Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
22 ส.ค. 2022 เวลา 02:19 • หนังสือ
สวนทางสร้างสรรค์
Photo by Sharon Pittaway on Unsplash
ผลสำรวจผู้บริหาร 1,500 คนทั่วโลก ส่วนใหญ่บอกว่าอยากได้พนักงานที่มี “ความคิดสร้างสรรค์” จะไปหาที่ไหนกันเล่าครับ พนักงานที่มีความคิดสร้างสรรค์
พอจะกระตุ้นให้มีได้หรือไม่
งานวิจัยแนะนำกลายๆ ว่า พอจะได้ครับ บ้างก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงานนิดหน่อย บ้างก็ผ่านการปรับอุปนิสัย หรือวิธีการทำงานเล็กๆ น้อยๆ
เริ่มจากง่ายที่สุดคือ ให้ใช้ผนังที่ทำงานเป็นสีฟ้าครับ
แม้สีแดงทำให้เราจดจ่อกับรายละเอียดและทำงานด้วยความเที่ยงตรงสูงกว่าสีอื่นก็ตาม แต่ก็กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติทำให้ตื่นตัวมาก จึงทำให้ล้าได้ง่ายและมากเช่นกัน
ตรงกันข้ามสีฟ้าทำให้ระบบอัตโนมัติของร่างกายผ่อนคลาย ทำให้นึกถึงท้องฟ้ากับสายน้ำและการพักผ่อน ซึ่งดีต่อการก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ครับ
Photo by Dragos Gontariu on Unsplash
การพักก็สำคัญครับ การได้พักเป็นช่วงๆ ส่งผลดีต่อความคิดสร้างสรรค์
กลุ่มทดลองซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ได้พักเล็กน้อยก่อนทำงานที่ได้รับมอบหมาย คัดเลือกแนวคิดการแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์ได้ดีที่ราว 55% เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้พักที่เลือกได้ 20%
การทำงานติดต่อกันนานๆ จนล้า จึงเป็นอุปสรรคสำหรับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
เรื่องที่น่าแปลกใจก็คือ การระดมสมอง (brainstorm) ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมที่สุดในฐานะวิธีที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มได้มากที่สุด กลับสอบตกเรื่องความคิดสร้างสรรค์ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ทุกคนที่เคยผ่านการระดมสมองคงจำได้ว่า หัวใจของวิธีการนี้จะไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไอเดียของคนหนึ่งคนใด เพื่อลดความกลัวหรือกังวลที่จะนำเสนอแนวคิดแปลกๆ
เมื่อ ชาร์แลน นีเมธ (Charlan Nemeth) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ทดลองแบ่งนักศึกษาระดับปริญญาตรี 265 คนเป็น 3 กลุ่ม ให้แก้โจทย์ปัญหาเดียวกันคือปัญหาการจราจรติดขัดในแถบอ่าวซานฟรานซิสโกภายใน 20 นาที
โดยแต่ละกลุ่มต้องมีคำตอบทางเลือกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
กลุ่มแรกไม่มีคำแนะนำใดๆ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มระดมสมองแบบมาตรฐานทั่วๆ ไป เน้นการไม่วิพากษ์วิจารณ์ความคิดของคนในกลุ่ม และกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่มีการถกเถียงอภิปราย โดยมีคำแนะนำพ่วงไปด้วยว่างานวิจัยบอกว่า ควรจะต้องหาคำตอบดีๆ ให้มากเข้าไว้
คนในกลุ่มสามารถเสนอได้เต็มที่ แต่ก็ต้องมีการอภิปรายหรือวิพากษ์วิจารณ์ด้วย
ผลที่ได้คือกลุ่มที่ระดมสมองได้ผลดีกว่ากลุ่มแรกที่ไม่กำหนดอะไรเลยนิดหน่อยเท่านั้น
แต่กลุ่มสุดท้ายผลิตแนวคิดที่สร้างสรรค์ได้มากกว่ากลุ่มแรกถึงราว 25%
หลังจบกระบวนการกลุ่ม ก็ถามแต่ละคนว่ามีแนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นเท่าใดในกลุ่ม สมาชิกกลุ่มแรกและกลุ่มสองระบุว่ามี 2 ไอเดียใหม่ แต่กลุ่มสุดท้ายกลับได้เพิ่มมากขึ้นถึง 7 ไอเดียด้วยกัน
ความคิดสร้างสรรค์และตัวเจ้าของความคิดนั้นจึงอึด อีกทั้งทนต่อแรงเสียดทานของความขัดแย้งและการวิพากษ์วิจารณ์ได้ดีกว่าที่เราเคยเชื่อหรือถูกสอนต่อๆ กันมา
Photo by Andreea Avramescu on Unsplash
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนที่มีความสุขมากกว่ามักจะมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าตามไปด้วย
เมื่อทดลองให้กลุ่มหนึ่งดูเดี่ยวไมโครโฟนของ โรบิน วิลเลียมส์ นักแสดงมากฝีมือ ก่อนทำแบบทดสอบ ปรากฏว่าเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ดูอะไร หรืออีกกลุ่มหนึ่งที่ดูวิดีโอเรื่องน่ากลัวๆ
กลุ่มที่ดูอะไรที่ผ่อนคลายสนุกสนานจะทำโจทย์ปัญหาได้มากกว่าถึง 20%
สามข้อสุดท้ายที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้น่าจะสร้างความประหลาดใจได้ไม่แพ้เรื่องของการระดมสมองข้างต้น
เรื่องแรกก็คือคนปกติทั่วไปมักจะชอบทำงานกับคนที่คุ้นเคยกัน ด้วยหวังว่าจะได้ผลงานที่ดีและมีความราบรื่นในการทำงาน
แต่เรื่องนี้สัมพันธ์กับความคิดสร้างสรรค์อย่างไร
ไบรอัน อัซซี่ (Brian Uzzi) ทำวิจัยในกลุ่มคนที่ทำละครเพลงบรอดเวย์ตั้งแต่ปี 1945–1989 รวมถึง 474 ทีมงาน เขาให้คะแนนระดับความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนร่วมแต่ละคน (นักประพันธ์เพลง นักคิดท่าเต้น ผู้กำกับ ฯลฯ) ในแต่ละทีมงาน โดยดูจากประวัติการร่วมมือการทำงานก่อนหน้านั้น
สิ่งที่เขาพบก็คือทีมที่ทำงานออกมาได้ดีที่สุด และมีความคิดสร้างสรรค์สูงสุด เป็นทีมที่ประกอบด้วยทั้งคนที่รู้จักกันอยู่ก่อนเป็นอย่างดี ผสมกับคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เคยร่วมงานกันมาก่อนเลย
หากเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีทั้งกลุ่ม ก็จะคิดไปในทางเดียวกันหมดจนขาดความคิดแปลกใหม่ ในขณะที่หากไม่คุ้นเคยกันในทีมงานก็อาจจะถึงกับล้มเหลวเอาง่ายๆ ได้เช่นกัน
ข้อรองสุดท้าย (ซึ่งไม่มีพื้นที่เหลือให้ลงรายละเอียด) มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นได้ว่าอุปสรรคและกรอบการทำงานที่จำกัดเราไว้ กลับอาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เราเห็นภาพรวมของสิ่งที่ทำอยู่
และเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่าการไร้ซึ่งอุปสรรคหรือกรอบการทำงานใดๆ ทั้งสิ้น
เรื่องสุดท้ายคืองานวิจัยใหม่พบว่า แม้แต่แค่คิดว่าตัวเองเป็นเด็ก ก็ช่วยให้ปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์บางส่วนออกมาได้เช่นกัน
Photo by Senjuti Kundu on Unsplash
ผู้เข้าทดลองเมื่ออ่านคำแนะนำว่า “สมมติให้คุณอายุเจ็ดขวบและโรงเรียนงดวันนี้ คุณมีเวลาว่างทั้งวัน คุณจะทำอะไร คุณจะไปไหน คุณจะไปหาใคร” ให้คำตอบที่สร้างสรรค์มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับผู้เข้าทดลองอีกกลุ่มที่คำถามไม่มีคำว่า “สมมติให้คุณอายุเจ็ดขวบและโรงเรียนงดวันนี้”
ดังนั้น เพียงแค่คิดว่าคุณเป็นเด็กอีกครั้งและมีอิสระ ก็อาจคิดสร้างสรรค์มากขึ้นแล้ว และนี่ก็คืออีกหนึ่งเคล็ดลับง่ายๆ วิธีการทำให้ตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ... ที่ชวนให้ประหลาดใจ
สรุปเป็นเคล็ดวิชาสั้นๆ ว่า “เลือกสีน้ำเงิน ไม่เมินคำวิจารณ์ รู้พัก รักหรรษา ให้คุณค่าข้อจำกัด และถนัดทำอย่างเด็ก” ครับ
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
วิทยาศาสตร์
ความคิดสร้างสรรค์
การทดลอง
บันทึก
3
3
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย