Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
24 ส.ค. 2022 เวลา 00:32 • หนังสือ
เป็นพ่อคน ก็ดียังงี้
Photo by Mohamed Awwam on Unsplash
คนจำนวนมากมองเรื่องการเลี้ยงดูลูกว่าเป็นงานของคุณแม่
อันที่จริงแล้วนักวิทยาศาสตร์พบว่า หากดูจากข้อเท็จจริงทางสรีรวิทยาแล้ว คุณพ่อเองก็ควรจะทำหน้าที่นี้ตามธรรมชาติเช่นกัน
แถมยังมีผลดีเป็นรางวัลแก่ร่างกายด้วยอีกหลายอย่าง
เอ๊ะ ยังไง มาดูกัน
ลี เกตเทลอร์ (Lee Gettler) แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นในเมืองชิคาโก ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร PNAS ฉบับวันที่ 12 ก.ย. 2011 ระบุว่างานวิจัยที่ทำอย่างยาวนานกว่าสองทศวรรษชี้ว่า
เมื่อเด็กน้อยลืมตาดูโลก ร่างกายของฝ่ายชายจะปรับสู่โหมดคุณพ่อใจดีโดยอัตโนมัติ คือมีระดับฮอร์โมนเพศชายชนิดคือ เทสทอสเทอโรน (testosterone) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
การศึกษานี้ใช้วิธีติดตามชายรวม 465 คนที่เข้าร่วมการสำรวจชื่อ The Cebu Longitudinal Health and Nutritional Survey ที่เริ่มขึ้นในปี 1983
ตอนนั้นผู้เข้าร่วมโครงการเหล่านี้ยังเป็นเด็กชายน้อยๆ อายุเพียงแค่เพียง 1 ขวบเท่านั้น พอถึงปี 2005 คนกลุ่มนี้ที่อายุ 21 ปีครึ่งและยังเป็นโสด นักวิจัยก็จัดการเช็คระดับฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนเสียหนหนึ่ง
โดยเช็คตอนช่วงเวลาที่เพิ่งตื่นนอนเทียบกับตอนจะเข้านอน
จากนั้นก็ทดสอบซ้ำอีกครั้งในตอนที่หนุ่มๆ เหล่านี้อายุ 26 ปีในปี 2009 แต่รอบนี้ราว ครึ่งหนึ่งได้กลายเป็นคุณพ่อมือใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว
ผลที่ได้คือพวกที่ยังโสดจะมีระดับฮอร์โมนดังกล่าว ลดลงนิดหน่อยสัมพันธ์กับอายุคือลดลงราว 12–15 %
ในขณะที่บรรดาคุณพ่อมือใหม่ที่มีลูกน้อยอายุมากกว่า 1 เดือนไปจนถึง 1 ปี จะมีฮอร์โมนนี้ลดลงไปมากถึง 30%
แต่คุณพ่อที่ลูกอายุไม่เกิน 1 เดือนจะมีระดับฮอร์โมนตกลงไป 4–5 เท่า เมื่อเทียบกับระดับของพวกคนโสด และเหลือเพียงครึ่งเดียวของพวกคุณพ่อลูกโตขึ้นมาหน่อย
นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของร่างกายแบบนี้ จะช่วยลดความต้องการทางเพศของตัวคุณพ่อมือใหม่ได้มาก ทำให้ไม่ให้ออกไปหาเศษหาเลยนอกบ้าน
แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างระดับความต้องการทางเพศกับระดับฮอร์โมนนี้ จะยังสรุปไม่ได้ชัดเจนมากนักก็ตาม
แต่นักวิทยาศาสตร์รู้กันดีมานานแล้วว่า ฮอร์โมนนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพศชาย “ห้าว” และออกอาการ “ขาลุย” อย่างเห็นได้ชัด
Photo by Morgan Alley on Unsplash
แน่นอนว่าหากเป็นพ่อคนแล้วยังจะไปลุยปะฉะดะอยู่ข้างนอก ก็คงเป็นเรื่องไม่เหมาะสักเท่าไหร่ เพราะอาจทำให้ลูกเป็นกำพร้าได้ตั้งแต่ยังเล็กๆ
ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนนี้มีบทบาทสำคัญในเรื่องเพศสำหรับผู้ชายมาก มันสร้างมาจากเซลล์ในอัณฑะ (testis) ดังที่เห็นร่องรอยได้จากชื่อของฮอร์โมนเอง
ลักษณะกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ แบบผู้ชายก็เป็นผลจากฮอร์โมนนี้เช่นกัน ฮอร์โมนนี้ยังเกี่ยวข้องกับการที่ผู้ชายที่เป็นโรคกระดูกพรุนน้อยกว่าผู้หญิงอีกด้วย
แต่ฮอร์โมนนี้จะสร้างจากต่อมหมวกไต (adrenal gland) ได้เล็กน้อยเช่นกัน จึงพบฮอร์โมนนี้ได้ในผู้หญิงด้วย แต่ในผู้ใหญ่ทั่วไปนั้นผู้ชายจะมีเทสโทสเทอโรนสูงกว่าผู้หญิงถึงราว 7–8 เท่า
นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ชัดเจนในงานวิจัยก่อนหน้านี้ว่า ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่สูงเกี่ยวข้องกับการแข่งขันหาคู่ด้วย และในชายที่ตกหลุมรักแล้วระดับฮอร์โมนนี้จะเริ่มตกลง
ตรงกันข้ามกับที่ผู้หญิงที่ตกหลุมรัก ฮอร์โมนนี้กลับเพิ่มสูงขึ้น!
แต่ครั้นได้อยู่เป็นคู่กันและผ่านช่วงฮันนีมูน (ราวๆ 1–3 ปี) ไปแล้ว ระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแบบนี้จะเลือนหายไป หรือไม่ก็ลดลงจนไม่ชัดเจนเท่าเดิมอีกต่อไป
ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งของงานวิจัยนี้ก็คือ ในกลุ่มคุณพ่อที่ช่วยดูแลลูก ระดับของฮอร์โมนนี้จะลดต่ำลงมากที่สุดอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ
Photo by Juliane Liebermann on Unsplash
นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าเป็นไปได้ว่า เมื่อตัวคุณพ่อเองตัดสินใจเลือกที่จะช่วยคุณแม่ดูแลลูก ก็จะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศชายนี้ลดลงได้ด้วย
ราวกับร่างกายจะรับรู้ว่า เรื่องการดูแลลูกกลายมาเป็นภารกิจสำคัญเฉพาะหน้าไปเสียแล้ว
งานวิจัยชิ้นอื่นยังชี้อีกด้วยว่าการลดระดับของฮอร์โมนชนิดนี้ไม่เกี่ยวกับเพศของคู่ด้วย คือคุณพ่อที่มีคู่ทั้งแบบต่างเพศกันและเพศเดียวกันก็จะมีฮอร์โมนนี้ลดลงเหมือนๆ กัน
แต่สิ่งที่เป็นผลตามจากเรื่องการลดลงของฮอร์โมนเพศชายนี้ น่าจะทำให้ทุกคนมีความสุขได้มากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อนำไปรวมกับผลการวิจัยอื่นๆ ข้างเคียงก่อนหน้านี้
เช่น มีการวิจัยพบว่าการมีคู่และการเป็นพ่อคนสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดีและอายุที่ยืนยาวมากขึ้นของคุณพ่อด้วย
แต่ก็ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ว่าเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศชายตัวนี้โดยตรงหรือทางอ้อมอย่างไร
มีสมมติฐานจากนักวิจัยบางคนว่า ฮอรโมนเพศชายนี้ไปลดระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายได้
ดังนั้นการลดผลกระทบจากฮอร์โมนผ่านการลดระดับฮอร์โมน เพราะกลายเป็นคุณพ่อคนใหม่ดังกล่าว จึงส่งผลดีต่อตัวคุณพ่อในทางอ้อมด้วย คือช่วยให้สู้กับโรคติดเชื้อต่างๆ ได้ดีขึ้นไปด้วย
หากเรื่องนี้จริงก็น่าจะสนับสนุนให้คุณพ่อช่วยเลี้ยงคุณลูกให้มากๆ เพราะนอกจากช่วยแก้ปัญหาครอบครัวทางตรง คือไม่ออกไปวุ่นวายนอกบ้านแล้ว
การช่วยกันดูแลลูกก็ยิ่งทำให้ครอบครัวอบอุ่นมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยเสริมสุขภาพคุณพ่อได้อีกด้วย เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวจริงๆ
อ้อ มีงานวิจัยที่พบว่าผู้ชายที่มีเทสโทสเทอโรนมากๆ มีแนวโน้มการหย่าร้างสูงไป
ด้วย
นักวิจัยวางแผนว่าจะทำการวิจัยเพิ่มอีกครั้ง ในตอนที่คุณผู้ชายเหล่านี้อายุ 30 ปี ซึ่งก็คงได้ผลการทดลองที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังอีกในอนาคต
น่าสนใจดีเหมือนกันนะครับสำหรับข้อมูลข้างต้น อันที่จริงแล้วผู้หญิงควรเลือกผู้ชายที่ไม่ผู้ช้ายผู้ชายจนเกินไป แต่เป็นแฟมิลีแมนมากหน่อย หากดูกันที่ระดับฮอร์โมนแห่งความเป็นชายแบบนี้!
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
การทดลอง
จิตวิทยา
การเลี้ยงลูก
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย