22 ส.ค. 2022 เวลา 12:06 • ประวัติศาสตร์
พลังของ “ดนตรี” ในมุมมองของ “เพลโต (Plato)” และ “อริสโตเติล (Aristotle)”
นักปรัชญาสมัยกรีกโบราณต่างเห็นตรงกันว่า “ดนตรี” คือสิ่งที่มีพลังและส่งผลต่อมนุษย์
ดนตรีสามารถทำให้เรากลายเป็นคนที่ดีขึ้น สามารถทำให้ผ่อนคลาย และหายจากความเหน็ดเหนื่อย
1
หนังสือเรื่อง “Musical Thought in Ancient Greece” ของ “เอ็ดเวิร์ด ลิปป์แมน (Edward Lippman)” ซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) ได้บอกเล่าถึงมุมมองของชาวกรีกโบราณต่อดนตรีไว้ดังนี้
1.ดนตรีสามารถเปลี่ยนอารมณ์ของผู้คน และทำให้บุคลิกของบุคคลนั้นคงที่ เข้ารูปเข้ารอย
2.โครงสร้างของทุกสิ่งในจักรวาล หากมองไปถึงระดับที่ลึกที่สุด จะมีดนตรีเป็นพื้นฐาน
ในงานเขียนของ “เพลโต (Plato)” นักปรัชญาชาวกรีกโบราณ ได้กล่าวถึงการที่ผู้เป็นแม่ปลอบลูกน้อยที่กำลังร้องด้วยการร้องเพลง แสดงให้เห็นถึงการที่เสียงดนตรีสามารถเปลี่ยนอารมณ์ของผู้คน เปลี่ยนจากอารมณ์ในแง่ลบกลายเป็นบวก
เพลโตกล่าวถึงการที่ดนตรีสามารถทำให้ผู้คนรู้สึกหรือ “อิน” ไปกับอารมณ์เพลง
และในมุมมองของเพลโต ดนตรีประเภทเดียวที่ควรฟังคือดนตรีที่เรียบง่าย และให้อารมณ์ความรู้สึกในแง่บวก
เพลโต (Plato)
เพลโตกล่าวว่าเราไม่ควรจะตัดสินคุณภาพของดนตรีโดยดูจากว่าดนตรีนั้นสร้างความเพลิดเพลินได้มากแค่ไหน เนื่องจากความเพลิดเพลิน พอใจในดนตรีนั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน
ในมุมมองของเพลโต ดนตรีคือตัวแทนของตัวตนและอารมณ์ของมนุษย์
เพลโตคิดว่า ดนตรีที่แสดงถึงบุคลิกหรืออารมณ์ที่ดี เช่น ความกล้าหาญ คือดนตรีที่ดีกว่าดนตรีที่แสดงอารมณ์ในแง่ลบ เช่น ความเศร้า เนื่องจากตัวตนของบุคคลนั้นจะเปลี่ยนไปตามแนวดนตรีที่บุคคลนั้นชอบฟัง
1
จากงานเขียนเรื่อง “Timaeus” ของเพลโต เพลโตได้กล่าวถึงการที่ดนตรีสามารถนำความกลมเกลียวมาสู่จิตวิญญาณ โดยมีหลักคิดมาว่า ในส่วนที่ลึกที่สุด สิ่งที่เป็นพื้นฐานก็คือ “เพลง” และ “การเต้นรำ”
นอกจากนั้น เพลโตยังไม่เห็นด้วยกับการร้องเพลงและเล่นเครื่องดนตรีไปด้วย และยังต่อต้านการใช้เครื่องดนตรี โดยคิดว่าดนตรีคือการร้องเพลง
ทางด้าน “อริสโตเติล (Aristotle)” นักปรัชญาชาวกรีกอีกคนหนึ่ง ไม่ได้คิดเหมือนเพลโตซะทีเดียว โดยถึงแม้เขาจะไม่ได้ชื่นชอบการใช้เครื่องดนตรี แต่ก็ไม่ได้คิดว่าต้องถึงขนาดไม่ให้ใช้เลยเหมือนเพลโต
อริสโตเติล (Aristotle)
อริสโตเติลจะมีมุมมองต่อศิลปะและดนตรีแตกต่างจากเพลโตอยู่บ้าง โดยในงานเขียนของอริสโตเติล เขาได้กล่าวว่าศิลปะสามารถแสดงความน่าเกลียด น่ากลัว และสิ่งที่ไม่น่าดู แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงน่ามองและน่าฟัง
1
นั่นเป็นเพราะว่าศิลปะสามารถสอนเราเกี่ยวกับความเลวร้ายได้โดยไม่จำเป็นต้องแสดงออกมาตรงๆ ความพึงพอใจของผู้คนก็มาจากฝีมือของศิลปินผู้รังสรรค์
อริสโตเติลมีความผ่อนปรนทางด้านดนตรีมากกว่าเพลโต โดยเพลโตคิดว่าควรจะฟังเฉพาะดนตรีที่เรียบง่าย เป็นระเบียบ และให้อารมณ์แง่บวกเท่านั้น ในขณะที่อริสโตเติลเห็นว่าเราสามารถฟังดนตรีเศร้าก็ได้ โดยอริสโตเติลเชื่อว่าหากคนกำลังเศร้า การฟังเพลงที่เศร้า ก็อาจจะช่วยให้ผ่อนคลาย
แต่ที่เหมือนกันก็คือ นักปรัชญาทั้งคู่เห็นตรงกันว่าดนตรีมีผลสำคัญต่อจิตใจ และดนตรีก็เป็นสิ่งที่สำคัญและต้องระมัดระวัง
1
เพลโตนั้นมีข้อห้ามและกฎระเบียบเรื่องดนตรีมากมาย และคิดว่าดนตรีสามารถเปลี่ยนอารมณ์ของมนุษย์ มนุษย์จึงต้องระมัดระวังในการฟังดนตรี และไม่ปล่อยให้อารมณ์จากดนตรีนำพาไปสู่ทางที่ผิด
ส่วนอริสโตเติลนั้นมีความผ่อนปรนมากกว่า และคิดว่าแม้แต่ดนตรีเศร้าที่ให้อารมณ์ในแง่ลบ ก็สามารถฟังได้ โดยหากเรากำลังเศร้า และฟังดนตรีที่เศร้า ก็อาจจะทำให้รู้สึกดีขึ้น
นี่ก็เป็นเรื่องราวของดนตรีในมุมมองของคนโบราณ ผ่านนักปรัชญาชื่อดังทั้งสองท่าน
โฆษณา