21 ส.ค. 2022 เวลา 13:36 • ความคิดเห็น
คดีค้ามนุษย์ 2022
คดีธรรมดาที่อาจร้ายแรงกว่าธรรมดา
ผู้หญิงคนหนึ่ง รับราชการเป็นตำรวจชั้นประทวนยศ สิบตำรวจโท ชื่อ ส.ตท.กอไก่ ตกเป็นข่าวดังอ้างว่าเป็นอนุภรรยาของสมาชิวุฒิสภาสมัยปัจจุบัน
รายงานข่าวอ้างว่าสิบตำรวจโทกอไก่ได้ก่อคดีทำร้ายร่างการผู้หญิงอีกคนหนึ่งด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายหลากหลายรูปแบบต่างกรรมต่างวาระแทบจะนับครั้งไม่ถ้วน
วันหนึ่งหญิงผู้ตกเป็นผู้เสียหายไม่สามารถจะทนทานต่อไปได้ จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่จังหวัดราชบุรี
คดีนี้เป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ บรรดาเน็ตติเซ่นพากันขนานนามว่าเป็น...
คดีทาส 2022
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ ส.ต.ท.หญิง ว่า เป็นข้าราชการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ จากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยการข่มขืนใจผู้อื่นให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือผู้อื่น
โดยเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจาก หรือ ส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ
ขู่เข็ญว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น แก่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลบุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิด ในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล
อันเป็นความผิดฐาน ค้ามนุษย์ และทำร้ายร่างกายผู้นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ (ความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พศ.2551 มาตรา 6, มาตรา 6/1, มาตรา 13 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295)
ถ้าอ่านผ่านๆไปตามปกติวิสัย คดีนี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงคดีทำร้ายร่างกายกันซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาในสังคมปัจจุบัน แต่การแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนในคดีนี้ทำให้คดีธรรมดากลายเป็นคดีที่น่าจะไม่ธรรมดาเอามากๆเลยทีเดียว
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 นั้นเป็นความผิดที่มีระวางโทษค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ....
.......มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.....
แต่ข้อหาความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พศ.2551 มาตรา 6, มาตรา 6/1, มาตรา 13 นั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะมีระวางโทษหนักหนาสาหัสมากนะครับ
บทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มาตรา 52 ระบุว่า...ผู้ใดกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบสองปีและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงหนึ่งล้านสองแสนบาท....
ข้อน่าสังเกตก็คือ...มีโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี...และ...มีโทษปรับด้วยอีกต่างหาก
ยังมีของแถมเป็นบทฉกรรจ์บัญญัติไว้ในมาตรา 53/1...ถ้าการกระทําผิดตามมาตรา 52 หรือมาตรา 53 วรรคสอง เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทํา
(๑) รับอันตรายสาหัส หรือเป็นโรคร้ายแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่แปดปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือจําคุกตลอดชีวิต
(๒) ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจําคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต
แน่นอนว่าคดีนี้ผู้เสียหายยังไม่ถึงแก่ความตาย โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดย่อมไม่ถึงขั้นประหารชีวิตอย่างแน่นอน แต่โทษตาม (๑) เนี่ยก็ถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตนะครับ
เมื่อตกเป็นผู้ต้องหา สิบตำรวจโทกอไก่ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนพร้อมกับนำใบรับรองแพทย์ไปแสดงเป็นหลักฐานโดยอ้างว่า ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริงแต่ที่ได้กระทำไปนั้นเป็นเพราะตนเองเป็นผู้ป่วยทางจิตไม่สามารถควบคุมตนเองได้ในบางครั้ง
ความพยายามที่จแก้ข้อกล่าวหาของสิบตำรวจโทกอไก่กลายเป็นประเด็นให้วิเคราะห์วิจารณ์กันรุนแรงยิ่งกว่าเดิม คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าตำรวจหญิงผู้นี้ป่วยจิตตามที่อ้างจริง
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพกับพนักงานสอบสวนและนำใบรับรองแพทย์ไปแสดงเพื่ออ้างว่าเป็นคนป่วยทางจิตนั้น ทำให้พอจะมองเห็นแนวทางการต่อสู้คดีของตำรวจหญิงนายนี้ว่าจะใช้ยุทธวิธีอย่างไรในชั้นศาล
บทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 บัญญัติไว้ว่า...ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
การหยิบยกเอาอาการป่วยทางจิตขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดีอาญาที่มีโทษร้ายแรงนั้น จะมองว่าเป็นความชาญฉลาดในประเด็นทางกฎหมายก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันในอีกมุมมองหนึ่งก็เป็นไปได้เช่นกันว่าเป็นความพยายามแบบ “จนแต้ม” จริงๆไม่มีหนทางอื่นใดจะแก้ตัวได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว
การสืบพยานในศาลเพื่อให้ศาลเชื่อว่าจำเลยเป็นคนป่วยทางจิตจริงๆนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ข้อนี้บรรดาจิตแพทย์ทุกสำนักต่างตระหนักกันเป็นอย่างดี
ประเด็นที่น่าสนใจในคดีนี้ก็คือว่า สมมุติว่าจำเลยสามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าเป็นคนป่วยดรคจิตจริงๆและศาลพิพากษายกฟ้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ดังกล่าวข้างต้น โทษที่จำเลยได้รับอาจเลวร้ายยิ่งกว่าโทษในทางอาญาก็เป็นได้
คนที่ประกาศตนเป็นผู้ป่วยโรคจิตที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้นั้น จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปโดยปกติสุขได้อย่างไร จะคบหาสมาคมกับใครได้ สถานการณ์มันหนักหนาสาหัสกว่าถูกจำคุกด้วยซ้ำไป
มันไม่ต่างอะไรกับการถูกจองจำอยู่ในปลักของตนเองตลอดชีวิตเลยนะครับ
คิดว่าจะดำรงชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไปได้ตลอดรอดฝั่งจริงๆอย่างนั้นหรือ
@@@@@@@@@@@@@
ปรึกษาปัญหากฎหมาย โทร. 0860400091
20 สิงหาคม 2565
โฆษณา