการกล่าวหา เพื่อตำแหน่งและอำนาจทางการเมือง
6) เหยื่อที่มีความอ่อนแอทางสังคม (Socially Weak Victims) คือเหยื่อที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่ได้รับความเท่าเทียมทางสังคม ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสมาชิกของสังคม เช่น ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยบย้ายถิ่นฐานมา
7) เหยื่อที่มีความอ่อนแอทางชีวภาพ (Biologically Weak Victims) คือเหยื่อที่มีความอ่อนแอทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ เป็นเหตุให้อาชญากรเกิดความคิดที่จะทำร้าย เป็นบุคคลที่ง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน ผู้หญิง หรือบุคคลที่ไร้ความสามารถในการปกป้องตนเอง
นอกจากนี้ นักวิจัยหลายๆท่านยังได้กล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับสาเหตุของการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมได้ 3 ประการหลักๆ คือ หนึ่ง การเป็นเหยื่อที่เหมาะสม เกิดจากพฤติกรรมของเหยื่อเองที่ไม่ระมัดระวังตนเอง มีบุคลิกภาพที่อ่อนแอเปราะบาง ไร้เดียงสา ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง สองคือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ขาดการดูแล ขาดผู้พิทักษ์ ขาดผู้ปกครอง ขาดการดูแลสอดส่องที่เหมาะสม และข้อสามคืออาชญากรมีแรงจูงใจอยู่แล้วหรืออาจถูกบีบบังคับจากสภาพแวดล้อมในกระทำการ เช่นจากสภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม และการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม
ที่มา :
พิสิฐ ระฆังวงษ์.2561.การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร
กชพรรณ มณีภาค, อุนิษา เลิศโตมรสกุล.2562.การตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมจากการกระทำผิดในโลกอินเทอร์เน็ต: กรณีศึกษา การรังแกกันในโลกไซเบอร์ ในรูปแบบการคุกคามทางเพศ ในเขตกรุงเทพมหานคร. Research and Development Journal Suan Sunandha Rajabhat University Vol. 11 No.2
โฆษณา